รีเซต

วิพากษ์แพคเกจเยียวยา แจก7พัน-ลดรายจ่ายสู้โควิด

วิพากษ์แพคเกจเยียวยา แจก7พัน-ลดรายจ่ายสู้โควิด
มติชน
14 มกราคม 2564 ( 13:03 )
64

หมายเหตุความเห็นของนักวิชาการกรณีรัฐจัดแพคเกจการบรรเทาผลกระทบการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ ทั้งมาตรการเสริมสภาพคล่อง ช่วยเหลือลดค่าใช้จ่ายประชาชน แจกเงินคนละ 3,500 บาท เป็นเวลา 2 เดือน ทั้งนี้รัฐบาลยืนยันว่ามีเงินเพียงพอเพราะยังมีเหลือประมาณ 4.9 แสนล้านบาท จากเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลัง กู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยา ฟื้นฟู เศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา

 

วีระศักดิ์ เครือเทพ
นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

 

การเยียวยามีมุมมองเป็น 2 ระยะ เริ่มจากระยะสั้น ถามว่าการนำงบมาใช้จ่ายมีเหตุผลหรือไม่ เชื่อว่าพอฟังได้เพราะเปรียบเหมือนภาวะวิกฤตเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ดังนั้นหน้าที่ของรัฐบาลต้องเข้ามาแก้ปัญหา ในระยะสั้นต้องนำเงินเข้าไปอัดฉีด เพียงแต่รายละเอียดมีท่าทีที่ชัดเจนว่ารัฐบาลใช้ยุทธศาสตร์ง่ายๆ ด้วยการเน้นการแจก ซึ่งหมายถึงการหว่านแห เหมือนคำที่นิยมเรียกว่าเฮลิคอปเตอร์มันนี่ ขึ้นไปข้างบนแล้วหว่านลงมา แต่ประเด็นที่น่าสนใจต้องดูว่าโดนกลุ่มเป้าหมายที่เดือดร้อนจริงหรือไม่ เรื่องตอบยากมาก

เพราะฉะนั้นข้อดีของวิธีการแบบนี้ คือ ทำง่ายด้วยการโปรยลงไป อาจจะได้ในแง่ของการเมือง แต่ข้อจำกัดก็ต้องใช้เงินเยอะมากที่ทำให้กระตุ้นเศรษฐกิจ แทนที่จะไปแก้ในจุดที่เดือดร้อนจริงๆ แม้ว่าโควิดจะทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ แต่อย่าลืมว่าเมื่อลงลึกในรายละเอียดบางกลุ่มเป้าหมายไม่ได้เดือดร้อน เช่น ภาคโลจิสติกส์ยังเดินหน้าไปได้ แต่ปัญหาคือรัฐบาลทำไมต้องโปรยเงินไปให้กลุ่มนี้ ถ้าจะทำให้ดีกว่านี้ในระยะสั้นก็ควรมีมาตรการแบบเจาะจง เพราะการช่วยเหลือในเฟสแรก รัฐบาลใช้งบจำนวนมาก แล้วถ้ายังใช้วิธีการแบบเดิม นอกจากสิ้นเปลืองแล้วก็ช่วยได้น้อยมาก ไม่คุ้มกับเงินที่จ่ายออกไป แต่ในภาพรวมถือเป็นหน้าที่ของรัฐบาลต้องดำเนินการ

สำหรับในระยะยาวถ้าทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ ก็คงไม่เหมาะสม เพราะว่ารัฐบาลไม่มีเงินเพื่อแจกตลอดเวลา เพราะในเฟสสองที่นำมาแจกก็ต้องใช้เงินกู้ ดังนั้นในระยะยาวหากทำแบบนี้อีกคงไม่ถูกหลักการวินัยทางการคลัง และข้อจำกัดอีกประการ การทำแบบนี้ไม่ได้ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจอย่างถาวร แต่เป็นการทำแบบฉาบฉวยจากการเอาเงินไปโปรย ซึ่งจีดีพีอาจจะโตขึ้น แต่ว่าไม่ได้เพิ่มขีดความสามารถและศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ และการแจกเงิน หากหมดโควิดแล้วก็ควรจะหยุด นอกจากรัฐบาลควรมีแนวคิดในการพัฒนาเศรษฐกิจให้ยั่งยืน เพื่อทำให้มีการจัดเก็บภาษีมีรายได้แล้วนำไปชำระเงินกู้ได้อย่างไร

การจ่ายเงิน 3,500 บาท 2 เดือนก็ไม่น่าสงสัย เพราะมีงบเท่านี้ เชื่อว่าก่อนจะคิดโครงการหรือกำหนดตัวเลขออกมา คงคิดว่าจะต้องได้คะแนนนิยมเท่าไหร่ แล้วเปิดเงินในกระเป๋าว่ามีเท่าไหร่ พอจะจ่ายได้มากน้อยแค่ไหน การกำหนดที่ 3,500 บาท อาจเป็นตัวเลขที่จ่ายได้ลงตัวมากกว่าการใช้หลักคิดทางวิชาการ ดูแล้วรู้น่าจะดีกว่า 500 หรือ 1,000 บาท ทำให้มีความรู้สึกว่ารัฐบาลได้ช่วยแล้ว

 

ยุทธพร อิสรชัย
คณะรัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช

 

ครั้งนี้จะเห็นได้ว่า เรื่องการเยียวยาอาจจะน้อยกว่าคราวที่แล้ว ซึ่งมีการเยียวยาในเรื่องการหยุดงาน คนว่างงาน ตกงานด้วย ครั้งที่แล้ว เมื่อนับเป็นตัวเงินในแต่ละโครงการที่บุคคลจะได้รับ อาจจะมากกว่าครั้งนี้ ซึ่งครั้งก่อนมีการกู้เงินมาใช้จ่ายหลายกรณี รวมถึงการเยียวยาผล
กระทบจากโควิด-19 ซึ่งแน่นอนว่า การกู้เงินเหล่านี้ก่อให้เกิดหนี้สาธารณะ และในวันนี้อัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีของประเทศไทย อยู่ที่ 60 เปอร์เซ็นต์โดยประมาณ ซึ่งก็ถือว่าชนเพดานพอสมควร สำหรับประเทศซึ่งไม่ได้มีฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งมาก ในหลายประเทศอาจจะมีหนี้สาธารณะที่มากกว่าไทย แต่ว่าเขามีความสามารถในการชำระหนี้ที่สูงมาก ซึ่งเราไม่ได้มีฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งขนาดนั้น

ดังนั้น เรื่องมาตรการในการเยียวยาครั้งนี้ มีความพยายามไม่ใช้วิธีการล็อกดาวน์ หรือสั่งหยุดงานเหมือนปีที่แล้ว ซึ่งจะทำให้รัฐบาลต้องมีภาระเยียวยาหลายประการ ทั้งนี้ คงจะเป็นส่วนหนึ่งของข้อถกแถลงของสังคม ในเรื่องการฟื้นฟูเศรษฐกิจ อย่าลืมว่าเรื่องของโควิด-19 ไม่ได้จำกัดเฉพาะภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม และภาคการท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ยังลามไปสู่ภาคเกษตรกรรมด้วย เราจะเห็นได้ว่าเรื่องของสินค้า การประมง ผู้ประกอบการอาหารทะเล ได้รับผลกระทบกันอย่างกว้างขวาง เมื่อมาตรการเยียวยาลดลงกว่าครั้งก่อน ในขณะที่ผู้ได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างมากขึ้น ความเดือดร้อนย่อมเกิดขึ้นแน่นอน และเมื่อย้อนไปดูเรื่องตัวเลขของแรงงานในไทย จะเห็นได้ว่าประมาณ 55 เปอร์เซ็นต์ คือแรงงานนอกระบบ ซึ่ง 92 เปอร์เซ็นต์ในนั้น คือพี่น้องเกษตรกร ที่เป็นแรงงานนอกระบบ มาตรการคุ้มครองทางสังคมที่เข้าถึง ที่จะได้รับ ก็ไม่เหมือนแรงงานในระบบ เช่น ระบบประกันสังคม สวัสดิการต่างๆ ก็จะไม่ได้รับ แม้กระทั่งเมื่อเรามองระบบคุ้มครองทางสังคม ซึ่งประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 3.7 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีเท่านั้น ในขณะที่หลายประเทศที่มีความก้าวหน้า อย่างเกาหลีใต้อยู่ที่ 10.1 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีเลยทีเดียว สะท้อนให้เห็นภาพว่าผลกระทบย่อมเกิดขึ้น ยิ่งมาตรการในการเยียวยาดูจะน้อยกว่าครั้งที่แล้วด้วย จะส่งกระทบต่อเศรษฐกิจและวิถีชีวิตของพี่น้องประชาชน

ในส่วนของเงิน 2 เดือน 3,500 บาท เข้าใจว่ามาจากหลักคิด โครงการคนละครึ่ง ซึ่งมีระยะเวลาการใช้จ่ายใกล้เคียงกัน คืออีกประมาณ 3 เดือน และเรื่องของจำนวนเงินก็เท่ากัน กล่าวคือ อาจจะมาจากภาพใหญ่ของการคำนวณในเชิงดัชนีราคาผู้บริโภค และการคำนวณในเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐด้วย เพราะวันนี้เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจดับไปหมดแล้ว ไม่ว่าจะการบริโภคของประชาชน ก็เกี่ยวข้องกับความเชื่อมั่น คนอาจจะมีเงินแต่เขาไม่กล้าใช้จ่าย การลงทุนก็อาจจะน้อยในช่วงนี้ เพราะเศรษฐกิจชะลอตัว การส่งออกไปต่างประเทศก็มีปัญหา ดังนั้น เหลือเครื่องจักรตัวเดียว คือการใช้จ่ายภาครัฐ จึงอาจคำนวณจากฐานชี้วัดเหล่านี้ ออกมาเป็น 3,500 บาท 2 เดือน สำหรับพี่น้องประชาชนทั่วไป 3,500 บาท ในยุคภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวแบบนี้ ระยะเวลา 2 เดือน
เรียกว่าแทบจะไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก ความจริงแล้ว ต้องบอกว่าการแก้ปัญหาในลักษณะนี้ เป็นการแก้เฉพาะหน้าเท่านั้น แต่เฉพาะหน้าก็จำเป็นเนื่องจากพี่น้องประชาชนหลายส่วนเดือดร้อน

 

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา

 

การจัดแพคเกจดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มีลักษณะที่ถอดบทเรียนและบูรณาการเพิ่มมากขึ้น กล่าวคือมองเห็นว่าผลกระทบเที่ยวนี้ต้องเยียวยาภายใต้ข้อจำกัดของงบประมาณ และสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ แต่รัฐบาลก็พยายามที่จะดูผู้มีส่วนได้-เสีย ผู้ที่เกี่ยวข้อง และวิกฤตอื่นๆ ประกอบกัน จะเห็นว่า ไม่เฉพาะเรื่องการแจกเงิน แต่ยังโยงไปถึงเรื่องการลดค่าอุปโภค บริโภค การเร่งให้คนเข้าสู่ระบบงาน จึงเห็นการจัดการความล้มเหลวที่ผ่านมาเป็นประสบการณ์ในการจัดสวัสดิการ ดูแลประชาชน ผู้ได้รับผลกระทบในครั้งนี้ ถามว่าจะช่วยได้มากแค่ไหนนั้น ก็คงพอจะประทังได้ ตามที่รัฐบาลบอกคือแค่ 2 เดือนเท่านั้น ซึ่งไม่รู้ว่าจะดูแลกันได้มากแค่ไหน แต่อย่างน้อยในสถานการณ์ที่เป็นข้อจำกัด อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจภาพรวมที่ยังไม่ได้ฟื้นตัว เพียงแค่ผู้ติดเชื้อลดลงจากครั้งที่แล้ว

ส่วนตัวมองว่า เงิน 3,500 บาท 2 เดือนนั้น รัฐบาลคงประเมินแล้วว่ามีเงินแค่นี้ที่จะพอเยียวยาได้ เพราะถ้าให้มากกว่านี้อาจจะไม่ถึง 2 เดือน เงินมีไม่เพียงพอ ซึ่งเป็นวิธีคิดที่พยายามจะบูรณาการแล้ว แต่บูรณาการได้เฉพาะมาตรการด้านการเงิน การคลัง และการจ้างงานโดยภาครัฐ แต่ยังไม่ได้ดูเรื่องการจ้างงานภาคเอกชน การแก้กฎหมายที่เป็นอุปสรรคในการจ้างงาน หรือดึงตัวละครภาคส่วนอื่นๆ อาทิ เอกชน ภาคท้องถิ่น กรมการปกครองส่วนท้องถิ่นออกมาช่วย

ภายใต้เงินอันจำกัด ดังนั้น 1.รัฐบาลต้องดูเรื่องความโปร่งใส ในกระบวนการบริหารงบประมาณ ให้ถูกต้อง 2.รัฐบาลอาจจะต้องดูเรื่องโอกาส เพราะเงินจำนวนน้อยต้องใช้สอยอย่างมีประสิทธิภาพ การจ่ายไปแบบนี้ อะไรที่พอจะสร้างความยั่งยืนบ้าง การเปิดโอกาสให้มีการจ้างงาน แทนที่จะรอแค่ 2 เดือนก็จบ เงินส่วนหนึ่งน่าจะเจียดไว้เพื่อให้เกิดการจ้างงานในระบบต่างๆ เพราะการจ้างงาน ได้งาน ได้ผลผลิต และได้เงิน ซึ่งคนที่ได้รับการเยียวยาอาจต่อยอดได้จากเงินก้อนนี้ ถ้าเราคิดเพียงแค่แจก เงินก็หมด แต่ถ้าคิดเพื่อให้คนทำงาน ใช้วิกฤตเป็นโอกาส มองให้ไกลกว่านี้ ลองหาทางส่วนหนึ่งที่จะระดมทรัพยากร แปรวิกฤตเป็นโอกาส คนว่างงานจะทำอย่างไรให้มีงาน เช่น การค้าสินค้าออนไลน์ ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น หรือการบริการแบบนิวนอร์มอล ที่จะเกิดขึ้นในภาวะแบบนี้ กฎหมายอะไรที่เป็นอุปสรรคต่อภาวะวิกฤต ก็ต้องแก้ เช่น แก้กฎหมายการค้า ให้คนบางส่วนที่ได้รับผลกระทบจากโควิดเที่ยวนี้ ยกเลิกภาษีไว้ก่อน หรือเก็บให้น้อยที่สุด เพื่อให้เขาได้ตั้งหลักได้ในภาวะแบบนี้

 

ชัยธวัช เสาวพนธ์
นักวิชาการอิสระ จ.เชียงใหม่

 

โครงการคนละครึ่ง รัฐบาลเดินมาถูกทางแล้ว โดยอัดฉีดเม็ดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ทำให้เกิดการสร้างงานใหม่และกระจายรายได้สู่ชุมชนโดยตรง สังเกตช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีธุรกิจเกิดใหม่ อาทิ ร้านกาแฟ ร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านขายขนม ร้านรถเข็นหรือจักรยานยนต์พ่วงเร่ขาย เข้าร่วมโครงการมากขึ้น เพราะเห็นช่องทางทำมาค้าขายเลี้ยงครอบครัว ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลควรทำมานานแล้ว เหมือนนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เคยใช้นโยบายละลายไอติม อัดฉีดเม็ดเงินผ่านกองทุนหมู่บ้านละ 1 ล้านบาท พร้อมส่งเสริมโอท็อปควบคู่กันไป

กรณีรัฐบาลขยายโครงการคนละครึ่ง เป็นรายละ 3,500 บาท เพียง 2 เดือนนั้น มองว่ารัฐบาลเริ่มถังแตก เพราะจัดเก็บภาษีหรือรายได้ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ทางออกรัฐบาลควรเปลี่ยนงบจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ อาทิ เรือดำน้ำ เครื่องบิน รถถัง และชะลอโครงการขนาดใหญ่ อาทิ รถไฟฟ้ากรุงเทพฯ รถไฟความเร็วสูงอู่ตะเภา เพื่อนำงบดังกล่าวมาใช้กับโครงการคนละครึ่ง พร้อมเพิ่มจำนวนผู้มีสิทธิร่วมโครงการและขยายเวลาไปเป็น 6 เดือนดีกว่า เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนเงินและบรรเทาความเดือดร้อนผลกระทบจากโควิดด้วย