รีเซต

คาร์ทิป : ‘ใส่หูฟัง’อันตรายแค่ไหน!?

คาร์ทิป : ‘ใส่หูฟัง’อันตรายแค่ไหน!?
มติชน
29 พฤษภาคม 2564 ( 14:15 )
70
คาร์ทิป : ‘ใส่หูฟัง’อันตรายแค่ไหน!?

ฟอร์ดเปิดเผยผลวิจัยถึงอันตรายร้ายแรงจากการใส่หูฟังขณะใช้รถใช้ถนน การสวมใส่หูฟังขณะเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานระหว่างขับขี่รถยนต์ จักรยาน สกู๊ตเตอร์ หรือแม้กระทั่งเดินเท้าก็อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ ในบางประเทศถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายเลยทีเดียว

 

 

ผลการวิจัยเกี่ยวกับเสียงที่ได้รับการสนับสนุนโดยฟอร์ด เผยว่า ผู้ฟังเพลงผ่านหูฟังสามารถรับรู้ถึงอันตรายบนท้องถนนได้ช้ากว่า ผู้ไม่ได้สวมใส่หูฟังมากกว่า 4 วินาที

 

 

ทีมนักวิจัยเชิญอาสาสมัครกว่า 2,000 คน จากทั่วยุโรป มาร่วมทดสอบผ่านประสบการณ์เสียงเชิงพื้นที่ (Spatial Sound) แบบ 8 มิติ พัฒนาขึ้นพิเศษสำหรับงานวิจัยนี้ โดยให้กลุ่มอาสาสมัครได้สัมผัสประสบการณ์เสมือนอยู่บนถนนจริง และวัดความเร็วของปฏิกิริยาตอบสนองต่ออันตรายที่อาจเกิดขึ้น

 

 

หลังจากการทดสอบ อาสาสมัครส่วนมากตัดสินใจว่าจะไม่ใช้หูฟังขณะสัญจรอีกเลย

การศึกษาปฏิกิริยาตอบสนองต่อภัยอันตรายบนท้องถนนในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ แชร์ เดอะ โร้ด ฟอร์ดจัดทำขึ้นเพื่อส่งเสริมการสร้างความเห็นอกเห็นใจและความเข้าใจซึ่งกันและกันของผู้ใช้รถใช้ถนน ออกแบบการทดสอบมาเพื่อชี้ให้เห็นความสำคัญของการได้ยินที่มีส่วนช่วยเพิ่มศักยภาพในการรับรู้และตอบสนองต่อภัยบนท้องถนนได้

 

 

โครงการวิจัยนี้ได้สำรวจการใช้รถใช้ถนน และศึกษาพฤติกรรมการใช้หูฟังของอาสาสมัครกว่า 2,000 คน จากฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี สเปน และสหราชอาณาจักร โดยสัมภาษณ์ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงขณะขับรถ ปั่นจักรยาน เดินเท้า หรือขี่สกู๊ตเตอร์

 

 

ผู้เข้าร่วมโครงการส่วนใหญ่บอกว่าสวมหูฟังขณะเดินทาง และในจำนวนร้อยละ 56 ของอาสาสมัครทั้งหมดที่เคยเกือบได้รับอันตราย หรือเคยประสบอุบัติเหตุบนท้องถนนมาก่อน มีผู้ใช้หูฟังขณะเกิดเหตุถึงร้อยละ 27

 

 

ขั้นต่อไปทีมวิจัยได้ให้อาสาสมัครใช้แอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนทำขึ้นเพื่อแคมเปญนี้โดยเฉพาะ คือ แชร์ เดอะ โร้ด เซฟ แอนด์ ซาวด์ เพื่อวัดผลว่าการสวมหูฟังมีผลต่อความสามารถในการตอบสนองต่อเสียงภายนอกที่จะเกิดขึ้นโดยไม่ทันตั้งตัวอย่างไร

 

 

แอพพลิเคชั่นดังกล่าวใช้เทคโนโลยีเสียงเชิงพื้นที่แบบ 8 มิติ เพื่อช่วยให้อาสาสมัครรู้สึกเสมือนกำลังอยู่บนถนนจริงๆ และเสียงจากทิศทางต่างๆ ที่ใช้ในการทดสอบก็ผลิตขึ้นจากการขยายช่วงเสียงและปรับแต่งความถี่ ทำให้แอพพ์สามารถสร้างเสียงบนถนนต่างๆ ได้อย่างสมจริง เช่น เสียงรถพยาบาลกำลังมาจากด้านหลัง

 

 

ผู้วิจัยจับเวลาการมีปฏิกิริยาต่อเสียงสัญญาณภัยดังกล่าวในสถานการณ์สามรูปแบบ ทดสอบทั้งเปิดเพลงขณะสวมหูฟัง และไม่เปิด ผลปรากฏว่าอาสาสมัครตอบสนองต่อเสียงภายนอกขณะฟังเพลงช้ากว่าขณะที่ไม่ฟังถึง 4.2 วินาที โดยเฉลี่ย

 

 

การสัมภาษณ์อาสาสมัครทั้งก่อนและหลังการใช้ประสบการณ์เสียง 8 มิติ ทำให้ผู้วิจัยสามารถระบุได้ว่า แอพพลิเคชั่นที่พัฒนาขึ้นนี้ มีผลดีต่อการกระตุ้นจิตสำนึกเกี่ยวกับความปลอดภัยบนท้องถนนได้มากน้อยเพียงใด

 

 

ก่อนการทดสอบ เพียงร้อยละ 44 ของอาสาสมัครกล่าวว่า ไม่สวมหูฟังขณะกำลังสัญจร หลังเสร็จสิ้นการทดสอบ ร้อยละ 58 ของอาสาสมัครยืนยันว่าจะไม่สวมหูฟังขณะสัญจรอีกเลย โดยเปลี่ยนทัศนคติของอาสาสมัครได้ถึงร้อยละ 31 ของจำนวนเดิม ส่วนทางด้านผู้ที่ยังจะสวมหูฟังบนถนนตามปกติ มีจำนวนลดลงถึงร้อยละ 64

ช่างเซียน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง