รีเซต

เขตสุขภาพระดมฉีด 1 แสนโดส/วัน สธ.ล็อกเป้าเปิด 10 จว. 1 พ.ย. วัคซีน 50%

เขตสุขภาพระดมฉีด 1 แสนโดส/วัน สธ.ล็อกเป้าเปิด 10 จว. 1 พ.ย. วัคซีน 50%
มติชน
28 กันยายน 2564 ( 16:12 )
24
เขตสุขภาพระดมฉีด 1 แสนโดส/วัน สธ.ล็อกเป้าเปิด 10 จว. 1 พ.ย. วัคซีน 50%

 

เมื่อวันที่ 28 กันยายน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการเตรียมการเปิดเมืองรับการท่องเที่ยวในระยะแรกพื้นที่สีฟ้า 10 จังหวัด ว่า สธ.ได้มีการประสานกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) เพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวในพื้นที่สีฟ้าตามนโยบายรัฐบาลในช่วงวันที่ 1-30 พฤศจิกายน 2564 เตรียมการกำหนดลักษณะพื้นที่ความพร้อมด้านสถานการณ์ คือ ต้องมีความครอบคลุมวัคซีนระดับจังหวัด ร้อยละ 50 กลุ่มเป้าหมาย 608 ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค และหญิงตั้งครรภ์ให้ได้อย่างน้อย ร้อยละ 80 มีศักยภาพรองรับผู้ป่วยอย่างเพียงพอ อัตราครองเตียงของผู้ป่วยไม่เกิน ร้อยละ 80 มีการเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง มีผู้ติดเชื้อไม่เกิน 5-10 รายต่อแสนประชากรต่อวัน โดยใช้ค่าเฉลี่ยรายสัปดาห์ และการบริหารจัดการ ส่วนความพร้อมด้านบริหารจัดการ มีการร่วมมือทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน มีแผนบริหารจัดการ บริหารทรัพยากร มีทีมสอบสวนควบคุมโรครองรับกรณีเกิดการระบาด มีระบบกำกับติดตามและเชื่อมโยงกับศูนย์บัญชาการจังหวัด และมีการประเมินทุกสัปดาห์ก่อนที่จะดำเนินการได้

 

 

“แต่ละจังหวัดจะมีการกำหนดพื้นที่เฉพาะ พื้นที่นี้จะต้องมีความครอบคลุมวัคซีนร้อยละ 70 กลุ่ม 608 ได้ ร้อยละ 80 ส่วนพื้นที่ที่จะมีการเปิดให้ทำกิจกรรม/กิจการที่รองรับนักท่องเที่ยว จะต้องมีวัคซีนครอบคลุมอย่างน้อย ร้อยละ 80 มีการเฝ้าระวังต่อเนื่อง ให้ไม่พบผู้ติดเชื้อในกิจการ/กิจกรรมในช่วง 14 วันที่ผ่านมา โดยพื้นที่ที่กำหนดเป็นโควิด ฟรี โซน (Covid Free Zone) เช่น จ.ชลบุรี ต้องวัคซีนครอบคลุมจังหวัด ร้อยละ 50 ลงถึงเมืองพัทยาก็ต้อง ร้อยละ 70 และถ้าเป็นพัทยาใต้ที่จะให้ทำกิจการ/กิจกรรมต้องได้ ร้อยละ 80 เป็นพื้นที่สีฟ้า รวมถึงดำเนินการทำบับเบิล แอนด์ ซีล เป็นซีล รูท เช่น ลงเครื่องบินที่สนามบินอู่ตะเภา หรือสุวรรณภูมิ แล้วไม่แวะที่ไหน” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

 

 

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวถึงการดำเนินการฉีดวัคซีนในพื้นที่ที่จะเป็นสีฟ้าแต่วัคซีนยังไม่ถึงเป้าว่า สถานการณ์วัคซีนของประเทศไทยดีขึ้นตามลำดับ ซึ่งเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2564 วันมหิดล มีการรณรงค์ฉีดวัคซีนได้ 1 ล้านโดส เป็นการทดสอบระบบว่า ศักยภาพทำได้หรือไม่ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าศักยภาพทำได้ คิดเป็นราวร้อยละ 70-80 ของศักยภาพเท่านั้น ถ้ามีการเร่งก็จะฉีดได้มากกว่านี้ ซึ่งในเดือนตุลาคม-ธันวาคมนี้ จะมีวัคซีนเข้ามาค่อนข้างมาก เฉพาะที่รัฐจัดหาเดือนตุลาคม 24 ล้านโดส เดือนพฤศจิกายน 23 ล้านโดส และเดือนธันวาคม 24 ล้านโดส จะต้องฉีดกันเกือบวันละ 1 ล้านโดส และเมื่อรวมกับวัคซีนทางเลือกซิโนฟาร์มอีกที่เข้ามาในปีนี้รวม 50 ล้านโดส และวัคซีนโมเดอร์นาอีก 2 ล้านโดส ปีนี้ก็จะมีวัคซีนเข้ามาราว 178 ล้านโดส ก็ต้องฉีดผ่านสถานพยาบาลในสังกัด สธ.

 

 

“ซึ่งในส่วนของภูมิภาคก็จะมีความคล่องตัวในการฉีดวัคซีน อย่างเช่น หากมี 1.5 ล้านโดส ก็อาจจะฉีดเขตสุขภาพละ 1 แสนกว่าโดสต่อวัน เฉลี่ยถึงจังหวัดอาจจะไม่ค่อยมาก และมีการขยายฐานฉีดวัคซีนในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.) เพื่อฉีดเชิงรุกในชุมชนมากขึ้น ก็จะมีการเร่งเครื่องฉีดเต็มที่ พื้นที่ที่จะเป็นโควิด ฟรี แอเรีย (Covid Free Area) จังหวัดต้องพิจารณาว่ามีกี่อำเภอ ตำบล พื้นที่ แล้วส่งข้อมูลให้ สธ. ก็พร้อมส่งเสริมสนับสนุนในการดำเนินการ เพราะฉะนั้น ในระยะแรกที่จะกำหนด ก็น่าจะเป็นพื้นที่การท่องเที่ยว ธุรกิจ การค้า พื้นที่สำคัญ ก็ต้องขีดวงพื้นที่ และประเมินว่าวัคซีนได้เท่าไร ก็จะต้องมีความครอบคลุมของวัคซีนเป็นหลัก และสามารถจัดบริการในแบบโควิด ฟรี เซ็ตติ้ง (Covid free Setting) มีการดำเนินการเรื่องเฮลท์ พาส (Health Pass) แล้ว เหล่านี้เป็นนิว มอร์มอล (New normal) ที่จะดำเนินการต่อไป ก็ต้องทำให้ได้อย่างดี เพราะไม่อยากให้สถานการณ์ต้องกลับมาปิดบ้านปิดเมืองอีกแล้ว แต่ขณะนี้ประชาชนเข้าใจในการดูแลตัวเองมากขึ้น” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง