รีเซต

มาเลย์ จ่อส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศ ร่วมมือ กองทัพเมียนมา แม้ชาติตะวันตกค้าน!

มาเลย์ จ่อส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศ ร่วมมือ กองทัพเมียนมา แม้ชาติตะวันตกค้าน!
ข่าวสด
23 กุมภาพันธ์ 2564 ( 13:18 )
38

มาเลเซียเตรียมเนรเทศส่งกลับผู้ขอลี้ภัยและผู้ถูกควบคุมตัวชาวเมียนมาแม้จะมีการร้องเรียน ชาติตะวันตกตำหนิ มาเลเซียร่วมมือกับ กองทัพเมียนมา

 

UNHCR

 

เมื่อวันที่ 23 ก.พ.64 สำนักข่าว รอยเตอร์ รายงานว่า สหพันธรัฐมาเลเซีย เตรียมส่งผู้ขอลี้ภัยและผู้ถูกควบคุมตัวชาวเมียนมาไปยังท่าเรือ ที่มีเรือรอพาผู้ลี้ภัยชาวเมียนมา กลับไปยังบ้านเกิดที่ยังไม่มีเสถียรภาพและสถานการณ์ทางการเมืองยังตึงเครียด แม้กลุ่มสิทธิต่าง ๆ จะยื่นข้อเสนอทางกฎหมายเพื่อยุติการเนรเทศ โดยระบุว่า ชีวิตของคนเหล่านี้มีความเสี่ยงหากต้องกลับไปยังเมียนมา

 

ผู้ถูกคุมขังชาวเมียนมาจำนวนกว่า 1,200 คน มีกำหนดการถูกส่งกลับไปยังเมียนมา ในบ่ายวันอังคารที่ (23 ก.พ.64) โดยเรือของกองทัพเมียนมาจำนวน 3 ลำ ที่กองทัพเมียนส่งมายังมาเลเซีย กองทัพเมียนมาได้ทำการยึดอำนาจรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ทำให้เกิดการประท้วงทั่วประเทศหลายสัปดาห์จากนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย

 

ผู้ขอลี้ภัยจากชนกลุ่มน้อยที่ไม่ใช่ชาวโรฮิงญา หลบหนีมาจากความขัดแย้งและการข่มเหงในประเทศ ทั้งนี้ มาเลเซีย ระบุว่า จะไม่เนรเทศชาวมุสลิมโรฮิงญาหรือผู้ลี้ภัยที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR)

 

UNHCR

 

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติ ระบุว่า มีผู้ลี้ภัยอย่างน้อย 6 คนที่ลงทะเบียนกับหน่วยงาน แต่กลับถูกกำหนดให้ถูกเนรเทศ ซึ่งจำนวนผู้ถูกเนรเทศอาจมีจำนวนมากกว่านั้น แต่หน่วยงานผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติไม่ได้รับอนุญาตให้ติดต่อผู้ถูกเนรเทศ

 

มีผู้พบเห็นรถบัสและรถบรรทุกของแผนกตรวจคนเข้าเมืองพาผู้ถูกควบคุมตัวไปยังท่าเรือ ลูมุต ซึ่งอยู่ทางตะวันตกของมาเลเซีย โดย ณ ท่าเรือดังกล่าว มีเรือของกองทัพเมียนมาจอดเทียบท่าอยู่

 

กลุ่มสิทธิมนุษยชนแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล และ แอคเซสแอคเซส ขอคำสั่งศาล เมื่อวันจันทร์ (22ก.พ.64) ที่ผ่านมา เพื่อขอให้มาเลเซียยุติการส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับเมียนมา โดยระบุว่ามีผู้ลี้ภัย 3 คนที่ลงทะเบียนกับ UNHCR และผู้เยาว์ 17 คน ในมาเลเซีย อยู่ในกลุ่มผู้ถูกเนรเทศ

 

"หากมาเลเซีย ยืนยันที่จะส่งตัวผู้ลี้ภัย 1,200 คนกลับไป ก็จะต้องรับผิดชอบต่อการทำให้พวกเขาเสี่ยงต่อการถูกข่มเหง ใช้ความรุนแรงและถึงขั้นเสียชีวิต" คาทารีนา มาลิอามอฟ ผู้อำนวยการแอมเนสตี้มาเลเซีย กล่าว เมื่อวันจันทร์ (22 ก.พ.64)

 

Muhyiddin Yassin / SCMP

 

อย่างไรก็ตาม มาเลเซียไม่ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นหรือตอบข้อซักถามของรอยเตอร์เกี่ยวกับการเนรเทศผู้ขอลี้ภัยและผู้ที่ลงทะเบียนกับ UNHCR

 

ความกังวลเกี่ยวกับการเนรเทศผู้ขอลี้ภัยที่ไม่ได้ลงทะเบียนยังคงมีอยู่เนื่องจาก UNHCR ไม่ได้รับการอนุญาตให้ติดต่อหรือสัมภาษณ์ผู้ลี้ภัยที่ถูกคุมขังเป็นเวลานานกว่าหนึ่งปีแล้ว UNHCR พยายามยืนยันสถานะผู้ลี้ภัย ท่ามกลางการพยายามกวาดต้อนผู้อพยพที่ไม่มีเอกสารในมาเลเซีย

 

สหรัฐอเมริกาและชาติตะวันตกอื่น ๆ พยายามห้ามไม่ให้มาเลเซียดำเนินการส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับเมียนมาและเรียกร้องให้รัฐบาลอนุญาตให้ UNHCR สัมภาษณ์ผู้ลี้ภัยที่ถูกควบคุมตัว สหรัฐฯและชาติตะวันตก ยังระบุว่า มาเลเซียกำลังสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาลทหาร โดยร่วมมือกับกองทัพเมียนมา