รีเซต

'เอนี่วิล' จักรยานสาธารณะ ทางเลือกการสัญจรที่เชียงใหม่

'เอนี่วิล' จักรยานสาธารณะ ทางเลือกการสัญจรที่เชียงใหม่
มติชน
15 ตุลาคม 2563 ( 12:08 )
84

เอนี่วิล (Anywheel) ผู้ให้บริการจักรยานขนส่งสาธารณะระยะสั้นที่ใหญ่ที่สุดในสิงคโปร์ ปัจจุบันได้เข้ามาเป็นทางเลือกให้ชาวเชียงใหม่ โดยให้บริการผ่านแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือจากโครงข่าย IoT ซิม ของดีแทค เพื่อสนับสนุนการเดินทางในพื้นที่เขตเมืองเชียงใหม่ ที่พยายามผลักดันให้มีการใช้จักรยานเพื่อลดมลภาวะ เป็นระบบขนส่งสาธารณะที่สามารถตอบสนองแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเชียงใหม่สมาร์ทซิตี้เมืองอัจฉริยะในปี 2562 สอดรับกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และสนับสนุนการเดินทางในพื้นที่เขตเมืองของประชาชนและการเดินทางในช่วงโควิด-19 ที่ต้องรักษาระยะห่างทางสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

บริษัท เอนี่วิล ก่อตั้งโดยคุณเต อ่อง ซีอีโอ ปัจจุบันเปิดให้บริการมาแล้วกว่า 3 ปี โดยให้บริการใน 3 ประเทศ คือสิงคโปร์ มาเลเชีย และไทย ทางบริษัทต้องการเพิ่มทางเลือกด้านการขนส่งสาธารณะที่สนุก เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเข้าถึงง่ายให้กับคนในพื้นที่ ผ่าน “นวัตกรรม” จักรยานที่ออกแบบโดยคำนึงถึงผู้ใช้ และแอพพลิเคชั่นที่ใช้งานง่าย บริษัท เอนี่วิล ให้การสนับสนุนชุมชนใกล้เคียง โดยเปิดให้พื้นที่ที่ต้องการเข้าร่วมเป็นจุดจอดจักรยาน สามารถทำได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายในการติดตั้ง โดยบริษัทจะเป็นผู้ดำเนินการจัดหาจักรยานที่มีความทนทานและปลอดภัยมาให้บริการ

 

นายซีท เรีย เจีย ผู้จัดการทั่วไป เอนี่วิล สิงคโปร์ กล่าวว่า “เอนี่วิลเริ่มต้นเส้นทางธุรกิจในประเทศไทยและความตั้งใจในการช่วยสร้างเมืองเชียงใหม่ให้เป็นสมาร์ทซิตี้อย่างแท้จริง โดยได้ตัดสินใจเลือกเชียงใหม่เป็นจุดหมายปลายทางแห่งแรกของไทย เพราะเล็งเห็นว่าเป็นจังหวัดที่มีขนาดไม่ใหญ่มาก อีกทั้งผู้คนส่วนใหญ่คุ้นเคยกับบริการ bike sharing อยู่ก่อนแล้ว ทั้งนี้ ในช่วงแรก บริษัทได้นำร่องให้บริการในพื้นที่ตัวเมือง โดยปัจจุบันมีจุดจอดจักรยานมากกว่า 150 จุด รอบตัวเมืองเชียงใหม่ และสามารถรองรับผู้ใช้งานได้มากกว่า 6,000 คนต่อวัน นอกจากนี้ ทางเอนี่วิลยังมุ่งเน้นให้บริการในพื้นที่ สถาบันการศึกษา เช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยได้ติดตั้งจุดจอดจักรยานมากกว่า 150 จุด”

 

“ผมหวังว่าในยุคหลังโควิด ชาวเชียงใหม่ รวมทั้งกลุ่มนักท่องเที่ยวที่จะกลับมาในอนาคต จะยังสนุกกับการขี่จักรยาน และเพลิดเพลินกับบรรยากาศในช่วงเดือนที่เชียงใหม่อากาศดี เราทราบดีว่าเชียงใหม่นั้นประสบกับปัญหาเรื่องฝุ่น PM 2.5 ในช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคมของทุกปี และเราก็หวังว่าจะสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการบรรเทาปัญหาดังกล่าว”

 

ในการใช้งานจักรยานของเอนี่วิล ผู้ใช้งานเพียงค้นหาจุดจอดจักรยานที่ใกล้ที่สุดจากแผนที่ในแอพพลิเคชั่น และสแกน QR โค้ด เพื่อปลดล็อกจักรยาน บริการของเอนี่วิล เริ่มต้นที่ 10 บาท ผู้ใช้งานยังสามารถเหมาจ่ายรายเดือนในราคาเริ่มต้นที่ 200 บาทอีกด้วย นับเป็นทางเลือกการเดินทางที่ย่อมเยาและสะดวกสำหรับตัวเมืองเชียงใหม่ ซึ่งสถานที่สำคัญต่างๆ นั้นอยู่ห่างกันไม่มาก

 

ในอนาคต บริษัทจะเดินหน้าพัฒนาแอพพลิเคชั่นให้ตอบโจทย์กับชีวิตในเมืองยิ่งขึ้น และมีแผนจะต่อยอดไปสู่การให้บริการสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันมีให้บริการแล้วในสิงคโปร์และมาเลเชีย เพื่อรองรับการเดินทางในระยะที่ไกลขึ้นสำหรับคนไทย

 

นายธนัท มนัญญภัทร์ ผู้อำนวยการ สายงานการขายและบริหารช่องทางจำหน่าย ลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า “การใช้ IoT จะทวีบทบาทมากขึ้น รองรับแชร์ริ่งอีโคโนมี โดยใช้ IoT ติดที่อุปกรณ์ ตั้งแต่รถจักรยาน สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า ยานพาหนะอื่นๆ ที่จะสามารถนำเสนอบริการ “ให้เช่าใช้” ได้ เพื่อสร้างรายได้ใหม่และยืดอายุการใช้งานให้คุ้มค่าสูงสุด สอดรับกระแสเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) ดีแทคมีส่วนของการให้คำปรึกษาที่จะช่วยดูความเป็นไปได้การลงทุนโครงการ IoT ที่เหมาะสมผ่านพันธมิตรที่เชี่ยวชาญด้านส่วนอุปกรณ์การเชื่อมต่อที่หลากหลาย ครอบคลุมการใช้งานทุกภาคอุตสาหกรรม พร้อมผสมผสานเทคโนโลยีของดีแทค Managed IoT cloud platform และการเชื่อมต่อ IoT SIM บนเครือข่าย 4จี ดีแทคมีแพลตฟอร์มการบริหารอุปกรณ์ IoT ที่มีความปลอดภัยสูง โดยใช้โปรโตคอล MQTTS ที่ใช้แบนด์วิธน้อย และมีการเข้ารหัสข้อมูลด้วย TLS 1.2 จากอุปกรณ์ IoT มายังแพลทฟอร์มของดีแทค”

 

ดีแทคธุรกิจช่วยให้คำแนะนำเอนี่วีล เกี่ยวกับโซลูชั่นโทรคมนาคมในประเทศ รวมทั้งการออกแบบแพคเกจที่ตอบกับความต้องการในราคาที่เหมาะสม โดยทีมดีแทคช่วยดูแลนับตั้งแต่ขั้นตอนการพัฒนาต้นแบบ การทดลองระบบ ไปจนกระทั่งการส่งมอบ IoT SIM ชุดแรก จำนวน 1,000 ชิ้น เพื่อนำไปติดตั้งที่ฐานการผลิต และช่วยเป็นที่ปรึกษาที่ดี สำหรับเอนี่วิล การใช้ IoT SIM ของดีแทคธุรกิจช่วยให้การบริหารจัดการเครือข่ายยานพาหนะเป็นไปอย่างแม่นยำ โดยทีมงานของเอนี่วิลสามารถตรวจสอบตำแหน่งของจักรยานแบบเรียลไทม์ เก็บสถิติการใช้งานตามพื้นที่และช่วงเวลา ไปจนถึงการคำนวณกิโลเมตรที่ปั่น อันจะเอื้อต่อการพัฒนาเครือข่ายการขนส่งสาธารณะแบบไร้รอยต่อ และนำพาเมืองเชียงใหม่ไปสู่การเป็นสมาร์ทซิตี้อย่างแท้จริงในที่สุด”

 

ดีแทคคาดการณ์ว่าโควิด-19 จะเร่งการลงทุน IoT ในองค์กรที่ยังมีสถานะการเงินที่พร้อม การใช้งานโครงการ IoT จะช่วยตอบโจทย์การรักษาระยะห่างทางสังคม และการทำงานจากภายนอกสำนักงานได้เป็นอย่างดี สอดรับกับกระแสวิถีปกติใหม่หรือนิวนอร์มอลนั่นเอง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง