ประเทศญี่ปุ่น เป็นสังคมที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในประเทศที่เปิดกว้างในเรื่องเพศมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เห็นได้จากการมีธุรกิจทางเพศอย่างกว้างขวางที่เข้ามาตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ส่งผลให้คนญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ต่อคนรอบข้างลดน้อยลง นอกจากนี้คนญี่ปุ่นรุ่นใหม่ยังให้ความสำคัญลดลงในเรื่องเพศสัมพันธ์ การแต่งงาน หรือแม้แต่การมีครอบครัว สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้ญี่ปุ่นมีอัตราการเกิดที่ลดลง ในทางตรงกันข้ามญี่ปุ่นกลับมีอัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากเป็นสังคมที่มีผู้สูงวัยมากที่สุดในโลก และมีการฆ่าตัวตายที่สูงติดอันดับที่ 14 ของโลกอีกด้วย Emile Durkheim - นักสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศส ได้กล่าวถึงทฤษฏีการฆ่าตัวตายว่าเป็นผลมาจากการที่สังคมมีระเบียบมากเกินไป คือการทำงานที่มีการแข่งขันสูง ทำให้เกิดความเครียดและความกดดัน นอกจากนี้การฆ่าตัวตายยังเกิดจากการยึดตัวเองเป็นหลัก เช่นเดียวกับในสังคมญี่ปุ่นที่มีความเป็นปัจเจกบุคคลมากขึ้น โดยเห็นได้จากการมีความสัมพันธ์กับผู้อื่นที่น้อยลง การแต่งงานที่ลดลง เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นหนึ่งในปัจจัยของการฆ่าตัวตายในญี่ปุ่น สังคมญี่ปุ่นจึงต้องประสบกับปัญหาตั้งแต่การเกิด การแก่ การเจ็บ และการตาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นวัฏจักรธรรมชาติของมนุษย์รัฐบาลญี่ปุ่นจึงมีการแก้ไขจัดการหลายประการด้วยกัน ทั้งการออกนโยบายกระตุ้นให้ประชากรมีลูกเพิ่มมากขึ้นโดยการแจกเงินช่วยเหลือ กฎหมายระบบประกันการดูแลระยะยาว (Long-term Care Insurance: LTCI) ที่เข้ามาดูแลจัดการผู้สูงอายุในด้านต่างๆ เช่น บริการดูแลรักษาสุขภาพ เป็นต้นนอกจากนี้ยังมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับความตายเข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้นในสังคมญี่ปุ่น หรือ เรียกว่า"ธุรกิจงานศพ" ซึ่งธุรกิจนี้ได้อำนวยความสะดวกตั้งแต่การมีสถานที่ให้เช่าเพื่อไว้โลงศพ การจัดดอกไม้ การแต่งหน้าศพ รวมถึงการจัดเตรียมอาหารให้แขกในงาน ธุรกิจงานศพจึงได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีในสังคมที่มีอัตราผู้สูงวัยเพื่มขึ้นและมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงอย่างในสังคมญี่ปุ่นวิธีการจัดการทั้งโดยภาครัฐและภาคเอกชนทั้งหลายนี้ อาจช่วยตอบสนองต่อสังคมญี่ปุ่นได้ไม่น้อย อย่างไรก็ตาม สังคมญี่ปุ่นค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปเช่นเดียวกับพื้นที่อื่นๆ ทั่วโลก ปัญหาต่างๆ และวิธีการจัดการจึงต้องปรับเปลี่ยนไปตามเวลาเช่นเดียวกัน คงต้องติดตามกันต่อไปว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อแดนอาทิตย์อุทัยในอนาคต ขอขอบคุณข้อมูลสถิติประเทศที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุดในโลกประจำปี 2019 โดย ณรงค์กร มโนจันทร์เพ็ญ จาก The standardรูปประกอบที่ 1 ถ่ายโดย Raphael Koh จาก StockSnapรูปประกอบที่ 2 ถ่ายโดย Redd Angelo จาก StockSnapรูปประกอบที่ 3 ถ่ายโดย Redd Angelo จาก StockSnapรูปประกอบที่ 4 ถ่ายโดย Leeroy จาก StockSnap