รีเซต

สรุป ความคืบหน้าวัคซีนโควิด-19 ของ 10 ประเทศในอาเซียน

สรุป ความคืบหน้าวัคซีนโควิด-19 ของ 10 ประเทศในอาเซียน
ข่าวสด
23 ธันวาคม 2563 ( 18:51 )
128
สรุป ความคืบหน้าวัคซีนโควิด-19 ของ 10 ประเทศในอาเซียน

สรุปความคืบหน้าวัคซีนโควิด-19 ของ 10 ประเทศในอาเซียน ได้แก่ สิงคโปร์ บรูไน มาเลเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เวียดนาม ลาว กัมพูชา พม่า

 

ปัจจุบันมีการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพสูงออกมาสำเร็จแล้ว ทำให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกเริ่มมีการจัดสรรและจัดซื้อเพื่อนำวัคซีนที่ประสบผลสำเร็จมาใช้ ขณะที่ประเทศในกลุ่มอาเซียน ก็มีการวางแผนจัดซื้อ-จัดสรรการใช้วัคซีนโควิด-19 ที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ ดังนี้

 

AFP

 

สิงคโปร์ มีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสม 58,461 (รักษาหายแล้ว 58,304 คน) มีจำนวนผู้เสียชีวิต 29 คน

 

ด้านความคืบหน้าวัคซีนโควิด-19 สิงคโปร์ได้รับการขนส่งวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด -19 ชุดแรกในเย็นวันจันทร์ที่ 21 ธ.ค. 63 ทำให้สิงคโปร์เป็นประเทศแรกในเอเชียที่รับวัคซีนที่พัฒนาโดยไฟเซอร์และไบโอเอ็นเทค (มีอัตราประสิทธิภาพร้อยละ 95) การฉีดวัคซีนในสิงคโปร์จะเป็นไปโดยสมัครใจและจะให้ความสำคัญกับผู้ที่มีความเสี่ยงมากที่สุดเช่นเจ้าหน้าที่ระดับแนวหน้าและเจ้าหน้าที่ด้านการดูแลสุขภาพตลอดจนผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยง

 

หลังจากนั้น คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ ได้เสนอให้การฉีดวัคซีนประชากรที่เหลืออย่างต่อเนื่องและครอบคลุมทุกคนที่ต้องการฉีดวัคซีนภายในไตรมาสที่ 3 ของพ.ศ.2564 การฉีดวัคซีนจะให้บริการฟรีสำหรับชาวสิงคโปร์ทุกคนและผู้อยู่อาศัยระยะยาวในปัจจุบัน โดยสิงคโปร์ใช้งบประมาณในการจัดสรรวัคซีนชุดแรก 2.2 หมื่นล้านบาท

 

New Straits Times

 

บรูไน มีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสม 152 คน (รักษาหายแล้ว 149 คน) มีจำนวนผู้เสียชีวิต 3 คน

 

ด้านความคืบหน้าวัคซีนโควิด-19 บรูไนได้เข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ (โครงการพัฒนาวัคซีนจากหลายประเทศทั่วโลกที่ได้รับการรับรองโดยองค์การอนามัยโลก) และคาดว่าจะได้รับวัคซีนโควิด-19 ในไตรมาสที่ 1 ปี พ.ศ.2564 ซึ่งเพียงในไตรมาสแรก จะทำให้มีการฉีดวัคซีนครอบคลุมถึงร้อยละ 50 ของประชากรในประเทศ ทั้งนี้บรูไนกำลังอยู่ในขั้นตอนดำเนินการเจรจากับผู้ผลิตรายอื่นในต่างประเทศเช่นกัน

 

มาเลเซีย มีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสม 97,389 คน (รักษาหายแล้ว 79,304 คน) มีจำนวนผู้เสียชีวิต 439 คน

 

ด้านความคืบหน้าวัคซีนโควิด-19 มาเลเซียได้ทำข้อตกลงกับ Pfizer ในการจัดหาวัคซีนโควิด-10 เป็นจำนวน 12.8 ล้านโดส และ ล่าสุดได้ลงนามในข้อตกลงเพื่อจัดหาวัคซีน COVID-19 จาก AstraZeneca จำนวน 6.4 ล้านโดส นอกจากนี้ รัฐบาลมาเลเซียกำลังเจรจาขั้นสุดท้ายกับ ซิโนวัค ผู้ผลิตวัคซีนจากจีน รวมถึงสถาบัน Gamaleya ของรัสเซีย โดยมาเลเซียตั้งเป้าหมายว่าจะจัดซื้อวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรมากกว่าร้อยละ 80 ภายในปี พ.ศ.2564

 

National News Bureau of Thailand

 

ไทย มีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสม 5,716 คน (รักษาหายแล้ว 4,078 คน) มีจำนวนผู้เสียชีวิต 60 คน

 

ด้านความคืบหน้าวัคซีนโควิด-19 ประเทศไทย วางแผนที่จะฉีดวัคซีนให้ได้ครอบคลุมร้อยละ 50 ของประชากรทั้งประเทศภายในปี พ.ศ.2564 โดยรัฐบาลได้มีข้อตกลงในการจัดหาวัคซีนจำนวน 26 ล้านโดส จากโครงการโคแวกซ์ (โครงการพัฒนาวัคซีนจากหลายประเทศทั่วโลกที่ได้รับการรับรองโดยองค์การอนามัยโลก) ทั้งนี้ ไทยได้มีการเจรจาสั่งซื้อวัคซีนของ AstraZeneca และ Oxford University ที่ชื่อ AZD1222 ไว้อีก 26 ล้านโดส รวมถึงจัดหาจากผู้ผลิตอื่น ๆ อีก 13 ล้านโดส

 

ฟิลิปปินส์ มีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมโดยประมาณ 463,000 คน (รักษาหายแล้ว 429,000คน) มีจำนวนผู้เสียชีวิต 9021 คน

 

ด้านความคืบหน้าวัคซีนโควิด-19 ฟิลิปปินส์ได้วางแผนจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 จำนวน 25 ล้านโดสจาก ซิโนวัค โดยคาดว่าจะได้รับส่งมอบวัคซีนภายในเดือนมีนาคม พ.ศ.2564 ทั้งนี้รัฐบาลฟิลิปปินส์ได้วางแผนจัดหาวัคซีนจาก Moderna และ Arcturus therapeutics อีกประมาณ 25 ล้านโดส โดยฟิลิปปินส์ต้องการวัคซีนเป็นจำนวนอย่างน้อย 50 ล้านโดส ภายในปีพ.ศ.2564

 

อินโดนีเซีย มีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมโดยประมาณ 678,000 (รักษาหายแล้ว 553,000คน) มีจำนวนผู้เสียชีวิต 20,257 คน

 

ด้านความคืบหน้าวัคซีนโควิด-19 อินโดนีเซียจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 โดยในชุดแรกมีปริมาณ 1.2 ล้านโดสเป็นของบริษัทซิโนวัค ไบโอเทค จากประเทศจีน โดยคาดว่าจะเริ่มฉีดให้กับประชากรวัยทำงานอายุ 18-59 ปีก่อน กลุ่มเป้าหมายจะได้รับการฉีดวัคซีนเบื้องต้นที่ 107 ล้านคนหรือประมาณร้อยละ 40 ของจำนวนประชากรทั้งหมด

 

โดยวัคซีนนี้จะถูกจัดสรรแก่ชาวอินโดนีเซียโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ ในเดือนมกราคมปีหน้า อินโดนีเซียได้สั่งวัคซีนอีกกว่า 30 ล้านโดสจากบริษัท โนโววัคซ์ และทั้งกำลังเจรจา กับ Pfizer, AstraZeneca และ COVAX ขณะเดียวกัน อินโดนีเซียกำลังพัฒนาวัคซีนของตนเองซึ่งชื่อว่า Merah Putih อีกจำนวนกว่า 57.6 ล้านโดส

 

The Jakarta Post

 

เวียดนาม มีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสม 1420 (รักษาหายแล้ว 1281คน) มีจำนวนผู้เสียชีวิต 35 คน

