รีเซต

ปี’65 กรมชลฯ ทุ่ม 1.39 หมื่นล้าน ซ่อม-สร้างแหล่งน้ำเพิ่ม พร้อมจ้างงานเกษตรกร 7.5 หมื่นคน มีรายได้สูงสุด 8.7 หมื่น/ราย

ปี’65 กรมชลฯ ทุ่ม 1.39 หมื่นล้าน ซ่อม-สร้างแหล่งน้ำเพิ่ม พร้อมจ้างงานเกษตรกร 7.5 หมื่นคน มีรายได้สูงสุด 8.7 หมื่น/ราย
ข่าวสด
24 มกราคม 2565 ( 19:59 )
61
ปี’65 กรมชลฯ ทุ่ม 1.39 หมื่นล้าน ซ่อม-สร้างแหล่งน้ำเพิ่ม พร้อมจ้างงานเกษตรกร 7.5 หมื่นคน มีรายได้สูงสุด 8.7 หมื่น/ราย

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปี 2565 กรมชลประทานได้รับจัดสรรงบประมาณ รายจ่ายลงทุน จำนวน 70,135.62 ล้านบาท เพื่อดําเนินงานก่อสร้าง งานปรับปรุง/ซ่อมแซม โครงการศึกษาสํารวจออกแบบ และอื่นๆ เช่น งานขุดลอก งานเพิ่มประสิทธิภาพ เป็นต้น จํานวน 9,554 รายการ ในจำนวนนี้ มีโครงการดําเนินงานก่อสร้างด้านพัฒนาแหล่งน้ำ จํานวน 502 รายการ ภายใต้งบประมาณ 28,419.97 ล้านบาท หากดำเนินโครงการแล้วเสร็จจะสามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ทั้งสิ้น 1,506,548 ไร่ ปริมาตรเก็บกักน้ำ จํานวน 1,092.19 ล้านลูกบาศก์เมตร

 

ทั้งนี้ ปี 2565 โครงการในด้านการพัฒนาแหล่งน้ำจะสามารถดำเนินการแล้วเสร็จมีจำนวน 234 รายการ ภายใต้งบประมาณ 8,470.54 ล้านบาท เมื่อดําเนินการแล้วเสร็จจะสามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทาน จํานวน 162,400 ไร่ เพิ่มปริมาตรเก็บกักน้ำจํานวน 140.86 ล้านลบ.ม. และมีครัวเรือนรับประโยชน์ จํานวน 57,986 ครัวเรือน

 

ส่วนงานก่อสร้างที่สามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทาน มีจํานวน 141 รายการ ภายใต้งบประมาณ 5,269.58 ล้านบาท เมื่อดําเนินการแล้วเสร็จจะสามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทาน จํานวน 162,400 ไร่ และครัวเรือนรับประโยชน์ จํานวน 32,755 ครัวเรือน และงานก่อสร้างที่สามารถ เพิ่มปริมาตรเก็บกัก จํานวน 93 รายการ ภายใต้งบประมาณ 3,200.96 ล้านบาท เมื่อดําเนินการแล้วเสร็จจะสามารถเพิ่มปริมาตรเก็บกักน้ำ จํานวน 140.86 ล้านลบ.ม. และมีครัวเรือนได้รับประโยชน์ จํานวน 25,231 ครัวเรือน

 

นายประพิศ กล่าวต่อว่า กรมชลประทาน ได้ขานรับนโยบาย นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ เพื่อช่วยเหลือเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร ในช่วงฤดูแล้ง จึงดำเนินโครงการจ้างแรงงานชลประทาน ภายใต้งบประมาณ 4,465 ล้านบาท เป้าหมายการจ้างแรงงานเกษตรกรจำนวน 75,000 คน ระยะเวลาการจ้างแรงงานอยู่ระหว่าง 1-10 เดือน วงเงินจ้างแรงงาน/คน จะอยู่ที่ประมาณ 8,700-87,000 บาทโดยรายละเอียดการจ้างงาน เพื่อซ่อมแซม บำรุงรักษา ขุดลอก ปรับปรุงงานชลประทาน โครงการส่งเสริมการดำเนินงานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ก่อสร้างแหล่งน้ำ และระบบส่งน้ำเพื่อชุมชน/ชนบท แก้มลิง การจัดการคุณภาพน้ำ และโครงการป้องกันและบรรเทาภัยจากน้ำ

 

ปัจจุบันจ้างแรงงานเกษตรกรแล้ว 22,120 คน หรือประมาณ 30% ของเป้าหมายการจ้างแรงงานเกษตรกร โครงการจ้างแรงงานชลประทานจังหวัดที่มีผลการจ้างแรงงานมากที่สุด 3 ลำดับ คือ 1. จังหวัดเชียงใหม่ 2,303 คน 2. จังหวัดกาฬสินธุ์ 1,872 คน และ 3. จังหวัดเพชรบุรี 1,730 คน


สำหรับเกณฑ์การจ้างแรงงานจะพิจารณากลุ่มเป้าหมาย 4 กลุ่ม ดังนี้ 1. เกษตรที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรหรือเกษตรกรในพื้นที่ 2. สมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำของกรมชลประทานในพื้นที่ 3. ประชาชน และผู้ใช้แรงงานทั่วไป 4. หากแรงงานในพื้นที่มีไม่เพียงพอให้พิจารณาจ้างเกษตรกรหรือแรงงานในพื้นที่ใกล้เคียง จากหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด และลุ่มน้ำ ตามลำดับ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง