รีเซต

เศรษฐกิจไทยเสี่ยงติดลบ แบงก์ชาติประเมินโควิดสายพันธุ์เดลตาลามหนัก ฉุดจีดีพีหดอีก 0.8-2%

เศรษฐกิจไทยเสี่ยงติดลบ แบงก์ชาติประเมินโควิดสายพันธุ์เดลตาลามหนัก ฉุดจีดีพีหดอีก 0.8-2%
ข่าวสด
22 กรกฎาคม 2564 ( 15:55 )
64
เศรษฐกิจไทยเสี่ยงติดลบ แบงก์ชาติประเมินโควิดสายพันธุ์เดลตาลามหนัก ฉุดจีดีพีหดอีก 0.8-2%

 

เศรษฐกิจไทยเสี่ยงติดลบ - น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะสายพันธุ์เดลตาที่กลายมาเป็นสายพันธุ์หลัก ทำให้การระบาดมีแนวโน้มรุนแรง และยืดเยื้อกว่าคาดการณ์ การระบาดเริ่มขยายตัวเป็นวงกว้างมากขึ้น ขณะที่ประสิทธิผลของวัคซีนหลายๆ ตัวสำหรับป้องกันไวรัสสายพันธุ์เดลตาก็อาจจะลดลง ส่งผลให้การบริหารจัดการทำได้ยากขึ้น

 

 

ขณะที่การประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดล่าสุด ที่แม้จะไม่ใช่การล็อกดาวน์แบบเต็มรูปแบบเหมือนปีที่ผ่านมา แต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มถูกกระทบใกล้เคียงกับการล็อกดาวน์แบบเต็มรูปแบบทั้งประเทศ และมีโอกาสที่จะลงลึกอย่างต่อเนื่อง

 

 

โดย ธปท. มีการประเมินความเสียหายของกิจกรรมทางเศรษฐกิจจากมาตรการล็อกดาวน์หากสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ดี จะส่งผลกระทบกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ 0.8% แต่หากไม่สามารถควบคุมได้ เป็นกรณีต่ำ (โลเวอร์เคส) จะส่งผลกระทบกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจถึง 2%

 

 

“ธปท. มีการประเมินเป็น 2 กรณี คือ 1. มาตรการที่เข้มข้นสามารถควบคุมการแพร่ระบาดให้ลดลงไปได้ 40% ก็จะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ในช่วงกลางเดือนส.ค. นี้ และ 2. หากเป็นโลเวอร์เคส การควบคุมการแพร่ระบาดลดลงไปได้แค่ 20% นั่นอาจส่งผลให้การแพร่ระบาดยืดเยื้อถึงสิ้นปีนี้ และมีความเป็นไปได้ที่อาจจะต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ที่ยาวนานขึ้น แม้ว่ารัฐบาลจะไม่ได้สั่งล็อกดาวน์ แต่ประชาชนก็อาจจะล็อกดาวน์ตัวเอง”

 

 

โดยผลกระทบจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ 0.8-2% นั้น ยังไม่สามารถนำไปหักลบกับคาดการณ์จีดีพีได้ เพราะยังมีปัจจัยอื่นๆ เป็นตัวแปรที่อาจจะเข้ามาพยุงการเติบโตของเศรษฐกิจได้ อาทิ มาตรการทางการเงิน การคลัง มาตรการช่วยเหลือต่างๆ การปรับวิธีการใช้จ่ายเงินของภาครัฐ โดยเฉพาะ พ.ร.ก. กู้เพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท หากใช้ทั้งหมดในปีนี้ หรือรัฐขยับเวลามาใช้ให้เร็วขึ้น รวมถึงมาตรการอื่นๆ ที่มีอยู่ก็อาจจะเพียงพอ

 

 

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสริมในเรื่องการส่งออก แม้ว่าจะมีบางประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดในระลอกใหม่ ๆ แต่ในแง่ความต้องการและเศรษฐกิจส่วนใหญ่ก็ยังเดินหน้าต่อไปได้ จึงยังไม่เห็นภาพผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับภาคการส่งออก

 

 

อย่างไรก็ดี ขณะนี้ยังพูดได้ค่อนข้างลำบากว่าตัวเลขเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปีนี้จะขยายตัวติดลบหรือไม่ จากคาดการณ์ปัจจุบันที่ 1.8% แต่ก็มีความเป็นไปได้ทั้งหมด เพราะเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยง และเสี่ยงมากขึ้นจากการคาดการณ์เมื่อเดือนมิ.ย. จากความยืดเยื้อของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

 

 

ดังนั้นหากผลกระทบของเศรษฐกิจออกมาเป็นโลเวอร์เคส ที่เศรษฐกิจถูกกระทบค่อนข้างเยอะ ก็จะต้องใช้ระยะเวลานานกว่าจะกลับมาเติบโตได้ ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจในครึ่งหลังของปี 2564 จะกลับมาได้เร็วแค่ไหน ยังขึ้นอยู่กับว่าสามารถหยุดยั้งการแพร่ระบาดได้มีประสิทธิภาพเพียงใด ควบคุมได้เมื่อไหร่

 

 

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2565 ปัจจัยเรื่องการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังเป็นประเด็นสำคัญ ซึ่งขึ้นอยู่กับวัคซีนที่ได้มา และการกระจายวัคซีนที่จะเป็นตัวสะท้อนระยะเวลาในการได้รับภูมิคุ้มกันหมู่ของประเทศไทย ซึ่งหากมองจากสถานการณ์ปัจจุบันการได้รับภูมิคุ้มกันหมู่ยังคงอีกไกล และเมื่อรวมปัจจัยเรื่องความร้ายแรงของสายพันธุ์ไวรัส ทำให้สัดส่วนประชากรที่ต้องได้รับวัคซีน ความเร็วในการกระจายวัคซีนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยจากข้อมูล ณ วันที่ 19 ก.ค. 2564 พบว่า มีประชากรได้รับวัคซีนเข็มแรก 15% และเข็ม 2 เพียง 5% เท่านั้น

 

 

นอกจากสถานการณ์และการควบคุมการระบาดในระยะยาวแล้ว ยังมีปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในปีหน้า ได้แก่ นโยบายการเปิดประเทศของต่างชาติ นโยบายการคลังและการกระตุ้นเศรษฐกิจ ฐานะทางการเงินและสภาพคล่องของภาคธุรกิจ ปัญหา Supply Disruption ทั้งการขาดแคลน Chip หรือตู้คอนเทนเนอร์ก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญด้วย

 

 

สำหรับประเด็นที่ต้องจับตาในระยะต่อไป ในระยะสั้น ได้แก่ ความพร้อมด้านสาธารณสุข คือสิ่งสำคัญ ทั้งกำลังการตรวจและการรักษา, ภาคการผลิตอาจได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการระบาดเพียงในระยะสั้น แต่กำลังซื้อที่อ่อนแอลงจะกระทบต่อยอดขายในระยะต่อไป ส่วนประเด็นในระยะยาว ควรเร่งกระจายวัคซีนที่มีประสิทธิภาพให้กับประชาชนอย่างทั่วถึง แทนมาตรการควบคุมที่เข้มงวด ซึ่งอาจจำเป็นในระยะสั้น แต่ไม่ตอบโจทย์ทางเศรษฐกิจ, ต้องจำกัดให้กระทบภาคท่องเที่ยวน้อยที่สุด หากโครงการนำร่องอย่าง แซนด์บ็อกซ์ ถูกกระทบ จะยิ่งส่งผลต่อการฟื้นตัวในระยะยาว

 

 

อย่างไรก็ดี ในส่วนสถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 90.5% ในไตรมาส 1/2564 นั้น เนื่องจากช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ครัวเรือนมีการกู้ยืมเพิ่มขึ้น เพื่อชดเชยรายได้ที่หายไป แต่หากเทียบกับช่วงที่ผ่านมา การก่อหนี้ภาคครัวเรือนไม่ได้สูงขึ้นมาก เพราะครัวเรือนมีฐานะเปราะบาง ความสามารถในการก่อหนี้ถูกจำกัด แต่ก็ไม่อยากให้มองภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นภายใต้วิกฤตแบบนี้ เพราะเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศ ที่หนี้ครัวเรือน หนี้ธุรกิจ และหนี้ภาครัฐมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งหมด โดยอาจจะต้องรอดูภาพหลังเศรษฐกิจกลับมาเป็นปกติมากกว่าว่าภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีมาตรการบริหารจัดการหนี้ที่เพิ่มขึ้นอย่างไร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง