(ภาพปกถ่ายโดยผู้เขียน) เชาวน์ หมายถึง ไหวพริบในการแก้ปัญหา การเสริมเชาวน์จึงหมายถึงการเสริมทักษะในการแก้ปัญหา หลายคนอาจคิดว่าการเสริมเชาวน์เหมาะกับเด็กเท่านั้น แต่อันที่จริงแล้วผู้ใหญ่ก็สามารถเสริมเชาวน์ได้ด้วยเช่นกัน เพราะคงไม่อาจปฏิเสธว่าผู้ใหญ่ก็ต้องการทักษะในการแก้ไขปัญหา นอกจากนี้การฝึกเชาวน์ยังเหมาะกับผู้ใหญ่เพราะสามารถช่วยป้องกันภาวะสมองเสื่อมได้ เนื่องจากสมองจะถูกกระตุ้นให้คิดขณะฝึกเกมที่ใช้เสริมเชาวน์มีมากมายในท้องตลาด ซึ่งแต่ละเกมก็มีลักษณะเฉพาะมีวิธีเล่นของตัวเอง ในบทความนี้จะมาแนะนำเกมเสริมเชาวน์ วิศวกรน้อย ที่ช่วยกระตุ้นให้ผู้เล่นเกิดเชาวน์ปัญญา สมาธิ และความอดทน ครอบครัวเราเจอเกมนี้ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ บู๊ท ๆ หนึ่งนำเกมวิศวกรน้อยมาจำหน่ายและมีให้ทดลองเล่น หลังจากได้ทดลองครอบครัวเราสนใจมาก เพราะทึ่งที่เกมกล่องเล็ก ๆ ซึ่งมีบล็อกเพียง 9 ชื้นสามารถเล่นอะไรได้เยอะมาก แถมราคาไม่แพงด้วย เกมวิศวกรน้อยได้รางวัลชนะเลิศ จากรางวัลของเล่นเพื่อพัฒนาเด็กไทย ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานเยาวชนแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี ปี 2538 และได้รางวัลชมเชยจากสำนักคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม ปี 2542 ผู้คิดประดิษฐ์เกมนี้คือ อาจารย์ธัญ เสรีรมย์ เกมมาพร้อมกับบล็อกรูปทรงต่าง ๆ 9 ชิ้น ซึ่งเมื่อเรียงเก็บเข้ากล่องจะเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส นอกจากนี้ยังมีคู่มือ 1 เล่ม ซึ่งอธิบายว่าเกมมีทั้งหมด 9 เกม แต่ละเกมเล่นอย่างไร และแนะนำด้วยว่าแต่ละช่วงวัยควรจะเล่นเกมอย่างไร (ภาพถ่ายโดยผู้เขียน) เกมและคู่มือ เราซื้อเกมนี้ให้ลูกตั้งแต่เขาอายุแค่ 2 ขวบ แต่ถึงตอนนี้ก็ยังเล่นได้อยู่ เพราะเกมสามารถดัดแปลงเล่นกับแต่ละช่วงวัยได้ ซึ่งถือว่าคนออกแบบเกมเก่งมาก ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเด็กอายุ 2 ปี พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถให้เล่นด้วยการเอาบล็อกออก 1 ชิ้น แล้วให้เด็กคิดว่า ควรจะหมุนบล็อกอย่างไรเพื่อให้ลงช่องว่างที่เหลือนั้นได้ และเมื่อเด็กโตอายุ 3 ปี ให้ผู้ปกครองหยิบบล็อกออก 2 ตัว แล้วให้เด็กหาวิธีนำบล็อกวางลงในช่องว่างที่เหลือให้ได้ (ภาพถ่ายโดยผู้เขียน) ตัวอย่างวิธีเล่นสำหรับเด็ก 2 ขวบ ผู้ปกครองหยิบบล็อกออก 1 ชิ้น แล้วให้เด็กวางกลับเข้าไปเราจะขอยกตัวอย่างเกมให้ดูดังต่อไปนี้เกมช่วยหนูลงกล่องที สำหรับเกมนี้ วิธีเล่นคือ เทบล็อกออกจากกล่องให้หมด แล้วเรียงบล็อกทั้ง 9 ตัวกลับลงกล่องให้ได้เหมือนเดิม ซึ่งเกมนี้มีวิธีเล่นมากถึง 500 วิธี (ภาพถ่ายโดยผู้เขียน) เกมช่วยหนูลงกล่องที(ภาพถ่ายโดยผู้เขียน) เกมช่วยหนูลงกล่องทีเกมลูกบาศก์ ให้นำบล็อกทั้งหมดมาต่อรวมกันเป็นลูกบาศก์ขนาด 3*4*3 เกมนี้มีวิธีเล่น 50 วิธี(ภาพถ่ายโดยผู้เขียน) เกมลูกบาศก์เกมอิสระของฉัน วิธีเล่นคือ นำบล็อกมาต่อเป็นรูปทรงต่าง ๆ เช่น หุ่นยนต์ บันได แท่งไม้กางเขน ฯลฯ ตามแต่จินตนาการ(ภาพถ่ายโดยผู้เขียน) เกมอิสระของฉัน: แท่งไม้กางเขน จะเห็นได้ว่าบล็อกเพียง 9 ชิ้นสามารถสร้างเกมรูปแบบต่าง ๆ ได้เยอะมาก นอกจากนี้ยังสามารถเลือกได้ด้วยว่า จะเล่นคนเดียวหรือจะเล่นกับคนอื่น ซึ่งคู่มือก็อธิบายเกมที่สามารถเล่นกับคนอื่นไว้ด้วยนอกจากความสนุกสนานเพลิดเพลินแล้ว ผู้เล่นยังได้ประโยชน์อื่น ๆ อีกหลายอย่างคือ ได้ฝึกทักษะทางคณิตศาสตร์ ได้ฝึกเชาวน์ปัญญาในการคิดแก้ไขปัญหา ได้ฝึกสมาธิและความอดทน และกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ ในช่วงที่มีเวลาว่างเพราะจำเป็นต้องเก็บตัวอยู่กับบ้านเพื่อป้องกันตัวเองจากเชื้อโควิด 19 การให้สมาชิกในบ้านได้เล่นเกมวิศวกรน้อยจึงน่าจะเป็นกิจกรรมที่ทั้งสนุกและมีประโยชน์ ผู้ที่สนใจเกมนี้สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.wisawakorn-noi.com/