รีเซต

'หมอธีระ' ยกเคสกรณีศึกษาหากไทยเปิดภาคเรียน สิ่งที่ควรตระหนักและระมัดระวัง

'หมอธีระ' ยกเคสกรณีศึกษาหากไทยเปิดภาคเรียน สิ่งที่ควรตระหนักและระมัดระวัง
TNN ช่อง16
23 ตุลาคม 2564 ( 08:21 )
77
'หมอธีระ' ยกเคสกรณีศึกษาหากไทยเปิดภาคเรียน สิ่งที่ควรตระหนักและระมัดระวัง

วันนี้ (23ต.ค.64) รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat โดยระบุ 23 ตุลาคม 2564 เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 443,315 คน ตายเพิ่ม 7,511 คน รวมแล้วติดไปรวม 243,696,790 คน เสียชีวิตรวม 4,952,683 คน

 

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุด ยังเป็นเช่นเดิมคือ อเมริกา สหราชอาณาจักร รัสเซีย ตุรกี และยูเครน

 

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ซึ่งรวมกันคิดเป็นร้อยละ 93.63 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 91.06 

 

...สำหรับสถานการณ์ไทยเรา

เมื่อวานติดเชื้อเพิ่ม 9,810 คน สูงเป็นอันดับ 10 ของโลก

แต่หากรวม ATK อีก 2,898 คน จะทำให้ยังคงเป็นอันดับ 9 ของโลก 

และไม่ว่าจะเป็นแค่ยอดที่รายงานทางการ หรือจะรวม ATK ก็ยังคงเป็นอันดับ 1 ของอาเซียนอย่างต่อเนื่อง

 

...ตอนนี้เกิดอะไรขึ้นในสหราชอาณาจักร?

ล่าสุดติดเชื้อใหม่เพิ่มวันละเกือบ 50,000 คน และกราฟการระบาดเป็นขาขึ้นชัดเจนตั้งแต่ช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

Chadeau-Hyam M และคณะจากอิมพีเรียลคอลเลจ ได้รายงานผลการศึกษา REACT-1 รอบที่ 14 ที่ทำการสำรวจสถานการณ์ระบาดของสหราชอาณาจักรในช่วง 9-27 กันยายน 2021 ทั้งนี้ในช่วงที่ผ่านมาก็เป็นช่วงที่มีการเปิดการเรียนในสถานศึกษา

 

สิ่งที่พบจากการศึกษานี้ มีความสำคัญหลายเรื่อง

หนึ่ง การระบาดเพิ่มขึ้นมากในกลุ่มเด็กและเยาวชน ทั้งกลุ่มอายุ 5-12 ปี และ 13-17 ปี ซึ่งสอดคล้องกับเป็นช่วงที่มีการเปิดภาคการศึกษาฤดูใบไม้ร่วงของสหราชอาณาจักร

 

สอง วิเคราะห์ประสิทธิภาพของวัคซีนตั้งแต่รอบการสำรวจที่ 13 (24 มิถุนายนถึง 12 กรกฎาคม 2021) จนถึงรอบที่ 14 (9-27 กันยายน 2021) โดยเปรียบเทียบกลุ่มที่ได้วัคซีนครบสองโดสกับกลุ่มที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน พบว่า Astrazeneca vaccine มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อ 44.8% (ช่วงความเชื่อมั่น 22.5%-60.7%) 

 

ในขณะที่ Pfizer/Biontech มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อ 71.3% (ช่วงความเชื่อมั่น 56.6%-81.0%)

 

สาม พบว่ากลุ่มผู้ที่ฉีดวัคซีนครบโดส ก็มีการติดเชื้อเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากฉีดไปแล้ว 3-6 เดือน

 

ดังนั้นจากผลการศึกษาในสหราชอาณาจักร เรื่องที่ไทยเราควรตระหนักและระมัดระวังคือ

1. หากเปิดการเรียนการสอนในสถานศึกษา มาตรการป้องกันการติดเชื้อแพร่เชื้อจำเป็นต้องมีความเคร่งครัด มิฉะนั้นอาจเกิดการระบาดได้มาก ยิ่งหากเด็กและเยาวชนยังได้รับวัคซีนไม่ครอบคลุมครบถ้วน หรือคุณครูและบุคลากรในสถานศึกษาได้รับวัคซีนไม่ครบหรือได้รับไปนานกว่า 3-6 เดือน

 

2. ชนิดของวัคซีนที่ใช้จะมีระดับประสิทธิภาพที่แตกต่างกันไป การปรับนโยบายและแผนวัคซีนระดับชาตินั้นมีความจำเป็นต้องดูข้อมูลเชิงประจักษ์ที่พิสูจน์ให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อ ป้องกันป่วย ลดการตาย ควบคู่กับข้อมูลเรื่องความปลอดภัย ไม่ใช่ดูแค่ระดับภูมิคุ้มกันแอนติบอดี้ในเลือด

 

นอกจากนี้ สำหรับคุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครอง ก็ควรอัพเดตข้อมูลความรู้ที่ถูกต้อง เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาเรื่องสำคัญต่างๆ ทั้งต่อตนเองและลูกหลาน 

 

หากมีการเปิดเรียนในสถานศึกษาระดับต่างๆ ก็ควรหมั่นตรวจตราดูแลลูกหลานอย่างสม่ำเสมอ ไถ่ถามกันทุกเช้าว่ามีใครรู้สึกไม่สบายบ้างไหม หากมีอาการไม่สบาย ก็ควรพักอยู่ที่บ้านและตรวจรักษาให้หายดีก่อน

 

คุณครูและบุคลากรที่ทำงานต่างๆ ก็เช่นกัน การประเมินสุขภาพตนเองก็มีความสำคัญมาก หากไม่สบาย จำเป็นต้องหยุดงาน รักษาตัวให้หายดี อย่าคิดว่ามีอาการเล็กๆ น้อยๆ แล้วไม่เป็นไร 

 

เพราะการ"หยวน"กับตนเองครั้งนี้อาจส่งผลให้เกิดการเจ็บป่วยและเสียชีวิตของนักเรียนนิสิตนักศึกษาหรือคนอื่นๆ จำนวนมากได้ และหากรับวัคซีนครบมานาน จนเข้าเกณฑ์ต้องได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น ก็ควรต้องไปรับเพื่อประโยชน์ทั้งในแง่ป้องกันตนเองและคนอื่นในสังคม 

 

หลังจากนี้ไป ความใส่ใจสุขภาพของตนเอง หรือ Health consciousness นั้นมีความสำคัญมาก และจะเป็นตัวกำหนดชะตาสุขภาพของตัวเราและคนรอบข้างของเราครับ

ใส่หน้ากากนะครับ สำคัญมาก

อยู่ห่างคนอื่นเกิน 1 เมตร จะลดอัตราติดเชื้อได้ 5 เท่า

ด้วยรักและห่วงใย

อ้างอิง

Chadeau-Hyam M et al. REACT-1 study round 14: High and increasing prevalence of SARS-CoV-2 infection among school-aged children during September 2021 and vaccine effectiveness against infection in England. MedRxiv. 22 October 2021.

 

 

ข้อมูลจาก รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์

ภาพจาก TNN ONLINE

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง