เยาวชนคือผู้ที่พอได้เริ่มต้นออกมาใช้ชีวิตในสังคม เหมือนลูกนกที่เพิ่งหัดบินออกจากรัง ขนยังขึ้นไม่เต็มปีก หรืออาจเปรียบเหมือนเด็กที่เปิดหน้าต่างบานแรก เพิ่งได้เห็นโลก เหมือนคนหัดขับรถขึ้นบนถนนหลวง ที่มีรถคันอื่นๆวิ่งกันขวักไขว่ ต้องใช้ถนนชีวิตร่วมกับผู้อื่น หากขับรถด้วยความคึกคะนองขาดสติ ก็เกิดอุบัติเหตุได้ง่ายๆ โดยเฉพาะชีวิตที่กำลังเข้าทางโค้งหรือเป็นแยกช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างวัยเด็กกับวัยผู้ใหญ่ คือวัยรุ่นอายุประมาณ 13-18 ปี ถ้าเป็นนักเรียนก็คือยังเรียนอยู่ในระดับมัธยม เด็กวัยนี้ยังขาดประสบการณ์ชีวิต ความคิดอ่านยังไม่สมบูรณ์ เพราะมีแนวโน้มว่า เยาวชนกระทำผิดกฎหมายเพิ่มมากขึ้นทุกๆวันรัฐบาลจึงได้ดำริ โครงการนักเรียนเยี่ยมคุกขึ้นมา เพื่อให้เยาวชนไทยได้มาเห็นและสัมผัสกับชีวิตความเป็นอยู่ของนักโทษในเรือนจำ เพื่อจะได้ดูไว้เป็นอุทาหรณ์ จะได้เกิดความเกรงกลัวไม่กล้ากระทำผิด ไม่ใช้ชีวิตอย่างขาดสติจนหลุดโค้ง กลายเป็นนักเรียนผสมนักเลง แทนที่จะได้เป็นกำลังในการพัฒนาประเทศชาติในภายภาคหน้า กลับกลายมาเป็นภาระกับสังคม รัฐบาลต้องเปลืองงบประมาณไปกับค่าอาหารที่ใช้เลี้ยงดูนักโทษในคุกซึ่งมีมากกว่าสามแสนคน ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าอื่นๆอีกมากมาย และเมื่อเยาวชนเข้ามาอยู่ร่วมกันกับนักโทษอื่นที่เป็นผู้ร้ายโดยสันดาน เป็นผู้กระทำผิดซ้ำซาก ก็เกิดพฤติกรรมลอกเลียนแบบ มีการกระทำผิดร้ายแรงขึ้นกว่าเดิมเสียอีกทุกวันนี้โครงการนักเรียนเยี่ยมคุกได้ผ่านพ้นไปแล้ว จะเกิดผลดีต่อเด็กแค่ไหนนั้นก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ อีกมากมาย รวมทั้งขึ้นอยู่กับวาสนาชะตาของแต่ละคนด้วย เพราะผลบางอย่างนั้น มีขึ้นมาจากเหตุหลายเหตุ จะใช้วิธีการทางกฎหมายอย่างเดียวนั้นไม่ได้ พ่อแม่ผู้ปกครองซึ่งเป็นครูคนแรกของลูกนั้นสำคัญที่สุด เพราะเด็กจะมีทิฐิหรือความเห็นตามการปลูกฝัง ตามที่ได้เห็น ได้สัมผัสจากครอบครัวมาตั้งแต่เด็ก มีพ่อแม่เป็นแม่แบบ โครงการ "นักเรียนเยี่ยมคุก" นั้นมีขึ้นเมื่อ ๑๐กว่าปีมาแล้ว ช่วงนั้นผมเป็นผู้คุมปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่เรือนจำกลางสุราษฎร์ธานี มีหน้าที่ประจำคือ เปิด-ปิดประตูคุก ใครจะเข้าคุกออกคุกผมก็เปิดให้ด้วยความเต็มใจ เพียงแต่ต้องตรวจค้นตัวกันทุกคน ไม่มียกเว้นในช่วงนั้น (ประมาณปี พ.ศ.๒๕๔๘ - ๒๕๕๐) โครงการนักเรียนเยี่ยมคุกได้รับความสนใจจากโรงเรียนต่าง ๆ ในจังหวัดนครศรีธรรมราชมากมาย มีหลายโรงเรียนที่ทำหนังสือมาถึงเรือนจำ เพื่อขออนุญาตให้คุณครูพานักเรียนมาทัวร์คุก มีตั้งแต่ชั้นมัธยมต้น ถึงมัธยมปลายเมื่อคุณครูมาถึงหน้าเรือนจำก็กุลีกุจอให้บรรดานักเรียนลงจากรถบัสมาเข้าแถวให้เป็นระเบียบ บรรดานักเรียนก็ดูตื่นเต้นกันทีเดียวเพราะในคุกไม่ได้เดินเที่ยวได้ง่าย ๆ เหมือนอย่างสยามพารากอน ไม่เฉพาะแต่นักเรียนเท่านั้น ดูคุณครูแต่ละคนก็มีท่าทีตื่นเต้นไม่น้อยไปกว่าลูกศิษย์ บางคณะก็มีพระสงฆ์องค์เณรในวัดใกล้ ๆ โรงเรียนมาร่วมแจมด้วย ๒-๓รูป โดยพระคุณเจ้าท่านบอกว่า อาตมาก็ไม่เคยเข้าคุก เคยเข้าแต่วัดมาแล้วหลายวัด จึงอยากจะมาเห็นคุกกับเขาบ้าง เผื่อว่าอาจจะได้รู้เห็นกฎแห่งกรรมไปเทศนาโปรดญาติโยม นับว่าท่านเป็นผู้หลักแหลมเป็นเลิศในทางแสวงหาวัตถุดิบไปแสดงธรรมแต่ก็มีบางโรงเรียนที่นอกจากพระคุณเจ้าแล้ว ก็ยังชวนบรรดาอุบาสกอุบาสิกา สาธุชนคนข้างวัดมาด้วย ดูแล้วบรรดาพ่อแก่แม่เฒ่าเหล่าพุทธบริษัทที่มาก็ออกอาการตื่นเต้นให้เห็นอยู่เหมือนกัน และที่ผมจำติดหูมาได้จนกระทั่งทุกวันนี้ก็คือ พอนักเรียนก้าวขาพ้นประตูชั้นในสุด คำพูดที่ผมได้ยินมากที่สุดก็คือ " โอ้โฮ สบาย น่าอยู่จัง "ก็เพราะตั้งแต่ประตูชั้นในสุดเข้าไป นักเรียนก็ได้พบกับความสะอาด เรียบร้อยสวยงาม และที่เรือนจำกลางนครศรีธรรมราชนั้น พอพ้นประตูในสุดไปประมาณ ๕๐เมตร ก็จะพบกับน้ำตกเล็ก ๆ ชื่อน้ำตกกีรติพันธุ์ ซึ่งเป็นชื่อสกุลของท่านผู้บัญชาการที่สร้างน้ำตกในสมัยนั้น บรรยากาศรอบ ๆ น้ำตกก็รื่นรมย์ ปลูกหญ้าญี่ปุ่นน่านั่งพักผ่อน ทุก ๆ แดนภายในเรือนจำ ก็ตกแต่งเหมือนสวนสาธารณะ ต้นไม้ใบหญ้าถูกตัดแต่งไว้สวยงาม ภายในเรือนจำนั้นแบ่งเป็นแดนต่างๆเสมือนเป็นเรือนจำย่อย ๆ อยู่ในกรอบของกำแพงใหญ่ แต่ละแดน มีประตู ๒ชั้น กำแพงแต่ละแดนจะสูงจนมองไม่เห็นกัน นับว่าการเข้าคุกนั้นเข้ายากพอสมควรทีเดียวเจ้าหน้าที่เรือนจำ ก็จะนำบรรดาคณะครูนักเรียนไปเข้าชมแดนที่มีความปลอดภัย เช่น แดนหญิง แดนการศึกษา แดนสูทกรรม( โรงครัว) และแดนพยาบาล แดนเหล่านี้ ใช้คุมขังนักโทษชั้นดีที่ใกล้จะพ้นโทษแล้วหรือไม่ก็แก่หง่อมหมดพิษสงเสียแล้ว ส่วนแดนโทษสูงนั้นอันตราย พาเด็กเข้าชมไม่ได้ เกิดนักโทษจับเด็กเป็นตัวประกัน เพื่อต่อรองให้เปิดประตูเรือนจำก็จะกลับกลายเป็นเรื่องใหญ่โตได้ด้วยความที่กรมราชทัณฑ์ได้เปลี่ยนนโยบายการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดจากทฤษฎีแก้แค้นเป็นทฤษฎีแก้ไขและฟื้นฟูมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๐ เรือนจำจึงไม่ใช่แดนสนธยาอันอึมครึมน่ากลัวอีกต่อไป มีการส่งเสริมให้ได้รับการศึกษา ทั้งสายสามัญ และสายอาชีพ และได้รับพระมหากรุณาฯจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงให้สร้างห้องสมุด ชื่อห้องสมุดพร้อมปัญญาขึ้นทุกเรือนจำ มีหนังสือให้ใฝ่เรียนใฝ่รู้มากมาย ส่วนหนึ่งก็ได้รับบริจาคมาจากผู้ใจบุญใจกุศล และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ก็มาดูแลเรื่องสุขอนามัย เรือนจำจึงกลายเป็นสถานที่เจริญหูเจริญตา ไม่รู้ว่านักเรียนที่เข้ามาเยี่ยมคุก จะกลัวคุกหรือกลับชอบคุกก็ไม่รู้ เพราะเมื่อได้มาดูในแบบที่ให้บรรดานักเรียนได้แสดงความคิดเห็น นักเรียนหลายคนบอกว่า โดยภาพรวมในคุกนั้นพวกเขาอยู่ได้ เพียงแต่กังวลเล็กน้อย กลัวว่าจะไม่มีพื้นที่ส่วนตัวผมเชื่อว่ามีคนหลายคนที่คิดว่า ตนเองกับคุกนั้นมันช่างห่างไกล เพราะเชื่อมั่นว่าตนเองเป็นคนดีมีศีลธรรม เป็นสุจริตชนพลเมืองเกรดเอ แต่คนชั้นเกรดเอของเมืองไทยก็เคยเข้าใช้ชีวิตในคุกหลายต่อหลายคน คุกได้ให้สิทธิ์กับคนทุกชนชั้นให้ย้ายสำมะโนครัวเข้ามาอยู่ในคุก ในคุกจึงมีผู้คนหลายหลากมากชนชั้น ตั้งแต่ลูกตาสีตาสา หลานยายมายายมี จนถึงคนระดับรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง นักการเมืองหลายรายเข้าออกคุกหลายรอบ เป็นนักโทษยกมือไหว้ผู้คุมอยู่แหม็บ ๆ อีกวันกลายเป็นนักการเมืองใหญ่ เป็นรัฐมนตรีไปซะแล้ว คราวนี้ผู้คมก็ต้องพินอบพิเทายกมือไหว้บ้าง โลกนี้มันจึงเอาแน่อะไรไม่ได้เมื่อวานยังเป็นดาราซุปตาร์แท้ ๆ วันนี้ต้องกลายเป็นผู้ต้องหา ว่าเป็นฆาตกรเข้ามานอนในคุกซะแล้ว ยิ่งทุกวันนี้โลกมันหมุนเร็ว เป็นสังคมแห่งดิจิทัล ชีวิตเราจึงเปรียบเสมือนขยะชิ้นหนึ่งที่ปลิวว่อนอยู่ใจกลางพายุทอร์นาโด เราจึงไม่อาจคาดคะเนได้เลยว่า วันพรุ่งนี้เราจะไปชนไปกระทบกระแทกกับสิ่งใดบ้าง ในคุกจึงไม่ใช่มีไว้ขังแต่คนที่เลวทราม คนดี ๆ ก็อาจติดคุกได้ถ้าถึงเวลากรรมไม่ดีที่เคยทำมาแต่ปางบรรพ์มันให้ผล เราจึงได้เห็นคนหลายคนที่ได้ชื่อว่าเป็นคนดีช่วยเหลือสังคมเป็นที่ประจักษ์ แต่ก็ต้องเข้ามาอยู่ในคุก ชนิดแทบไม่เชื่อว่าจะเป็นไปได้ สังคมปัจจุบันนั้นสับสนวุ่นวายเต็มไปด้วยการแข่งขัน วัตถุเงินทองล่อตาล่อใจมีมากขึ้น กว่าสมัยสุโขทัยอยุธยา คาถาบทเดียวที่ศักดิ์สิทธิ์พอที่จะคุ้มครองได้บ้างก็คือ " สติสัมปชัญญะ " เมื่อใดก็ตามที่เผลอลืมคาถาบทนี้ ก็มีโอกาสเข้าคุกได้ทุกเมื่อ อุทาหรณ์เห็นได้จากข่าวโทรทัศน์ ทั้งตอนเช้าและตอนเย็น แต่ละคดี แต่ละเรื่องราวที่ไม่สมควรจะเกิดก็เกิดขึ้นได้ ถ้าขาดสติสัมปชัญญะฉะนั้นคุกจึงเหมือนเมืองอีกเมืองหนึ่งที่มีประชากรทุกชนชั้นทุกสาขาอาชีพ มีทั้งคนทุศีลและคนดีมีศีลธรรม สติสัมปชัญญะจึงเป็นธรรมที่มีอุปการะมาก ควรให้ธรรมของพระพุทธองค์อุปการะ ดีกว่าขาดธรรมะ แล้วต้องมาอยู่ในอุปการะของกรมราชทัณฑ์เขียนโดย พระยมอมยิ้มภาพปก ภาพถ่ายโดย THIS IS ZUN จาก Pexelsภาพประกอบที่ 1 ภาพถ่ายโดยผู้เขียนภาพประกอบที่ 2 ภาพถ่ายโดยผู้เขียนภาพประกอบที่ 3 ภาพถ่ายโดย Pixabay จาก Pexelsภาพประกอบที่ 4 ภาพถ่ายโดย Pixabay จาก Pexelsภาพประกอบที่ 5 ภาพถ่ายโดย Mikhail Nilov จาก Pexelsขอบคุณที่อ่านบทความของพระยมอมยิ้มครับติดตามผลงานอื่น ๆ ของพระยมอมยิ้มได้เพิ่มเติมที่Facebook : Ajarn.JarunCorrectYoutube : youtube เปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !