ปลูกถั่วพูด้วยเมล็ด กี่วันออกผล ลูกดกไหม | บทความโดย Pchalisa ใครที่ชอบทานผักสวนครัวปลูกเอง คงจะคุ้นเคยกับถั่วพูนะคะ ถั่วพูผักสวนครัวที่ปลูกง่าย โตไว และให้ผลผลิตตลอดทั้งปีค่ะ ซึ่งการปลูกถั่วพูด้วยเมล็ดเป็นวิธีที่นิยมและประหยัดต้นทุน เพราะสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์จากการเพาะปลูกครั้งก่อนมาใช้ได้เรื่อยๆ แต่หลายคนก็อาจจะยังสงสัยอยู่ว่า ถั่วพูที่ปลูกเองจะออกผลเร็วแค่ไหน? และจะได้ผลผลิตมากน้อยเพียงใด? ในบทความนี้ผู้เขียนมีคำตอบมาให้แล้วค่ะ จากที่เป็นคนที่ปลูกถั่วพูหน้าบ้านเองเลย และเก็บเมล็ดพันธุ์จากปีที่แล้วเอามาไว้ปลูกค่ะ และเนื้อหาในบทความนี้ได้จาก การปลูกถั่วด้วยเมล็ดจากฝักแก่ที่เก็บเอาไว้เองค่ะ และหลายคนยังไม่รู้ว่า การปลูกถั่วพูจากเมล็ดนั้นง่ายกว่าที่คิด และใช้เวลาไม่นานก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตมาทานได้เองที่บ้านได้แล้วนะคะ น่าสนใจแล้วใช่ไหมคะ? งั้นอย่าช้าที่จะอ่านให้จบ เพราะอ่านจบแล้วรับรองว่ามองเห็นภาพ และสามารถนำไปปลูกตามได้เลยแน่นอนค่ะ เพราะผู้เขียนลองทำมาแล้วจริงๆ ดังเนื้อหาต่อไปนี้ ก่อนจะลงลึกว่าผู้เขียนปลูกถั่วพูแบบไหนนั้น เรามาก่อนนะคะว่า ถั่วพูจัดอยู่ในตระกูลถั่ว (Leguminosae) ซึ่งเป็นตระกูลของพืชที่มีความหลากหลาย และมีคุณประโยชน์ต่อทั้งคนเราและสิ่งแวดล้อมค่ะ ถั่วพูเป็นพืชที่ปลูกง่ายนะคะ ที่สามารถปลูกได้ทั้งในกระถางและในดิน โดยจากที่ผู้เขียนมีประสบการณ์มาตลอดนั้น จะเป็นการปลูกถั่วพูในดินบริเวณหน้าบ้านค่ะ ซึ่งพบว่า การดูแลรักษาไม่ได้ยุ่งยาก เพียงแค่ให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ ใส่ปุ๋ยบ้างตามอารมณ์และทรงผมค่ะ และตัวอย่างปุ๋ยที่ผู้เขียนได้นำมาใส่ ก็คือ ปุ๋ยคอกและนำเศษอาหารไปเทหมักใต้ดิน โดยให้ขุดหลุมและฝังตะกร้าที่มีรูกว้างลงไป จากนั้นก็นำเศษอาหารจากครัวของเรา มาเทลงและปิดฝาด้วยกระเบื้องเก่าค่ะ ซึ่งระยะเวลาที่ถั่วพูออกผลขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยค่ะ เช่น ชนิดของพันธุ์ถั่วพู สภาพอากาศ การดูแลและปัจจัยอื่นๆ แต่โดยทั่วไปแล้ว ถั่วพูจะเริ่มออกดอกและติดฝักได้เมื่ออายุประมาณ 2 เดือน หลังจากปลูกลงดิน โดยพันธุ์ที่เติบโตเร็วอาจให้ผลผลิตเร็วกว่าพันธุ์ที่เติบโตช้า อุณหภูมิที่เหมาะสมและปริมาณน้ำฝนที่เพียงพอ จะช่วยเร่งการเจริญเติบโตของถั่วพูได้ จากข้อมูลตรงนี้ทำให้ผู้เขียนได้ตัดสินใจ และปลูกถั่วพูหน้าบ้านในช่วงต้นฤดูฝนค่ะ และการให้น้ำและปุ๋ย การกำจัดวัชพืช และการทำค้างจะช่วยให้ถั่วพูเจริญเติบโตได้ดีและให้ผลผลิตมากขึ้นนะคะ สำหรับผู้เขียนนั้นด้านหน้ามีการยึดลวดถักเอาไว้แล้ว เลยง่ายมากที่ต้นถั่วพูจะเลื้อยขึ้นเองตามธรรมชาติค่ะ คล้ายๆ ทำสวนผักแนวตั้งนะคะ และเชื่อไหมคะว่า? เมื่อปีที่แล้วต้นถั่วพูก็ให้ลูกดกมาก สามารถเก็บได้ตลอดหลังจากที่ออกฝัก มีถั่วพูเอาไว้แบ่งปันเพื่อนบ้านได้ ทำให้มีผักสดเอาไว้ทานได้ตลอดจนถึงระยะที่ต้นถั่วพูตายไปค่ะ ส่วนมากผู้เขียนชอบเก็บมาทานเป็นผักสดค่ะ ก็ง่ายมาก นึกอยากได้ถั่วพูตอนไหน ก็แค่เดินไปหน้าบ้านและเก็บ ต่อจากนั้นก็นำมาล้างให้สะอาดก่อนนำมาทานค่ะ ซึ่งในบางช่วงที่มีถั่วพูมากและทานไม่ทัน ผู้เขียนมักจะเก็บมาใส่ตู้เย็นเอาไว้ค่ะ วิธีทำให้ถั่วพูออกดอกดก ติดฝักดี เก็บกินได้นาน เลือกพันธุ์ที่เหมาะสม ได้แก่ พันธุ์พื้นเมือง มักจะทนทานต่อสภาพอากาศและโรคแมลงได้ดี หรือพันธุ์ลูกผสม ให้ผลผลิตสูง รสชาติหวานกรอบ แต่ต้องระวังเรื่องการเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกต่อ สำหรับผู้เขียนนั้นได้พันธุ์ถั่วพูครั้งแรกสุดเลยคือ แม่ของผู้เขียนปลูกที่สวนค่ะ จากนั้นแม่ส่งต่อฝักแก่มาให้ปลูก เตรียมดินให้ดี ตอนปลูกถั่วพูถ้าจะให้ดีนั้น ให้ขุดดินให้ลึกหน่อยค่ะ เพื่อให้รากถั่วพูแผ่ขยายได้ดี สำหรับผู้เขียนขุดลึกได้ประมาณ 10 เซนติเมตรค่ะ ตามพื้นที่ที่เป็นไปได้ จากนั้นให้ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักด้วย เพื่อช่วยปรับปรุงโครงสร้างดินและเพิ่มธาตุอาหาร และกำจัดวัชพืช เพื่อลดการแย่งอาหารและน้ำในดินของเรานะคะ ให้ปลูกห่างกันประมาณ 30-40 เซนติเมตร ค่ะ เพื่อให้ต้นถั่วพูได้รับแสงแดดและอากาศถ่ายเทสะดวกขึ้น การให้น้ำ ควรให้น้ำสม่ำเสมอ โดยเฉพาะในช่วงออกดอกและติดฝัก และให้หลีกเลี่ยงการให้น้ำมากเกินไป เพราะอาจทำให้รากเน่าได้ค่ะ การทำค้างสำคัญ เพราะการทำแบบนี้มีส่วนช่วยให้ต้นถั่วพูตั้งตรง ไม่โค้งงอ และได้รับแสงแดดอย่างทั่วถึงค่ะ ป้องกันโรคแมลง ด้วยการทำให้การระบายอากาศดีขึ้น และการไม่ปลูกถี่จนเกินไปช่วยได้ ซึ่งข้อนี้ผู้เขียนเกือบไม่ผ่าน เพราะต้นหนาแน่นมาก ทำให้ตอนนี้ต้องสังเกตอาการและตรวจสอบต้นถั่วพูเป็นประจำค่ะ เพราะมีเพลี้ยลง มีหนอน แต่ยังไม่ได้ฉีดพ่นยาฆ่าแมลงค่ะ เพราะอาศัยเพียงการตัดทิ้งของส่วนที่เกิดโรคพืช กับกำจัดแหล่งอาศัยของแมลงเท่านั้นค่ะ และในระหว่างที่เราดูแลต้นถั่วพูของเราไปตามแนวทางข้างต้นแล้วนั้น อีกอย่างที่จะลืมไม่ได้เลยก็คือ เก็บเกี่ยวเมื่อฝักแก่เอาไว้เป็นพันธุ์ของปีถัดไปค่ะ ซึ่งโดยส่วนมากแล้วผู้เขียนใช้หลักการง่ายๆ ค่ะ คือ ฝักไหนสวยจะเหลือฝักนั้นไว้ และจากที่สังเกตมานั้นผู้เขียน พบว่า การเก็บถั่วพูอย่างสม่ำเสมอ จะกระตุ้นให้เกิดการแตกยอดใหม่และออกดอกติดฝักอีกค่ะ ตลอดจนการตัดแต่งกิ่ง ก็มีส่วนช่วยให้ต้นถั่วพูแตกกิ่งก้านสาขาและออกดอกมากขึ้นได้ด้วย และทั้งหมดนั้นคือข้อมูลเกี่ยวกับการปลูกถั่วพูค่ะ ซึ่งเหตุผลแรกที่ทำให้ผู้เขียนปลูกก็เพราะว่า ตัวเองชอบงานอดิเรกที่เกี่ยวกับการปลูกผักค่ะ และการปลูกถั่วพูยังทำให้ผู้เขียนได้มีการออกกำลังกายไปในตัวด้วย จากที่ต้องไปขุดดิน พรวนดิน กำจัดวัชพืช ตัดแต่งกิ่งและรดน้ำเกือบทุกวัน และที่จะต้องพูดถึงเลยก็คือ การปลูกถั่วพูทำให้ผู้เขียนมีผักสดที่ปลอดสารพิษเอาไว้ทานในบ้านค่ะ แถมยังมีข้อมูลดีๆ เอามาส่งต่อให้คุณผู้อ่านได้อ่านเอาความรู้ด้วย พอจะมองภาพออกไหมคะ? จะเห็นได้ว่าการปลูกถั่วพูมีดีหลายต่อมาก ที่ถ้าจะพูดว่าการปลูกและการดูแลแสนจะง่าย จะบอกง่ายมาก ก. ไก่ ล้านตัว ก็ได้ค่ะ ดังนั้นอ่านมาขนาดนี้แล้ว ต้องลองไปปลูกถั่วพูกันค่ะทุกคน ซึ่งผู้เขียนหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับคุณผู้อ่านไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง หากชอบบทความแบบนี้อีก ก็อย่าลืมกดติดตามหรือกดบุ๊กมาร์กหน้าโปรไฟล์ไว้นะคะ เพราะจะได้ไม่พลาดบทความใหม่ๆ ที่จะได้นำมาเผยแพร่ในเร็วๆ นี้ค่ะ😁 เครดิตภาพประกอบบทความ ภาพหน้าปกโดยผู้เขียน ภาพประกอบเนื้อหา: ภาพที่ 1-2, 4 ถ่ายภาพโดยผู้เขียน และภาพที่ 3 โดย Pchalisa จาก Pixabay ออกแบบภาพหน้าปกใน Canva เกี่ยวกับผู้เขียน ภัคฒ์ชาลิสา จำปามูล ศึกษาเกี่ยวกับ: พยาบาลศาสตรบัณฑิต (B.N.S.) จากวิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม กระทรวงสาธารณสุข และสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต (อนามัยสิ่งแวดล้อม); M.P.H. (Environmental Health) จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น มีความสนใจและประสบการณ์เกี่ยวกับ: สุขภาพ จิตวิทยาเชิงบวก การจัดการน้ำเสียและสิ่งปฏิกูล บทความอื่นที่น่าสนใจโดย Pchalisa https://food.trueid.net/detail/3JnOz5bXgyKL https://intrend.trueid.net/post/406052 https://news.trueid.net/detail/WqR08JAzlVE7 เปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !