รีเซต

ไต้หวันและทั่วโลกเตรียมก้าวเข้าสู่ “เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิ เป็นศูนย์ (Net Zero Emissions)” ในอนาคต

ไต้หวันและทั่วโลกเตรียมก้าวเข้าสู่ “เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิ เป็นศูนย์ (Net Zero Emissions)” ในอนาคต
มติชน
27 ตุลาคม 2564 ( 11:25 )
28

เมื่อเดือนสิงหาคม 2021 ที่ผ่านมานี้ คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change, IPCC) เผยแพร่รายงานการประเมินครั้งที่ 6 (The Sixth Assessment Report หรือ AR6) ของคณะทำงานกลุ่มที่ 1 (Working Group 1) ว่าด้วย “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” รายงานฉบับนี้เผยให้เห็นถึงความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศโลกทำสถิติสูงสุดใหม่อย่างต่อเนื่อง พิสูจน์ให้เห็นว่ากิจกรรมของมนุษย์ทำให้ชั้นบรรยากาศ มหาสมุทรและแผ่นดินร้อนมีอุณหภูมิสูงขึ้น ซึ่งหลายประเทศต้องเผชิญภัยพิบัติทางภูมิอากาศ เช่น พายุฤดูหนาวสร้างความเสียหายให้กับระบบพลังงานของรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกาอย่างรุนแรง แนวชายฝั่งตะวันตกของทวีปอเมริกาเหนือมีอุณหภูมิสุงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 50 องศาเซลเซียส ฝนตกหนักจนทำให้เกิดน้ำท่วมรุนแรงในพื้นที่ยุโรปตะวันตก ไทยและจีน ไต้หวันก็ประสบกับภัยแล้งขั้นรุนแรงที่สุดและมีฝนตกหนักอย่างผิดปกติในรอบกว่า 50 ปีที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงกลายเป็นความท้าทายระดับโลก

 

ในปี 2020 พื้นที่เอเชียแปซิฟิกได้กลายเป็นเขตภัยพิบัติมากที่สุดในโลก สหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ (The International Federation of Red Cross and Red Crescent Societies, IFRC) ได้บันทึกภัยพิบัติทางภูมิอากาศ 24 เหตุการณ์ ซึ่งประกอบด้วย อุทกภัย พายุไต้ฝุ่น อากาศที่หนาวจัดและภัยแล้ง จนถึงขณะนี้ อุทกภัยเป็นภัยธรรมชาติรุนแรงที่สุดสำหรับประเทศไทย และประเทศไทยยังติดอันดับ 1 ใน 10 ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยมากที่สุด นอกจากนี้ ภัยแล้งและพายุไซโคลนเริ่มส่งผลกระทบเชิงลบมากขึ้น เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมที่สำคัญในเขตร้อน อัตราการผลิตทางการเกษตรมีความเกี่ยวเนื่องกับสภาพอากาศที่แปรปรวนอย่างใกล้ชิด สภาพอากาศที่ผิดปกติในรูปแบบต่างๆ เช่น พายุไซโคลนกำลังแรง ปริมาณน้ำฝนที่ผิดปกติ ภัยแล้งและอุทกภัยที่รุนแรง เป็นต้น จะเกิดขึ้นบ่อยขึ้นและรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต

 

รายงานล่าสุดของ IPCC ได้ระบุว่า เหตุการณ์อุณหภูมิเฉลี่ยโลกเพิ่มขึ้นถึง 1.5 องศาเซลเซียส เนื่องจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะเกิดขึ้นระหว่างปี 2025 ถึง 2044 ซึ่งเร็วกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ อีกทั้งภาวะสภาพอากาศสุดขั้วจะเกิดขึ้นและมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น ความเป็นไปได้หนึ่งเดียวที่จะควบคุมไม่ให้อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น คือ การบรรลุการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 ในปัจจุบัน กว่า 130 ประเทศทั่วโลกได้ประกาศว่าจะบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ (net zero) “เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050” คือประเด็นหลักของการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(United Nations Framework Convention on Climate Change, UNFCCC) สมัยที่ 26 หรือ COP 26 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 ต.ค. – 12 พ.ย. นี้ ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร เพื่อแสดงความมุ่งมั่นในการลดการปล่อยคาร์บอนของไต้หวัน เมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ปธน.ไช่อิงเหวิน ประกาศว่า ไต้หวันได้ตั้งเป้าหมายและแนวทางปฏิบัติเพื่อบรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 เมื่อเดือน ส.ค. นายซูเจินชาง นายกรัฐมนตรี สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ยังประกาศแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับ “เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050” ส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อเดินหน้าเศรษฐกิจสีเขียว คาร์บอนต่ำ และคาร์บอนเป็นศูนย์ โดยการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คน กระบวนการผลิตและการใช้ทรัพยากรของภาคเอกชน เพื่อให้ทันกับความคืบหน้าของการลดคาร์บอนในระดับสากล

สหประชาชาติ (UN) ยังคงเรียกร้องให้ทุกประเทศดำเนินการตามข้อตกลงปารีส เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเคร่งครัด ถึงแม้ว่าไต้หวันยังไม่สามารถเสนอแผนปฏิบัติการด้านสภาพอากาศในการประชุม COP26 แต่ไต้หวันจะยังคงดำเนินตามเจตนารมณ์และเสริมสร้างความร่วมมือกับประเทศต่างๆ ในหลายๆ ด้าน เพื่อแสดงความมุ่งมั่นที่จะมีส่วนร่วมของไต้หวัน ดังนี้

1. การกำกับดูแลสิ่งแวดล้อม

ไต้หวันประสบความสำเร็จในธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมและขับเคลื่อนกฎหมาย ไต้หวันยินดีที่จะแบ่งปันประสบการณ์กับประเทศอื่น ๆ ขณะนี้กำลังช่วยเหลือปาเลาในการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่มีการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ หรือ การท่องเที่ยวแบบคาร์บอนนิวทรัล (Carbon Neutral Tourism) จัดทำเครื่องคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint Calculator) เครื่องแรกของโลก และวางแผนการชดเชยคาร์บอน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ (Nationally Determined Contribution, NDC)

2. การป้องกันและแจ้งเตือนภัยพิบัติ

ไต้หวันส่งเสริมระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) และระบบตำแหน่งที่เกี่ยวข้องในละตินอเมริกาและแคริบเบียน และได้ช่วยเบลีซและนิการากัวยกระดับเทคโนโลยีความสามารถในการลดภัยพิบัติและการเตือนภัยล่วงหน้า

3. ยกระดับประสิทธิภาพพลังงาน

ไต้หวันใช้เทคโนโลยีในการยกระดับประสิทธิภาพพลังงานและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาอย่างยาวนาน ปัจจุบันได้ให้ความช่วยเหลือหมู่เกาะมาร์แชลล์ในการจัดทำ “โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในครัวเรือนและพลังงานหมุนเวียน” โดยการถ่ายทอดเทคโนโลยีพลังงานสีเขียว และลดอัตราการใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิลที่ทำให้เกิดมลพิษ

4. การเงินสีเขียว (Green Financing) และนวัตกรรมทางเทคโนโลยี

พลังงานสีเขียวของไต้หวันมีความเข้มแข็ง และมีการส่งเสริมการลงทุนและถ่ายทอดเทคโนโลยีโดยการจัดหาเงินทุนด้านสภาพภูมิอากาศระหว่างประเทศ ขณะนี้กองทุนเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของไต้หวัน (International Cooperation and Development Fund ,Taiwan ICDF) ได้มอบเงินทุน จำนวน 55 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้แก่ธนาคารยุโรปเพื่อการบูรณะและการพัฒนา (European Bank for Reconstruction and Development, EBRD) เพื่อช่วยเหลือประเทศในยุโรปตะวันออกและเอเชียกลางในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ยกระดับความสามารถการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงและเสริมสร้างความเข็มแข็งด้านสภาพอากาศ
ไต้หวันได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมาก ด้วยเหตุนี้จึงได้มีผู้เชี่ยวชาญสาขาดังกล่าวจำนวนมากและมีการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ไต้หวันยินดีแบ่งปันประสบการณ์และความรู้ให้กับประชาคมโลก อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปัจจัยทางการเมือง จนถึงตอนนี้ ไต้หวันสามารถเข้าร่วมการประชุมในฐานะผู้สังเกตการณ์องค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) เท่านั้น การต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องที่ทุกประเทศต้องร่วมมือกันและดำเนินการเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในทิศทางเดียวกันอย่างขมีขมัน ไต้หวันไม่เคยละทิ้งความรับผิดชอบในเรื่องนี้ และควรได้รับโอกาสเข้าร่วมกลไกการลดคาร์บอน การเจรจาต่อรอง และกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับข้อตกลงปารีสอย่างเท่าเทียมกัน เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังนั้น พวกเราขอเรียกร้องให้ทุกประเทศอย่ามองเฉพาะปัจจัยทางการเมือง ควรร่วมกันสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วม UNFCCC อย่างมืออาชีพและเป็นประโยชน์ ให้ไต้หวันมีส่วนช่วยในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกับประเทศทั่วโลก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง