รีเซต

ไม่รอ WHO สธ.ตั้งเป้าทำโควิดเป็นโรคประจำถิ่น ย้ำติดเชื้อต้องไม่เกินวันละ 1 หมื่นราย

ไม่รอ WHO สธ.ตั้งเป้าทำโควิดเป็นโรคประจำถิ่น ย้ำติดเชื้อต้องไม่เกินวันละ 1 หมื่นราย
มติชน
27 มกราคม 2565 ( 13:06 )
33
ไม่รอ WHO สธ.ตั้งเป้าทำโควิดเป็นโรคประจำถิ่น ย้ำติดเชื้อต้องไม่เกินวันละ 1 หมื่นราย

เมื่อวันที่ 27 มกราคม ที่ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ.พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2565 ว่า การประชุมมีวาระในการพิจารณาหลัก ๆ คือ เรื่องที่ 1 แนวทางพิจารณาโรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น (endemic disease) ที่ประชุมเห็นชอบหลักการ เนื่องจากสธ.มีแนวความคิดว่าโควิดระบาดมา 2 ปีกว่าแล้ว ลักษณะการระบาดมีทิศทางดีขึ้น อยู่ภายใต้การควบคุม ไม่รุนแรง เป็นไปตามหลักวิชาการ ซึ่งเราไม่อยากให้เป็นโรคประจำถิ่นด้วยตัวของเชื้อเอง เพราะจะต้องปล่อยเวลาไป ดังนั้น เราต้องบริหารจัดการให้เป็นโรคประจำถิ่น ตัวเลขที่เป็นไปตามหลักการ เช่น ผู้ป่วยรายใหม่ไม่เกิน 10,000 รายต่อวัน อัตราป่วยตายไม่เกิน 1 ต่อ 1,000 ราย หรือ 0.1% เพราะหากเกินก็จะต้องถือเป็นโรครุนแรง และที่สำคัญคือ คนกลุ่มเสี่ยงรับวัคซีนโควิดเข็ม 2 ครบถ้วน มากกว่า 80%

 

“โรคประจำถิ่นเป็นนิยาม ที่ไม่มีเกณฑ์ จึงให้กำหนดขึ้นมา เพื่อให้เกิดความเข้าใจ แต่หลักกว้างๆ คือ 1.ไม่รุนแรงแต่ระบาดได้ อัตราตายยอมรับได้ ติดเชื้อเป็นระยะได้ แต่ที่สำคัญคือ 2.คนต้องมีภูมิต้านทานพอสมควร คนต้องฉีดวัคซีน และ 3.ระบบดูแลรักษามีประสิทธิภาพ ต้องครบใน 3 หลักแล้วก็มีระยะเวลาอีกระยะหนึ่ง ก็จะเรียกว่าโรคนี้เป็นโรคประจำถิ่นของไทยได้” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว และว่า ซึ่งหากสถานการณ์เหมาะสมและเข้าหลักเกณฑ์ที่กำหนด สธ.จะประกาศแจ้งให้ทราบอีกครั้ง

 

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า เรื่องที่ 2 เห็นชอบหลักการและแนวทางการดำเนินงานคลินิกวัคซีนผู้ใหญ่ ในโรงพยาบาล(รพ.) ไปจนถึง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) เพื่อให้บริการวัคซีนสำหรับผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ช่วงนี้เน้นให้บริการวัคซีนโควิด และวัคซีนในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคที่มีความจำเป็น โดยเราก็จะดำเนินการต่อเนื่องไป และเรื่องที่ 3 เห็นชอบแผนวัคซีนไฟเซอร์ในเด็ก 5-11 ปี ให้ดำเนินการตามเกณฑ์ฉีดทั้งในโรงเรียน และเด็กที่มีโรคประจำตัวที่ฉีดในโรงพยาบาล ล่าสุด กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) รายงานมาว่ามีผู้ปกครองยินยอมให้เด็กฉีดวัคซีนไฟเซอร์แล้ว 70% โดยวัคซีนล็อตแรกที่เข้ามาวันที่ 26 ม.ค.64 จำนวน 3 แสนโดสแรก ผ่านการตรวจสอบคุณภาพจากกรมวิทยฯ แล้ว หลังจากนี้ก็จะกระจายไปตามแผนงาน

