รีเซต

ชี้ดัชนีค้าปลีกเม.ย.กระเตื้องอานิสงส์หยุดยาวต่อเนื่อง - จ่อขึ้นราคาสินค้าในอีก 3 เดือนข้างหน้า

ชี้ดัชนีค้าปลีกเม.ย.กระเตื้องอานิสงส์หยุดยาวต่อเนื่อง - จ่อขึ้นราคาสินค้าในอีก 3 เดือนข้างหน้า
ข่าวสด
6 พฤษภาคม 2565 ( 16:08 )
40
ชี้ดัชนีค้าปลีกเม.ย.กระเตื้องอานิสงส์หยุดยาวต่อเนื่อง - จ่อขึ้นราคาสินค้าในอีก 3 เดือนข้างหน้า

ข่าววันนี้ นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ รองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า สมาคมผู้ค้าปลีกไทยร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยผลสำรวจความเชื่อมั่น ของผู้ประกอบการ ค้าปลีกประจำเดือนเม.ย. 2565 ในภาพรวมพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีกเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 56.4 ปรับเพิ่มขึ้น 9.9 จุด เมื่อเทียบกับดัชนีเดือนมี.ค. ที่ 46.5 จุด สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

 

เนื่องจากได้รับอานิสงส์จากช่วงวันหยุดยาวต่อเนื่องสองช่วงในเดือนเม.ย. ที่ผ่านมา รวมถึงการส่งเสริมการขายของร้านค้าต่างๆ และประกอบกับข่าวการเปิดประเทศรับการท่องเที่ยว

 

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีกในอีก 3 เดือนข้างหน้าเพิ่มขึ้น 10.3 จุด จากระดับ 48.9 จุด ในเดือนมี.ค. มาที่ 58.7 จุดในเดือนเม.ย. สะท้อนถึงความเชื่อมั่นต่อการควบคุมการแพร่ระบาดของโอมิครอนซึ่งกำลังเป็นช่วงขาลง และรัฐบาลกำลังจะประกาศให้เป็นโรคประจำถิ่น

 

 

ทั้งนี้ ยังมีบทสรุปประเด็นสำคัญของการประเมินผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนต่อภาคการค้า ที่สำรวจระหว่างวันที่ 18-26 เม.ย. 2565 ดังนี้ 70% มีผลต่อต้นทุนสูงขึ้น 17% มีผลต่อการวางแผนธุรกิจยากขึ้น 12% ยังไม่ได้รับผลกระทบ 1% ขาดวัตถุดิบในการผลิต ขณะเดียวกันประเมินแผนการปรับราคาสินค้าใน 3 เดือนข้างหน้า 52% เพิ่มขึ้นไม่เกิน 10%, 44% เพิ่มขึ้นระหว่าง 11-20%, 4% เพิ่มขึ้นมากกว่า 20%

 

ส่วนประเมินผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนต่อราคาสต๊อกสินค้าและสภาพคล่อง 87% จะปรับราคาตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในอีก 3 เดือนข้างหน้า 57% มีสต๊อกเพียงพอแค่ 3 เดือน 47% มีสภาพคล่องเพียงพอมากกว่า 12 เดือน

 

ดังนั้นจึงขอนำเสนอ 3 ข้อต่อภาครัฐ 1. คงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐไว้อย่างต่อเนื่อง ภาครัฐควรพิจารณากระตุ้นกำลังซื้อของประชาชนเพื่อให้เกิด การจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศ สร้างการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ ผ่านหลากหลายโครงการของรัฐ อาทิ โครงการคนละครึ่ง โครงการช้อปดีมีคืน และโครงการเราเที่ยวด้วยกัน

 

2. เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานโดยภาครัฐ ภาครัฐควรมีการอนุมัติการลงทุนและดำเนินการโครงการทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่อย่างทั่วถึงและรวดเร็ว เพื่อเร่งสร้างเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ผ่านการจัดจ้างการดำเนินงาน และสนับสนุนให้ SMEs เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐมากขึ้น

 

3. พยุงราคาพลังงานให้คงที่และได้นานที่สุด ภาครัฐควรพิจารณาใช้ทุกมาตรการในการช่วยแบ่งเบาภาระประชาชนผ่านการพยุงราคาพลังงาน เพื่อให้ค่าครองชีพไม่ปรับตัวแบบก้าวกระโดด อาทิ การใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และการออกมาตรการควบคุมราคาค่าขนส่ง

 

“ช่วงเวลานี้ถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญของภาครัฐในการใส่เกียร์เดินหน้าเต็มกำลังในการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศให้ดีขึ้น การฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยการกระตุ้นการบริโภคผ่านนโยบายของภาครัฐถือเป็นหัวใจสำคัญในการเดินหน้าประเทศไทย ซึ่งภาครัฐได้ดำเนินการมาในทิศทางที่ถูกต้องแล้ว และควรผลักดันให้มีมาตรการเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อเศรษฐกิจของประเทศไทยจะได้เติบโตอย่างยั่งยืน”

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง