"หมอธีระ" เปิดข้อมูลสำคัญหลังติดเชื้อโควิด เสี่ยงเป็นโรคนี้มากขึ้น?
ศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด ผ่านทางเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat โดยระบุว่า
"30 สิงหาคม 2565...
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 366,625 คน ตายเพิ่ม 1,113 คน รวมแล้วติดไป 606,201,325 คน เสียชีวิตรวม 6,489,275 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รัสเซีย ไต้หวัน และสหรัฐอเมริกา
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 6 ใน 10 อันดับแรก และ 16 ใน 20 อันดับแรกของโลก
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 87.52 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 73.22
...สถานการณ์ระบาดของไทย
จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 10 ของโลก และอันดับ 5 ของเอเชีย แม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม
...ความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน หลังติดเชื้อโรคโควิด-19
เป็นที่ทราบกันจากงานวิจัยก่อนหน้านี้แล้วว่า หลังจากติดเชื้อโรคโควิด-19 ไปแล้ว จะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังต่างๆ ตามมา ทั้งความผิดปกติของสมองและระบบประสาท ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบทางเดินหัวใจ ระบบสืบพันธุ์ ระบบทางเดินอาหาร และอีกเรื่องที่สำคัญคือระบบต่อมไร้ท่อ
สำหรับระบบต่อมไร้ท่อนั้น เรื่องสำคัญที่ควรใส่ใจตนเองหลังติดเชื้อมาแล้วคือ ความเสี่ยงที่จะเกิดโรคเบาหวานที่จะเพิ่มขึ้น ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ เด็กที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 จะเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 (IDDM) เพิ่มขึ้นกว่าเด็กที่ไม่ติดเชื้อถึง 166% หรือ 2.66 เท่า
ผู้ใหญ่ที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 (NIDDM) สูงกว่าคนทั่วไปที่เคยมีประวัติดิดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนจากสาเหตุอื่นๆ ถึง 28% หรือ 1.28 เท่า
ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบอัตราอุบัติการณ์เบาหวานชนิดที่ 2 ที่เกิดขึ้นในผู้ใหญ่ที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 กับอัตราในผู้ใหญ่ทั่วไปที่มีอายุเฉลี่ยพอๆ กัน ซึ่งเคยสำรวจในภูมิภาคตะวันตกเฉียงใต้ของเยอรมันเมื่อปี 2010 จะพบว่าเกิดเบาหวานมากกว่าถึง 81% หรือ 1.81 เท่า ความรู้ทางการแพทย์ในปัจจุบันนี้ ประเมินว่าอาจเกิดจาก 2 กลไกหลักคือ
หนึ่ง การที่ไวรัสโรคโควิด-19 นั้นเข้าไปโจมตีที่เบต้าเซลล์ในตับอ่อนโดยตรงตอนช่วงที่มีการติดเชื้อ (direct viral damage)
สอง หลังจากการติดเชื้อมาแล้ว กระตุ้นให้เกิดกระบวนการอักเสบในร่างกาย (inflammatory process) ที่ทำให้เกิดการทำลายเซลล์ตับอ่อนในระยะเวลาต่อมา
ทั้งนี้ยังไม่สามารถฟันธงได้ว่าเกิดจากกลไกใดกลไกหนึ่ง หรือทั้งสองร่วมกัน และยังไม่สามารถทราบได้ว่าความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานภายหลังจากที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 นั้นจะมีการเพิ่มขึ้น เท่าเดิม หรือลดลง ในการระบาดจากไวรัสโรคโควิด-19 ที่ต่างสายพันธุ์กันหรือไม่ มากน้อยเพียงใด และความเสี่ยงนั้นจะคงอยู่ยาวนานไปเท่าใดเมื่อเทียบกับคนทั่วไป จำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม และติดตามกันต่อไป
แต่ที่ทราบตอนนี้คือ คนที่ติดเชื้อมาก่อน จะเสี่ยงต่อโรคเบาหวานมากขึ้นกว่าคนทั่วไป ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ และไม่ว่าจะติดเชื้อตอนแรกจะมีอาการน้อยหรือรุนแรงก็ตาม
หากแปรความรู้ที่มี ไปสู่คำแนะนำในการปฏิบัติตัวสำหรับประชาชน คงพอจะแนะนำได้ว่า หลังจากที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 แล้ว ควรหมั่นประเมินสุขภาพของตนเอง สังเกตอาการผิดปกติต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากภาวะ Long COVID ทั้งร่างกาย ความคิด อารมณ์ และควรไปตรวจสุขภาพเป็นระยะตามสมควรด้วย
ดังนั้นการป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อย่อมดีที่สุด ...การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก..."
ที่มา Thira Woratanarat
ภาพจาก AFP/รอยเตอร์