รีเซต

HANAเร่งเครื่องธุรกิจPMS หนุนออเดอร์ล็อตใหญ่เพิ่ม

HANAเร่งเครื่องธุรกิจPMS หนุนออเดอร์ล็อตใหญ่เพิ่ม
ทันหุ้น
27 พฤษภาคม 2565 ( 09:41 )
155
HANAเร่งเครื่องธุรกิจPMS หนุนออเดอร์ล็อตใหญ่เพิ่ม

#HANA #ทันหุ้น – HANA รับผลงานโค้งสอง ถูกกดดันจากการล็อกดาวน์ในจีน และสงครามรัสเซีย-ยูเครน แต่มั่นใจครึ่งหลังของปี 2565 ดีกว่าช่วงครึ่งแรก หนุนจากความต้องการสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ที่แข็งแกร่ง ขณะที่ธุรกิจPMS ออเดอร์จ่อ รอผลิตล็อตใหญ่ตั้งแต่งวดไตรมาส 4/2565 เป็นต้นไป มั่นใจเข้ามาเสริมศักยภาพธุรกิจหลักให้โตกระโดดในอนาคต

 

นายริชาร์ด  เดวิด ฮัน ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) หรือ HANA กล่าวถึงแนวโน้มผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 2/2565 ว่ายังคงได้รับแรงกดดันจากนโยบาย Zero Covid ของจีน ทำให้ยังต้องล็อกดาวน์ (Lock Down) บางมณฑล โดยเฉพาะเซี่ยงไฮ้ แม้โรงงานของบริษัทจะตั้งอยู่ในมณฑลเจียซิง ซึ่งไม่ถูกล็อกดาวน์ แต่ส่งผลต่อห่วงโซ่ระบบโลจิสติกส์ (การขนส่ง) อีกทั้งสถานการณ์ด้านรัฐภูมิศาสตร์ระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลต่อความต้องการ (Demand) ใช้สมาร์ทโฟนใน 2 ประเทศดังกล่าวอย่างมีนัยสำคัญ เบื้องต้นคาดการณ์ว่ากำลังการผลิตอุปกรณ์สำหรับสมาร์ทโฟนในจีนของบริษัทในงวดไตรมาส 2/2565 จะปรับลดลงประมาณ 25% และจะเร่งตัวขึ้นสู่ระดับปกติในงวดไตรมาส 3/2565 เป็นต้นไป

 

“การหดตัวลงของตลาดสมาร์ทโฟนโลกเป็นเพียงสภาวะระยะสั้น บริษัทจะยังได้ประโยชน์จากแนวโน้มระยะยาวที่ผู้บริโภคจะต้องการเปลี่ยนมาใช้สมาร์ทโฟนที่สามารถรองรับเทคโนโลยี 5G ได้ ซึ่งกำลังการผลิตส่วนใหญ่อยู่ในจีน”

ทั้งนี้บริษัทยังมีธุรกิจการประกอบแผงวงจรพิมพ์ (PCBA) ซึ่งเป็นชิ้นส่วนสำคัญของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงผลิตผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น ชิปบนบอร์ด (COB), แผงวงจรรวม (IC), ไฟ LED, และผลิตภัณฑ์ใยแก้วนำแสง ซึ่งยังคงมีคำสั่งซื้อที่แข็งแกร่ง ควบคู่กับการดำเนินงานตามแผนการลดต้นทุนการดำเนินงานลงอย่างต่อเนื่อง

 

เดินหน้าลงทุนPMS

 

สำหรับความคืบหน้าธุรกิจ Power Master Semiconductor (PMS) ในเกาหลีใต้ถือว่ามีความคืบหน้าเร็วกว่าแผนการดำเนินงาน โดยปัจจุบันบริษัทติดตั้งเครื่องจักรสำหรับการผลิตชิ้นส่วน (Mass Production) ประเภท SiC (Silicon Carbide) เรียบร้อยแล้ว รวมถึงเริ่มเดินเครื่องทดสอบไลน์การผลิต ตลอดจนได้ทดสอบอุปกรณ์และผลิต SiC MOSFET ผ่านมาตรฐานแล้ว โดยได้รับความสนใจจากลูกค้าเป็นอย่างมาก ซึ่งบริษัทจะทยอยผลิต และส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้าได้ตั้งแต่งวดไตรมาส 3/2565

 

ทั้งนี้บริษัทยังคงตั้งงบประมาณการลงทุนสำหรับธุรกิจดังกล่าวในปี 2565 อีกประมาณ 3.5 - 3.8 พันล้านบาท และคาดว่าจะเริ่มผลิตในปริมาณมาก (Mass Production) ได้ตั้งแต่งวดไตรมาส 4/2565 เป็นต้นไป อีกทั้งธุรกิจ PMSจะเข้ามาเสริมศักยภาพ (Synergy) ให้กับธุรกิจหลักของบริษัทในปัจจุบัน และสอดคล้องกับช่วงเปลี่ยนผ่านในธุรกิจยานยนต์จากเครื่องยนต์ระบบพลังงานสันดาปสู่ความต้องการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV Car) ในอนาคต โดยคาดว่าจะสร้างส่วนแบ่งกำไรได้อย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป

 

เบื้องต้นบริษัทประเมินว่าภายในเครื่องยนต์ของยานยนต์ไฟฟ้า 1 คัน ต้องใช้ชิ้นส่วน “SiC Diodes” และ “SiC MOSFETS” อย่างละ 84 ชิ้น โดยธุรกิจ PMS ของบริษัทอยู่ในจุดที่ได้เปรียบทางการค้าเพราะเป็นบริษัทรับผลิต SiC Foundry แห่งแรกในเกาหลีใต้ ดังนั้นบริษัทจึงอยู่ระหว่างจัดทำแผนการตลาดรุกเข้าสู่จีน ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาด EV Car มากถึง 50% ของโลก และอยู่ระหว่างหาแหล่งผลิต

 

“ปัญหาการขาดแคลนชิป ภาวะเงินเฟ้อ และราคาที่ยังสูงเป็นเพียงปัจจัยกดดันระยะสั้น แต่ความต้องการยานยนต์ไฟฟ้าในระยะยาวยังแข็งแกร่ง บริษัทคาดว่าธุรกิจ PMS ช่วยผลักดัน Gross Margin ของบริษัทให้สูงขึ้น เนื่องจาก Gross Margin ของธุรกิจ SiC อยู่ที่ราว 20-30% เทียบกับ Gross Margin ระดับปกติของบริษัทที่ราว 10-15%”

 

อยากลงทุนสำเร็จ เป็นเพื่อนกับเรา พร้อมรับข่าวสารได้ทุกช่องทางที่
APP ทันหุ้น ANDROID คลิ๊ก https://qrgo.page.link/US6SA
APP ทันหุ้น IOS คลิ๊ก https://qrgo.page.link/QJKT7
LINE@ คลิ๊ก https://lin.ee/uFms4n5
FACEBOOK คลิ๊ก https://www.facebook.com/Thunhoonofficial/
YOUTUBE คลิ๊ก https://www.youtube.com/channel/UCYizTVGMealUUalT6VdUdNA
TELEGRAM คลิ๊ก https://t.me/thunhoon_news
Twitter คลิ๊ก https://twitter.com/thunhoon1

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง