รีเซต

แฉลูกจ้างโกงเงินหลวง 33 ล้าน 1 ปีทำผิด 53 ครั้ง เซ็นตั้งทีมสอบสวนสางคดี

แฉลูกจ้างโกงเงินหลวง 33 ล้าน 1 ปีทำผิด 53 ครั้ง เซ็นตั้งทีมสอบสวนสางคดี
ข่าวสด
23 มิถุนายน 2563 ( 10:23 )
134

 

แฉลูกจ้างโกงเงินหลวง 33 ล้าน พบ 1 ปี ทำผิด 53 ครั้ง เซ็นตั้งทีมสอบสวนสางคดี เร่งสืบสวนหาคนในสำนักงานช่วยเหลือให้ทุจริตหรือไม่ สอบทุกบัญชีที่โอนเงินผ่าน

 

จากกรณี เจ้าหน้าที่ ตำรวจสภ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ จับกุม น.ส.ขนิษฐา (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 28 ปี พนักงานวิชาการการเงินและบัญชี สำนักงานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นลูกจ้างชั่วคราว หลังยักยอกเงินของหลวงไป 33 ล้านบาท ในระยะเวลาร่วม 1 ปี ก่อนถูกจับได้ คาสำนักงานกลางดึก สารภาพทำคนเดียวนำเงินไปเล่นการพนัน ก่อนถูกส่งตัวฝากขัง ตร.ค้านประกัน ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

 

ความคืบหน้า เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. พล.ต.ต.สุรศักดิ์ สุขแสวง ผู้บังคับการตำรวจภูธร (ผบก.ภ.) จ.ประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า ลงนามแต่งตั้งคณะพนักงานสอบสวน พร้อมเป็นประธานการประชุมด่วนภายในวันนี้ เพื่อคลี่คลายคดีลูกจ้างสำนักงานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ยักยอกเงินงบประมาณ 33.9 ล้านบาท

 

หลังจากผู้ว่าราชการจังหวัดมอบอำนาจให้ผู้เกี่ยว ข้องเข้าแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนที่ สภ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. ที่ผ่านมา ให้ดำเนินคดีน.ส.ขนิษฐา อายุ 28 ปี พนักงานวิชาการการเงินและบัญชีข้อหายักยอกทรัพย์ ปลอมเอกสารของทางราชการ และใช้เอกสารปลอม หลังตรวจสอบพบว่ายักยอกเงินงบประมาณของทางราชการรวม 33.9 ล้านบาท

โดยพบว่าโอนเงินเข้าบัญชีแม่ และอ้างว่านำเงินบางส่วนไปเล่นการพนันออนไลน์ โดยศาลคัดค้านการประกันตัว จากนั้นเจ้าหน้าที่นำตัวไปฝากขังที่เรือนจำผัดแรก 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 22 มิ.ย.-3 ก.ค.2563

 

พล.ต.ต.สุรศักดิ์ กล่าวต่อว่า สำหรับแนวทางในการคลี่คลายคดีจะต้องติดตามเส้นทางการเงินที่มีการโอนผ่านทุกบัญชี และตรวจสอบการเชื่อมโยงถึงตัวบุคคล หลังจากเบื้องต้นพนักงานสอบสวนสอบพยานบุคคลแล้ว 5 ราย และหากมีความซับซ้อน จะต้องใช้ทีมพนักงานสอบสวนที่มีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ นอกจากนั้นจะต้องตรวจสอบว่ามีบุคคลใดในหน่วยงานต้นสังกัดมีความประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้ทุจริตหรือไม่ ซึ่งอาจเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157

 

ขณะที่ผู้ต้องหาเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352, 265 และ 268 หลังจากพบว่าทุจริตจากการโอนเงินผ่านระบบบริหารการเงินการคลังภาครัฐแบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ GFMIS ให้นำไปสร้างข้อมูลหลักฐานเท็จต่อเนื่องนาน 1 ปี พบว่ากระทำความผิดรวม 53 ครั้ง ที่สำคัญคดีนี้ประชาชนส่วนใหญ่ ไม่เชื่อว่าลูกจ้างชั่วคราวจะกระทำการทุจริตเงินจำนวนมากเพียงรายเดียว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง