รีเซต

ยังกินควายอยู่ที่เดิม! เสือโคร่งพิการ 3 ขา หดหู่ใจเจอขาดสะบั้น หลุมแร้วดักเสือเพียบ

ยังกินควายอยู่ที่เดิม! เสือโคร่งพิการ 3 ขา หดหู่ใจเจอขาดสะบั้น หลุมแร้วดักเสือเพียบ
ข่าวสด
13 กุมภาพันธ์ 2565 ( 01:29 )
77

ยังวนเวียนกินซากควายอยู่ที่เดิม เสือโคร่งพิการ 3 ขา ส่งเจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่าร่วมทหารหน่วยเฉพาะกิจลาดหญ้า ลาดตระเวนป่าระวังคุ้มภัยให้ หดหู่ใจเจออุ้งตีนคล้ายเสือขาดสะบั้น และหลุมแร้วดักเสือโคร่งในป่าเพียบ

 

จากกรณีเจ้าหน้าที่มูลนิธิฟรีแลนด์ ร่วมกับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าอุทยานแห่งชาติเขาแหลม เข้าไปติดตั้งกล้องดักถ่ายสัตว์ป่าในเขตอุทยานแห่งชาติเขาแหลม และเขตอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ รวม 20 ตัว ตั้งแต่วันที่ 4 ก.พ.2565เป็นต้นมา

 

ต่อมาวันที่ 6 ก.พ.ที่ผ่านมา ได้ไปเปิดกล้องดูปรากฏว่าพบเสือโคร่งพิการ 3 ขาสภาพซูบผอม กำลังกินซากควายบริเวณสามแยกห้วยสะมะท้อ เขตอุทยานแห่งชาติเขาแหลม ห่างจากจุดที่นายหวาน ชาวกระเหรี่ยง ถูกเสือโคร่งกัด 1.5 กม. และห่างจากหมู่บ้านปิล๊อกคี่ ประมาณ 6 ก.ม.

 

 

ล่าสุดเรื่องนี้ วันที่ 12 ก.พ. 2565 นายนิพนธ์ จำนงสิริศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ได้ไปเปิดกล้องดักถ่ายสัตว์ป่าดูอีกรอบ ปรากฎว่ายังพบเสือโคร่งพิการ 3 ขายังคงวนเวียนเข้ามากินซากควายตัวเดิมคืนวันที่ 7 และ 8 ก.พ.โดยดูมีชีวิตชีวามากขึ้นหลังจากกินซากควายไป 3 วัน

 

 

ส่วนจุดอื่นๆที่ติดกล้องไว้ยังไม่พบเสือโคร่งตัวอื่น พบแต่อีเห็น 1 ตัว และแมวดาว 1 ตัวเท่านั้น นอกจากนั้นเจ้าหน้าที่พบอุ้งตีนของสัตว์ป่ามีลักษณะคล้ายอุ้งตีนของเสือโคร่งโดนแร้วบ่วงสลิงรัด สภาพเน่าเปื่อยขนาดกว้าง 3.5.นิ้ว ความยาว 5.12 นิ้ว คาดสัตว์พยายามสะบัดเอาชีวิตรอดจนอุ้งตีนขาด

 

 

ขณะเดียวกันนายเจริญ ใจชน หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ ส่งเจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่า 18 นายร่วมกับทหารหน่วยเฉพาะกิจลาดหญ้า 4 นาย ลาดตระเวนป่าบริเวณพื้นที่ป่าปีเต็ง ป่าห้วยปิล๊อก ป่าสะมะท้อ และบริเวณป่าใกล้เคียง เพื่อระวังภัยให้เสือโคร่งตัวพิการ 3 ขาและสัตว์ป่าอื่นๆ ซึ่งจากการลาดตระเวนป่าห้วยปิล๊อกพบร่องรอยเท้าเสือโคร่ง ซึ่งเป็นรอยเก่าประมาณ 1 เดือน และหลุมวางแร้วบ่วงสลิงดักเสือโคร่ง หรือสัตว์ป่าอื่นๆ 10 กว่าจุด และต้นไม้มีรอยเล็บเสือขูดตะเกียกตะกายเช่นกัน

 

 

สำหรับการช่วยเหลือเสือโคร่งพิการ 3 ขา กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช จะได้ประชุมร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านเสือโคร่งของกรมอุทยานฯเพื่อหาแนวทางในการช่วยเหลือและอนุรักษ์ฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง ให้อยู่ในถิ่นที่เหมาะสม และปลอดภัยในวิถีธรรมชาติของสัตว์ป่าต่อไป