ฝูงแย้ 300 ตัว ออกจากรูมาหากินก่อนจำศีลยาวอีก 9 เดือน (มีคลิป)
เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ฝูงแย้ไม่ต่ำกว่า 300 ตัว ออกจากรูมาหากิน ทั้งนี้แย้สัตว์ป่าที่เริ่มจะหาดูยากแล้วในปัจจุบัน ซึ่งมาอยู่อาศัยขุดรูอยู่บริเวณพื้นดินรอบบ้านและกอไผ่หน้าบ้านของนายประจวบ เจริญวงศ์ษา อายุ 73 ปี อยู่บ้านเลขที่ 39 หมู่ 9 ต.ทุ่งหลวง อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี ผู้ที่มีจิตใจเมตตาต่อแย้เหล่านี้ ที่ค่อยให้อาหารเลี้ยงดูฝูงแย้ได้กินใช่ช่วงระยะหนึ่งประมาณ 3 เดือน จนเกิดความเชื่อง และได้ขุดรูอยู่มานานจนขยายพันธุ์ออกลูกหลานแล้วนับร้อย ๆ ตัว ทุกเช้าลุงประจวบจะนำมะม่วงสุกโยนให้ฝูงแย้งได้กินเป็นอาหาร บางวันก็จะมีแตงโม และตัวแมลงเม่า ซึ่งฝูงแย้จะชอบมาก ถึงกับค่อย ๆ คลานมากินใกล้ ๆ มือแทบจะลูบหัวแย้เลยก็ว่าได้ ทำให้เพื่อนบ้านหลายคนสนใจในความแปลกของบ้านหลังนี้ ยามว่างก็จะแวะเวียนมาถ่ายรูปแย้ตัวใหญ่และตัวเล็ก ซึ่งมองดูลักษณะที่ลำคอจะมีสีค่อนข้างแดงอมส้ม มีจุดข้าง ๆ ลำตัวแบน จะชอบผงกหัวไปมา เมื่อเจอคนแปลกหน้าก็จะรีบมุดลงรูทันที และจะค่อย ๆโผล่หัวออกมาทีละน้อยเมื่อไม่เจอใครก็จะวิ่งเล่นอยู่ใกล้ ๆ กับรูที่อยู่อาศัยช่วงระยะหนึ่ง พอถึงช่วงกลาง ๆ ปี แย้ก็จะพากันลงไปอยู่ในรูปิดปากรูเงียบ นานหลายเดือนกว่าจะโผล่ขึ้นมาอีกครั้ง ก็จะใช้เวลานานเกือบ 9 เดือน
ลุงประจวบ เจริญวงศ์ษา เจ้าของบ้าน กล่าวว่า ฝูงแย้ที่อาศัยอยู่รอบบ้านจะเริ่มออกจากรูเมื่อช่วงปรายเดือนมีนาคม และทยอยออกมาเยอะมากกว่า 300 ตัว ลักษณะค่อนข้างเปรียวมาก พอเห็นคนเข้ามาเที่ยวบ้านก็จะหลบแอบเข้าไปอยู่ในรูทันที มีทั้งลูกตัวเล็ก ๆ ที่คลอดมาใหม่ และตัวใหญ่ด้วยจะให้กินมะม่วง แตงโม บางวันก็จะมีตัวแมลงเม่า จากเดิมที่เคยเห็น 2 – 3 คู่ ต่อมาได้แพร่ขยายพันธุ์ไปเรื่อย ๆ เกือบ 10 ปีมาแล้ว เพราะเขาอยู่ตามธรรมชาติ ไม่มีใครเข้ามายุ่งเกี่ยวกับชีวิต ที่บ้านจะไม่เลี้ยงหมาเพราะจะไปรบกวนฝูงแย้ โดยฝูงแย้ออกจากรูมาอยู่วิ่งเล่นกินอาหารผลไม้อยู่ประมาณ 3 เดือน หรือไปจนถึงช่วงก่อนเข้าพรรษา จากนั้นก็จะปิดรูอยู่นานเกือบ 10 เดือนจนครบปี พอช่วงเดือนมีนาคม – เมษายนก็จะกลับขึ้นมาใหม่ เป็นวีถีชีวิตอย่างนี้มาตลอด เพราะที่บ้านหลังนี้ได้มีการอนุรักษ์ไว้ไม่ทำร้าย
ลุงประจวบ เจริญวงศ์ษา เจ้าของบ้าน กล่าวอีกว่า หากสนใจอยากจะมาดูฝูงแย้ก็มาดูได้ หรือจะนำผลไม้มาให้แย้ก็ได้ แต่สิ่งที่แย้ชอบมากก็จะเป็นตัวแมลงเม่า เพราะเคยให้กินแย้ชอบมาก แล้วจะค่อย ๆ คลานเข้ามาหาใกล้ ๆ บางตัวยังจับต้องใช้มือลูบหัวแย้ได้เลย