 

ปลัดสธ. กล่าวว่า สำหรับประชาชนที่รับวัคซีนสูตรไขว้ ซิโนแวค + แอสตร้าเซนเนก้า ให้เข้ารับเข็มกระตุ้นด้วยแอสตร้าฯ ส่วนผู้ฉีดซิโนฟาร์ม 2 เข็มให้ตามด้วยแอสตร้าฯ ทั้งนี้ ขอให้ฉีดตามคำแนะนำของคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคแนะนำ เพื่อการบริหารจัดการวัคซีนอย่างเหมาะ และมีประสิทธิภาพสูงสุดสมต่อไป

 

 

เมื่อถามว่าการบริหารให้เป็นโรคประจำถิ่น คาดว่าจะต้องทำให้ได้ในปีนี้หรือไม่ และการรักษาจะยังฟรีหรือไม่ นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า เราก็มีความพยายามบริหารสถานการณ์ให้ได้ภายในปีนี้ โดยเรามีเป้าหมายการฉีดวัคซีนแล้ว ตอนนี้ก็สะสมกว่า 137 ล้านโดส คิดเป็นเข็มที่ 2 ครอบคลุมประมาณ 70-75% ส่วนผู้ที่ยังไม่ได้รับเข็มแรก ก็ขอให้มารับวัคซีนเพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มของตนเอง อย่างไรก็ตาม การรักษาพยาบาลหลังมีการปรับให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่น รัฐบาลก็ดูแลผู้ติดเชื้อได้ตามสิทธิการรักษาที่แต่ละท่านมี เช่น ประกันสังคม บัตรทอง

 

“การจะประกาศเป็นโรคประจำถิ่นต้องดูสอดคล้องกับการระบาดด้วย ต้องเป็นการระบาดทั่วไป แต่ตอนนี้ยังระบาดทั่วโลก ยังเป็นโรคติดต่ออันตราย ดังนั้นกระบวนการทางกฎหมายต้องถอดโควิดออกจากโรคติดต่ออันตรายให้เป็นโรคติดต่อทั่วไปก่อน เพื่อให้เกิดความพร้อม หากเราทำได้ ก็จะทำให้ประชาชนรู้ว่า โรคนี้ไม่ร้ายแรง อาจเกิดขึ้นได้เป็นครั้งคราว” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

 

เมื่อถามต่อว่าการจะปรับให้เป็นโรคประจำถิ่น จะต้องรอการประกาศจากองค์การอนามัยโลก(WHO) หรือไม่ นพ.เกียริตภูมิ กล่าวว่า เรามีแนวทางเพื่อจะบริหาร ไม่เช่นนั้นก็ต้องรอให้มีการประกาศ ซึ่งก็จะไม่เป้าหมาย แต่หากเรามีหลักการแล้วดำเนินการให้ตรงเป้าหมาย เช่น 3 เดือนแรกจะต้องทำอะไรบ้าง แล้วต่อไปทำอะไรบ้าง

 

“ถ้าเรารอประกาศจาก WHO เราก็ทำไม่ทัน ซึ่งเราก็ทำมาเองตลอด บางอย่างที่เป็นกฎหมาย เราต้องรอ แต่บางเรื่องเราก็สามารถทำเองได้” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

 

เมื่อถามว่า การเป็นโรคประจำถิ่นจำเป็นต้องไม่พบผู้เสียชีวิตหรือไม่ นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า มีเสียชีวิต แต่ต้องไม่มาก อย่างไข้เลือดออกก็ยังมีผู้เสียชีวิต อย่างกรณีโควิดก็ประมาณ 1 ต่อพันราย แต่ทั้งหมดก็ต้องพิจารณารายละเอียด และจะมีการกำหนดเกณฑ์ตัวเลขออกมาอีกครั้ง

 

ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า เมื่อเป็นโรคประจำถิ่นแล้ว ก็ควรต้องมีการสวมใส่หน้ากากอนามัยต่ออีกหรือไม่ ปลัดสธ. กล่าวว่า ยังควรมีการสวมใส่ หรืออาจจะต้องสวมในคนที่ป่วย แต่ทั้งหมดต้องรอการพิจารณา เพราะจะมีมาตรการตามมาอีกครั้ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง