รีเซต

เมกกะเทรนด์โลก 2022

เมกกะเทรนด์โลก 2022
มติชน
1 มกราคม 2565 ( 01:24 )
75

กาลเวลาผ่านไปอะไรๆก็ย่อมเปลี่ยนแปลง แต่ในยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ยิ่งทำให้สิ่งต่างๆเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วจนแทบตามไม่ทัน การเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นจะเป็นแค่เทรนด์ใหม่ตามกระแส หรือจะกลายเป็นความปกติใหม่ในอนาคต ก็ต้องลองติดตามเทรนด์เหล่านี้ว่าจะเป็นเทรนด์ที่ส่งผลในระดับโลกหรือเม็กกะเทรนด์แห่งปี 2022 ตามที่คาดหรือไม่

เมตาเวิร์ส โลกใบที่สองของมนุษย์
ในอนาคตการทำงาน ใช้ชีวิต พบปะเพื่อนฝูง ซื้อเสื้อผ้าหรือแม้กระทั่งไปคอนเสิร์ตในโลกเสมือนจริงอย่างเมตาเวิร์สคงไม่เกินจริง เมตาเวิร์สคือ โลกเสมือนจริงที่ผู้คนสามารถมีปฏิสัมพันธ์ผ่านทางอินเทอร์เน็ต โดยการใช้ความเป็นจริงเสมือน (วีอาร์) หรือเทคโนโลยีโลกเสมือนผสานโลกแห่งความจริง (เออาร์) และใช้อุปกรณ์เชื่ือมต่ออย่างแว่นวีอาร์และหูฟัง ขณะนี้บริษัทด้านเทคโนโลยีหลายแห่ง ซึ่งรวมถึงเมต้า บริษัทแม่ของเฟซบุ๊กได้ทุ่มงบหลายพันล้านดอลลาร์ในการพัฒนาโลกเสมือนจริงนี้ และมีแผนที่จะจ้างพนักงานมากถึง 10,000 คนเพื่อพัฒนาเมตาเวิร์สที่ยุโรปเป็นเวลา 5 ปีอีกด้วย ในยุคสมัยต่อไป เมตาเวิร์สจะมีความสำคัญมากเพราะผู้คนจะเข้าไปใช้ชีวิตอยู่ในโลกนั้น ซึ่งทำให้รูปแบบการซื้อขายสินค้าเปลี่ยนแปลงไป การขายเสื้อผ้าที่สามารถมองเห็นในทุกด้านและให้ตัวอวาตาร์ลองสวมใส่เสื้อผ้าก่อนซื้อ หรือการซื้อ-ขายทรัพย์สินและอสังหาบนโลกดิจิทัลเหมือนที่เราเห็นในเกมต่างๆ และการเกิดโรคระบาดก็ยิ่งทำให้ผู้คนย้ายไปใช้เวลาในโลกเสมือนมากขึ้น ในช่วงที่ผ่านมามีทั้งการจัดงานแต่งในเกม animal crossing หรือจัดงานรับปริญญาในเกม Minecraft ในอนาคตราว 10-15 ปี เราอาจมีตัวตนที่ 2 อยู่ในโลกเสมือนอย่างเมตาเวิร์สก็เป็นได้

ยานยนต์ไฟฟ้า ยานพาหนะแห่งอนาคต
แนวโน้มโลกในปัจจุบันที่ประชาชนมีความตระหนักในเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้นและการที่รัฐบาลหลายประเทศพยายามส่งเสริมเรื่องการลดการปล่อยคาร์บอน ทำให้ยานพาหนะไฟฟ้าเป็นคำตอบของการเดินทางในยุคนี้และอนาคต ยานพาหนะไฟฟ้า คือยานพาหนะที่ใช้พลังงานไฟฟ้า 100% ในการขับเคลื่ือนและสามารถชาร์จไฟได้สม่ำเสมอเมื่อแบตเตอร์รี่หมดเหมือนกับโทรศัพท์มือถือของเรา โดยมีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2035 ตลาดรถยนต์จะเป็นตลาดรถยนต์ไฟฟ้า เนื่องด้วยความตระหนักและเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่รัฐบาลหลายชาติพยายามผลักดัน อย่างญี่ปุ่นภาครัฐก็ให้เงินสนับสนุนงานวิจัยพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าในประเทศและให้เงินสนับสนุน ลด หรือยกเว้นภาษีผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า และมีนโยบายนำรถคันเก่ามาแลกซื้อรถยนต์ไฟฟ้าคันใหม่ด้วย ส่วนประเทศไทยมีการประกาศว่าจะลดภาษีรถยนต์ไฟฟ้าและรัฐให้เงินอุดหนุน 150,000 บาทต่อคัน อย่างไรก็ตามหากพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ไม่ใช่พลังงานสะอาด การใช้ยานพาหนะไฟฟ้าคงไม่ทำให้มนุษย์ไปสู่เป้าหมายคาร์บอนเป็นศูนย์ในปี 2050 ได้

เนื้อที่ไม่ใช้เนื้อ
แม้การบริโภคเนื้อที่ทำจากพืชยังไม่ได้รับความนิยมในไทยมากนักแต่ในหลายประเทศตะวันตก ซึ่งรวมถึงสหรัฐอเมริกา การบริโภคเนื้อที่ไม่ได้ผลิตมาจากเนื้อสัตว์เป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปและเพิ่มมากขึ้น ต้องขอบคุณที่ผู้ผลิตสามารถทำให้รสชาติและผิวสัมผัสเหมือนเนื้อจริงอย่างมาก ขณะที่เนื้อที่ทำจากพืชมีการพัฒนาคุณภาพและมีราคาที่ถูกลง ความต้องการบริโภคก็สูงขึ้นตามมา ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากความตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพราะการเลี้ยงสัตว์เพื่อบริโภคคิดเป็น 14.5% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ ล่าสุดคาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดเนื้อที่ทำจากพืชจะอยู่ที่ 35,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2027 เพิ่มขึ้นจาก 13,500 ล้านดอลลาร์ในปี 2020 นายเดวิด บีชิริ ประธานบริษัทรับให้คำปรึกษา Fabernovel ของสหรัฐระบุว่า ปี 2022 จะเป็นปีแห่งอาหารที่ทำจากโปรตีนพืช เนื่องจากสินค้าพัฒนาอย่างเต็มที่และมีคุณภาพแล้ว และเนื้อที่ทำจากพืชกำลังจะเป็นอาหารหลักของมนุษย์

เว็บ3.0และคริปโตเคอร์เรนซี
ยุคแรกของอินเตอร์เน็ตก่อให้เกิดเว็บไซต์และบล็อกต่างๆ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของบริษัทขนาดใหญ่อย่าง Yahoo eBay หรือ Amazon ได้ส่วนยุคเว็บ 2.0 เป็นยุคของโซเชียลมีเดียและการสร้างคอนเทนต์บนโลกออนไลน์ บนเว็บไซต์อยางเฟซบุ๊กและยูทูบ ส่วนเว็บ 3.0 เป็นเหมือนการปฏิวัติที่เกิดขึ้นได้ด้วยเทคโนโลยีบล็อคเชน ที่ซึ่งโปรแกรมคอมพิวเตอร์ทำงานบนเครือข่ายของคอมพิวเตอร์หลายพันหรือหลายล้านเครื่อง จนถึงตอนนี้บล็อกเชนทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของสกุลเงินดิจิทัล อย่าง บิตคอยน์ หรืออีเธอเลียม และเมื่อไม่นานนี้ ภาพศิลปะเอ็นเอฟที หรือ non-fungible token ซึ่งคือสินทรัพย์ในรูปแบบดิจิทัล อย่างเช่นภาพวาด เพลง รูปถ่ายหรือวิดิโอ ซึ่งถูกเก็บรักษาไว้ในบล็อกเชนที่จะทำหน้าที่กำหนดความเป็นเจ้าของสินทรัพย์นั้นๆ ก็ได้รับความนิยมมากขึ้น โดยมีศิลปินทำผลงานเป็นรูปแบบเอ็นเอฟทีมากขึ้นเรื่อยๆ และเกิดการประมูลภาพเอ็นเอฟทีบนเว็บประมูลหรือที่สำนักประมูลเป็นประจำในปัจจุบัน “เราพูดกันมากเกี่ยวกับการกระจายอำนาจทางการเงิน แต่ฉันคิดว่าในปี 2022 เราจะเห็นการกระจายสู่ท้องถิ่นมากขึ้นซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน” นายเดวิด บีชิริจากบริษัทที่ปรึกษา Fabernovel กล่าว

ไฮเปอร์ลูป รถไฟแห่งโลกอนาคต
การเดินทางจากลอสแอนเจลิสไปซานฟรานซิสโก (560 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ภายใน 35 นาทีอาจไม่ใช่แค่ความฝันอีกต่อไป หากไฮเปอร์ลูปเป็นจริงขึ้นมา ไฮเปอร์ลูป เป็นระบบขนส่งมวลชนรูปแบบใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยแรงแม่เหล็กไฟฟ้าและเดินทางผ่านท่อสูญญากาศ โดยยานพาหนะที่เรียกว่าแคปซูล ในสภาพแวดล้อมที่มีแรงดันและแรงเสียดทานต่ำ และจากการคำนวนคาดว่า ไฮเปอร์ลูปสามารถทำความเร็วได้มากถึง 1,220 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเลยทีเดียว ส่วนผู้ที่มีความคิดริเริ่มเรื่องไฮเปอร์ลูปคือ อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีพันล้านผู้ก่อตั้งบริษัทเทสลาและสเปซเอ็กซ์ โดยเขาอนุญาตให้บริษัทอื่นๆนำแนวคิดนี้ไปพัฒนาต่อไป สำหรับบริษัทที่พัฒนาไฮเปอร์ลูปจนดูใกล้ความจริงที่สุดก็คงจะเป็น บริษัทเวอร์จิน ไฮเปอร์ลูป วัน ที่ได้ทำการทดสอบไฮเปอร์ลูปพร้อมผู้โดยสารแล้ว แม้จะเป็นระยะเพียง 390 เมตรก็ตาม อย่างไรก็ตามคาดว่าไฮเปอร์ลูปต้องใช้เวลาในการพัฒนาอีกระยะหนึ่งเนื่องจากการสร้างไฮเปอร์ลูปใช้เงินเยอะราว 121 ล้านดอลลาร์ต่อหนึ่งไมล์และหากเกิดความเสียหายเพียงเล็กน้อย อย่างท่อมีรอยรั่วก็ทำให้เกิดหายนะได้เลย ไฮเปอร์ลูปจะเป็นจริงเมื่อไหร่คงต้องเอาใจช่วยนักพัฒนากันต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง