ชาวจีนเข้ามาในเมืองนครราชสีมาในช่วงใดนั้นไม่สามารถหาข้อเท็จจริงได้ บ้างก็ว่ามาตั้งแต่ในสมัยรัชการที่ 3 บ้าง รัชการที่ 4 บ้าง ก็แล้วแต่ใครจะตีความ ส่วนตัวผู้เขียนตีความว่าชาวจีนเข้ามาในโคราชช่วงสมัยรัชการที่ 3 ซึ่งเป็นช่วงที่สยามและจีนมีความสัมพันธ์อันดีที่สุด เพราะพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีความเป็นมิตรกับจีนมาก ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ชาวจีนจะหลั่งไหลเข้ามาทำการค้าในสยามประเทศเป็นจำนวนมาก เส้นทางการค้าโดยมากเป็นเส้นทางการค้าทางทะเล จะว่าเป็นเส้นทางที่ใช้กัน 100% เลยก็ว่าได้ ส่วนเส้นทางทางบกในช่วงรัชการที่ 3 ไม่มีความปลอดภัย เพราะพม่าและเวียดนาม ไม่เป็นมิตรกับสยามมากนักและลำบากในการขนส่ง เสี่ยงต่อการถูกปล้นสะดม เส้นทางที่ชาวจีนใช้เพื่อเข้ามายังเมืองโคราชมีความเป็นไปได้มีอยู่ 2 เส้นทางที่หลังจากเข้ามาในสยามประเทศแล้ว คือ 1. เส้นทางดงพยาไฟ ปัจจุบันเรียกดงพยาเย็น เส้นทางนี้อันตรายมาก เพราะต้องฝ่าแนวป่าทึบเสี่ยงต่อสัตว์ร้ายและไข้ป่า ตลอดจนเสียงกับการหลงป่า จึงมีความเป็นไปได้ว่าส่วนน้อยจะเลือกใช้ เพราะน้อยคนที่จะรอดตาย 2. เส้นทางแม่น้ำโขง แม่น้ำสายนี้มีต้นกำเนิดอยู่ทางภูเขาหิมาลัย ผ่านเข้าประเทศจีน กำพูชา เวียดนาม ออกสู่ทะเล เส้นทางนี้มีความเป็นไปได้มากที่สุด เพราะลำน้ำไหลลงมาทางจีนตอนใต้ผ่าน พม่า ลาว เข้าเขตทางภาคอีสาน สามารถขึ้นฝั่งที่จังหวัดใดก็ได้ที่อยู่ติดลำน้ำแล้วใช้ทางบก เข้ามายังเมืองโคราช หรือล่องเรือสวนทางขึ้นแม่น้ำมูลมายังโคราช แล้วเดินทางเข้ามายังตัวเมือง เส้นทางนี้ถึงจะไกลแต่ปลอดภัยมากที่สุด และมีความเป็นไปได้มากที่สุด ในสมัยรัชการที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างทางรถไฟขึ้นเพื่อสะดวกในการเดินทางและส่งของ จากหัวลำโพงมายังเมืองโคราช (สิ้นสุดที่หัวรถไฟตรงข้ามโรงเรียนมารีวิทยา) ทำให้ชาวจีนเข้ามาในเมืองโคราชมากขึ้น และมีระบบการส่งสินค้าพัสดุจากต่างถิ่นเข้ามาเมืองโคราชโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร โดยมีพ่อค้าชาวจีนเป็นหัวเรือสำคัญ ชาวจีนที่เข้ามาในเมืองโคราชส่วนใหญ่ยึดอาชีพค้าขายเป็นหลัก เช่น ขายเครื่องถ้วยชาม โรงสี ผ้า ธนาคาร โรงแรม ร้านอาหาร ร้านขายยา ฯลฯ ซึ่งกิจการที่ดำเนินโดยชาวจีนเหล่านี้ เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเมืองโคราช ทำให้เมืองโคราชในช่วงเวลานั้นเจริญทัดเทียมกับกรุงเทพฯ ความเจริญอย่างรวดเร็วทำให้เกิดธุรกิจการธนาคารขึ้น เพื่อเป็นส่วนกลางและตัวช่วยในการบริหารทางการเงิน มีระบบการฝากการถอน ระบบเงินกู้ ระบบตั๋วเงิน และระบบการบริหารเงินแบบคอมโบ ซึ่งเป็นระบบการบริหารทางการเงินเฉพาะของชาวจีนในโคราชเท่านั้น สิ่งหนึ่งที่เข้ามาพร้อมกับชาวจีนคือวัฒนธรรม และประเพณี คติความเชื่อ โดนเฉพาะในเรื่องการสืบสายเลือดและการสืบทอดกิจการการค้าที่เป็นไปอย่างเคร่งครัด ทำให้กิจการของบรรพบุรุษยังคงมีอยู่และทำให้เศรษฐกิจของเมืองโคราชยังคงความเสถียรภาพได้ยาวนาน ในด้านประเพณีนั้น วันสารทวันตรุษ เป็นความเชื่อของชาวจีนที่จะต้องทำพิธีต่าง ๆ โดยเฉพาะการไหว้เจ้า ไหว้บรรพบุรุษ สิ่งของต่าง ๆ ที่ไหว้เรียบร้อยแล้วจะนำไปแจกจ่ายไปยังเพื่อนบ้านต่าง ๆ ทั้งมูลนิธิการกุศลที่ชาวจีนได้รับอิทธิพลจากพระพุทธศาสนานิกายมหายาม เช่น เทศกาลเทกระจาด ร่วมกตัญญู สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดความรักความสามัคคีของคนในสังคมโดยรวมของเมืองโคราช หลักฐานต่าง ๆ ที่พอจะหาได้นั้น นอกจากหนังสือหรือเอกสารแล้ว หลักฐานทางวัตถุก็ยังมีหลงเหลือให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน อาคารไม้และตึกปูนต่าง ๆ ในตัวเมืองโคราช เช่น โรงแรมไม้เมืองทอง หลังประตูชุมพล ร้านขายยาจี้อังตึ๊ง โรงเต้าเจี้ยวเก่า เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นอาคารที่ดำเนินกิจการโดยคนจีนแทบทั้งสิ้น ชาวจีนที่เขามาในเมืองนโคราชมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ปัจจุบันนี้ก็ยังเป็นเช่นนั้นอยู่ แต่ชาวจีนเหล่านั้นได้สืบทอดตระกูลมาจนเป็นคนไทยเชื้อสายจีนในเมืองโคราช ความเจริญมีมากแค่ไหนนั้น ก็เรียกได้ว่าเมืองโคราชเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ในโครงการต่าง ๆ เช่น การท่องเที่ยว การคมนาคมเพื่อรองรับในด้านต่าง ๆ การพานิชย์ในหลาย ๆ ด้าน โครงการพัฒนาเหล่านี้ในปัจจุบัน ล้วนเกิดจากการว่างรากฐานทางเศรษฐกิจของชาวจีนในโคราชเมื่อครั้งอดีต ที่วางแนวทางมาไม่ต่ำกว่าร้อยปีแทบทั้งสิ้น ครับ ภาพประกอบบทความ ถ่ายโดย พงศธร อิ่มอุดม