 

ด้านความคืบหน้าวัคซีนโควิด-19 เวียดนามมีการดำเนินการผลิตวัคซีนโควิด-19 ในประเทศของตนเอง โดยมีการทดลองฉีดวัคซีนนาโนโคแวกซ์ (Nanocovax) ครั้งแรกเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 ธันวาคม ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ตัวแรกที่ผลิตในประเทศ

 

วัคซีนดังกล่าว มีชื่อว่า วัคซีนนาโนโคแวกซ์ ซึ่งพัฒนาโดยบริษัท นาโนเจน ฟาร์มาซูติคอล ไบโอเทคโนโลยี เจเอสซี (Nanogen Pharmaceutical Biotechnology JSC) เป็นวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ตัวแรกของเวียดนามที่เข้าสู่ขั้นตอนการทดลองในมนุษย์ ซึ่งหาก นาโนโคแวกซ์ ประสบความสำเร็จ จะมีการเริ่มกระบวนการผลิตวัคซีนได้ในช่วงปี พ.ศ.2565 อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเวียดนามกำลังจัดหาวัคซีนจากประเทศอื่นร่วมด้วย โดยขณะนี้อยู่ในช่วงเจรจากับบริษัท Pfizer และบริษัทยาในต่างประเทศ

 

ลาว มีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสม 41 (รักษาหายแล้ว 37คน) มีจำนวนผู้เสียชีวิต 0 คน

 

ด้านความคืบหน้าวัคซีนโควิด-19 ลาวจะได้รับและแจกจ่ายวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ภายในปี พ.ศ.2564 โดยวัคซีนที่จะนำมาใช้ในประเทศลาว เป็นวัคซีนที่ผลิตในสหราชอาณาจักร นอกจากนี้ รัฐบาลลาว กำลังพิจารณาจัดซื้อวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่ชื่อ “สปุตนิก ไฟว์”ผลิตโดย ประเทศรัสเซีย หลังจากการรับรองการใช้งานวัคซีนดังกล่าวในรัสเซียเสร็จสมบูรณ์แล้ว

 

Anadolu Agency

 

กัมพูชา มีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสม 363 (รักษาหายแล้ว 349คน) มีจำนวนผู้เสียชีวิต 0 คน

 

ด้านความคืบหน้าวัคซีนโควิด-19 กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงเศรษฐกิจของกัมพูชาเตรียมงบประมาณสนับสนุนโครงการ COVAX วัคซีนป้องกันไวรัสโควิด -19 (โครงการพัฒนาวัคซีนจากหลายประเทศทั่วโลกที่ได้รับการรับรองโดยองค์การอนามัยโลก) โดยรัฐบาลจะจัดสรรวัคซีนให้แก่ชาวกัมพูชาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยในระยะแรกจะมีวัคซีนให้แก่ประชากร 500,000 คน และคาดว่าจะสามารถจัดสรรวัคซีนได้ครอบคลุม ร้อยละ 20 ของประชากร ได้ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของ ปี พ.ศ.2564

 

เมียนมา มีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสม 118,000 (รักษาหายแล้ว 97,819คน) มีจำนวนผู้เสียชีวิต 2484 คน

 

ด้านความคืบหน้าวัคซีนโควิด-19 เมียนมาได้ใช้งบประมาณจำนวน 3 หมื่นล้านบาท เพื่อได้ยื่นคำร้องเข้าร่วมการสนับสนุนโครงการ COVAX วัคซีนป้องกันไวรัสโควิด -19 (โครงการพัฒนาวัคซีนจากหลายประเทศทั่วโลกที่ได้รับการรับรองโดยองค์การอนามัยโลก) โดยจะได้รับวัคซีน ชุดแรกในช่วงเดือน เมษายน ปี พ.ศ.2564 ซึ่งวัคซีนชุดดังกล่าวจะครอบคลุมจำนวน ร้อยละ 20 ของ ประชากรทั้งหมด

 

The United Nations

ข่าวที่เกี่ยวข้อง