ว่าด้วยเรื่องของการทำบุญที่ถูกต้อง สร้างกุศลให้ชีวิตเจริญก้าวหน้าทั้งทางวัตถุและจิตวิญญาณโดยอิงตามหลักในพระไตรปิฎก ใครที่สนใจเรื่องเหล่านี้...หนังสือเล่มนี้ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง ณัฐพบธรรม เจ้าของผลงาน Best Seller จาก ถ้ารู้...(กู)...ทำไปนานแล้ว จะมาถ่ายทอดความรู้สำคัญให้เราได้นำไปประยุกต์ใช้ในชีวิต แทบจะตรงกับชื่อหนังสือที่ว่าทำดี 24 ชั่วโมง เมื่อได้ศึกษาไปจะพบว่าชีวิตดีร้ายอยู่ที่กรรมดีชั่วที่เราเคยทำ เพราะกิเลสตัณหาที่มีอยู่ ทำให้ต้องเกิดตายไม่จบสิ้น ความรู้ความประทับใจในมุมมองของครีเอเตอร์ ได้เรียนรู้ว่าผลบุญที่เกิดขึ้นทันทีของการทำทานก็คือ ผู้ที่ทำทานเป็นประจำ ไปไหนมีแต่คนรัก จะมีคนดีมีศีลธรรมมาคบค้าสมาคม และไม่ว่าจะเข้าไปที่บริษัท สังคม หรือวงสนทนาไหน ก็จะเข้าไปอย่างสง่าผ่าเผยและคนที่ให้ทานเป็นประจำจะเป็นผู้มีฐานะที่ดี (พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ ข้อ ๕๙๐-๕๔๑) ประสบความสำเร็จในชีวิตค่อนข้างง่าย หาเงินง่าย มีชีวิตที่สุขสบาย ได้เรียนรู้ว่าบุญจากการอุทิศบุญหรือการแบ่งบุญนี้เป็นบุญสำหรับผู้ที่มีจิตเมตตา (อยากให้ผู้อื่นมีความสุข) และกรุณา (อยากให้ผู้อื่นพ้นทุกข์) ซึ่งยิ่งเราทำบุญแบบนี้มากเท่าไร นอกจากบุญที่เราจะได้มากขึ้นแล้ว จิตใจของเราก็จะสูงขึ้นและมีความสุขมากขึ้นด้วย อานิสงส์ของการทำบุญแบบนี้จะทำให้เราได้รับความเมตตาและกรุณาจากผู้อื่น ไปที่ไหนก็ปลอดภัย ได้รับการต้อนรับดูแลอย่างดี เวลามีความทุกข์ก็จะมีคนช่วยทำให้ทุกข์นั้นคลายได้ เป็นต้น ได้เรียนรู้ว่าการอนุโมทนาบุญหมายถึง เวลาที่เราเห็นผู้อื่นทำบุญหรือได้ดีมีความสุขแล้วเรารู้สึกยินดีไปกับเขาด้วย ซึ่งบุญแบบนี้เกิดจากการที่จิตใจของเรามีความยินดี (มุทิตา) เมื่อมีจิตเป็นกุศลเกิดขึ้นเราจึงได้บุญ ได้เรียนรู้ว่าการแสดงธรรมหรือแนะนำสื่อธรรมะที่สามารถคลายความทุกข์ใจให้ผู้อื่นได้ ผลบุญนี้ก็จะทำให้เวลาที่เราทุกข์ใจจะมีคนมาแนะนำบางอย่างที่ช่วยคลายทุกข์เราได้ หากเราแสดงธรรมหรือแนะนำสื่อธรรมะที่ทำให้ผู้อื่นมีปัญญามากขึ้น มองเห็นทางออกของชีวิตได้ ผลบุญนี้ก็จะทำให้ในอนาคตเราจะได้รับสิ่งนี้ด้วยเช่นกัน (ทำบุญธรรมทาน ผลบุญจะทำให้เรามีปัญญา) สำหรับความรู้ทั่วไปที่ไม่เกี่ยวกับพุทธศาสนา หากเราสอนผู้อื่นหรือช่วยให้ผู้อื่นมีโอกาสได้เรียนรู้ไปด้วยก็จะได้บุญเหมือนกัน ได้เรียนรู้ว่าการแสดงธรรม การแนะนำหนังสือหรือสื่อธรรมะ ก็ยังไม่ถือว่าเราได้ให้ธรรมทาน และแม้ว่าผู้ที่เราให้ธรรมะไปจะมีความตั้งใจฟังหรืออ่าน ก็ยังไม่ถือว่าเราได้ให้ธรรมทาน การให้ธรรมทานอย่างสมบูรณ์ครบถ้วนจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อผู้ที่ได้รับธรรมะนั้นมีศรัทธาในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามากขึ้น (ศรัทธาว่าพระองค์รู้กฎธรรมชาติอย่างแท้จริง) ทำบุญมากขึ้น มีศีลและไม่ทำบาป แต่อย่าเข้าใจผิดแล้วคิดสุดโต่งว่าไม่ได้บุญ เพราะเราจะได้บุญจากการให้ทาน แต่ไม่ใช่ธรรมทานเท่านั้นเอง ได้เรียนรู้ว่าการภาวนานั้นส่วนใหญ่คนทั่วไปจะเรียกว่านั่งสมาธิ แต่ความจริงแล้ว การภาวนานั้นสามารถแบ่งออกได้ 2 แบบใหญ่ๆ คือ 1. สมถกรรมฐาน หรือเรียกว่าการนั่งสมาธิ การนั่งสมาธิช่วยให้จิตใจเรามีความสงบและมีสมาธิ การนั่งสมาธิจะใช้วิธีหาสิ่งที่ยึดเพื่อไม่ให้จิตฟุ้งซ่าน เช่น การนึกในใจว่าพุทโธ สัมมา อรหัง หรือวิธียึดความคิดอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น จินตนาการรูปทรงกลมขึ้นมา หรือเพ่งไปที่เปลวไฟ เป็นต้น 2. วิปัสสนากรรมฐาน หรือเรียกว่าการเจริญสติ ในส่วนของการเจริญสติจะช่วยให้มีสติและปัญญา โดยลักษณะการฝึกจะเป็นการกำหนดจิตให้รู้ตัวตลอดเวลาว่ากำลังทำหรือคิดอะไร จิตจะไม่ได้จดจ่อหรือยึดกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งตลอดเวลา ได้เรียนรู้ว่าเราจะได้บุญจากการนั่งสมาธิก็ต่อเมื่อจิตใจของเราสงบนิ่งไม่ฟุ้งซ่านเท่านั้น สภาพจิตแบบนั้นเป็นสภาพที่จิตใจของเราเป็นกุศลเกิดขึ้น ส่วนการเจริญสติก็จะใกล้เคียงกัน เพียงแต่การเจริญสตินั้นเราจะได้บุญเมื่อเรามีสติรู้ตัว จิตตั้งมั่นอยู่กับความเป็นไปของร่างกาย ความรู้สึก จิตใจ โดยบุญจากการนั่งสมาธิ (เจริญสติ) จะได้มากหรือน้อยไม่ได้ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่นั่ง แต่ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่จิตใจของเราสงบนิ่ง (มีสติ) อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกของการนั่งสมาธิ (เจริญสติ) ที่จิตใจของเรายังฟุ้งซ่านอยู่ (ยังไม่มีสติ) แม้ว่าเราจะยังไม่ได้บุญ แต่เราก็ต้องทำต่อไป เพราะเป็นช่วงปูพื้นฐานที่จะทำให้จิตใจของเราสงบนิ่งมากขึ้นและมีสติมากขึ้น ได้เรียนรู้ว่าในพระไตรปิฎกได้กล่าวอธิบายเปรียบเทียบในเรื่องเกี่ยวกับการให้ทานว่า ผลบุญที่ได้นั้นจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปัจจัยหลัก 5 อย่าง ๆ ได้แก่ 1.ผู้ทำทานมีศีลมากน้อยแค่ไหน 2. ศีลของผู้รับทานสูงแค่ไหน 3.ผู้ให้ทานให้ด้วยจิตที่เลื่อมใสแค่ไหน 4.ผู้ให้เชื่อในกฎแห่งกรรมหรือไม่ 5. ของที่เอามาทำทานได้มาโดยสุจริตหรือไม่ (พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ ข้อ ๗๑๙) ได้เรียนรู้ว่าแม้ในอนาคตกาลจะมีแต่พระที่ทุศีล (ไม่มีศีล) มีเพียงผ้าจีวรคาดหู (ไม่ได้นุ่งแล้ว) แม้จะเป็นเช่นนั้น หากเราได้ทำบุญถวายแด่หมู่สงฆ์ เราก็จะได้บุญมากกว่าทำบุญกับพระพุทธเจ้าด้วยซ้ำไป ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงทรงแนะนำพระนางปชาบดีโคตมีให้ถวายผ้าแก่หมู่สงฆ์เป็นสังฆทาน เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะ การทำบุญแบบสังฆทานหรือการทำบุญโดยถวายแด่หมู่สงฆ์ เป็นการทำบุญที่ไม่เจาะจงผู้รับ เป็นการทำบุญที่เราไม่ยึดติดว่าผู้รับเป็นใคร ผู้รับจึงเปรียบได้กับเป็นตัวแทนของพระทั้งหมด หรือเรียกได้ว่าเป็นตัวแทนของพุทธศาสนาทั้งหมด จึงเป็นการทำบุญที่ได้บุญสูงสุด ได้เรียนรู้ว่าการทำบุญกับพ่อแม่ได้บุญมากกว่าทำกับคนทั่วไปมากมาย ควรทำบุญกับท่านด้วยการให้เงินท่าน ช่วยเหลือเกื้อกูลท่าน ให้ความเคารพอ่อนน้อมถ่อมตนกับท่าน แบ่งบุญให้ท่าน ให้ธรรมทานกับท่าน ฯลฯ ทำบุญกับพระนอกบ้านก็ทำแล้ว ทำดีกับคนนอกบ้านก็ทำแล้วต้องไม่ลืมทำบุญและทำดีกับพระในบ้านด้วย ได้เรียนรู้ว่าหยอดตู้ค่าน้ำ-ไฟ หยอดตู้สังฆทานเวียน เวลาที่เราไปวัดเรามักจะเห็นตู้สำหรับทำบุญค่าน้ำค่าไฟของวัดหากเงินในกล่องนั้นทางวัดนำไปจ่ายค่าน้ำค่าไฟจริงๆ ก็สามารถอนุโลมได้ว่าเงินก้อนนี้เป็นสังฆทานในตัว เพราะเป็นการถวายให้วัด(ให้ส่วนกลาง) โดยไม่เจาะจงพระรูปใดเป็นพิเศษ ได้เรียนรู้ว่าการสวดมนต์จะได้บุญก็ต่อเมื่อเราสวดมนต์ด้วยความเคารพนอบน้อมและบูชาในพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ หากเราสวดมนต์เหมือนท่องอาขยาน เวลาสวดมนต์ก็คิดถึงเรื่องอื่น และไม่รู้ว่าสวดไปเพื่ออะไร จะสวดกี่ล้านรอบก็แทบจะไม่ได้บุญเลย ได้เรียนรู้ว่าหนึ่งในวิธีที่จะทำให้การสวดมนต์ของเรามีโอกาสได้บุญก็คือหาคำแปลของบทสวดมนต์นั้น ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจว่าเรากำลังพูดอะไรทำอะไร อย่างไรก็ตามแม้ว่าเราจะรู้คำแปล แต่ถ้าจิตใจเราไม่มีความศรัทธาเชื่อมั่นในพุทธศาสนา เวลาสวดมนต์จิตใจของเราก็ไม่เป็นกุศลอยู่ดี คำว่าศรัทธานั้นหมายถึง เชื่อมั่นว่าพระพุทธเจ้าเป็นผู้ตรัสรู้จริง รู้ในกฎธรรมชาติทั้งหมด รู้ในกฎแห่งกรรม รู้หนทางในการหลุดพ้นเข้าสู่นิพพาน หรือสรุปว่า ไม่มีอะไรที่พระองค์ไม่รู้ เชื่อมั่นในพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าว่าเป็นสิ่งที่ดีสิ่งที่ถูกต้องจริงๆ มีเหตุมีผล ทำให้เราสามารถพ้นความทุกข์และพบความสุขได้ เชื่อมั่นในพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าว่าเป็นผู้สืบทอดและสั่งสอนสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ได้เรียนรู้ว่าความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับความเป็นจริงของชีวิตและความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับพุทธศาสนาก็คือ เราจะไม่ขอจากใคร เราจะทำให้สำเร็จด้วยตัวเราเองหากจะมีอะไรที่ใกล้เคียงคำว่าขอ ก็มีเพียงแค่ตอนที่เราทำบุญเราจะอธิษฐานขอให้บุญนี้ช่วยเราทางด้านไหน เช่น ทำสังฆทานเสร็จแล้วก็อธิษฐานขอให้บุญนี้ทำให้เราประสบความสำเร็จ (ขอนำบุญนี้ไปใช้ในเรื่องไหน) ได้เรียนรู้ว่าความแตกต่างที่สำคัญระหว่างการขอพรกับการอธิษฐาน นั่นคือ แม้ว่าการอธิษฐานจะคล้ายกับการขอให้สิ่งดีๆเกิดขึ้น แต่เราจะเป็นผู้ทำให้ทุกอย่างเกิดขึ้นเอง ทั้งการลงมือทำและการทำบุญ ส่วนการขอพรนั้นจะขอล้วนๆ ไม่ทำเองเลย ได้เรียนรู้ว่าการทำบุญที่ดีที่สุดนั้น เราควรจะมีจุดเริ่มต้นจากจิตใจอยากให้ตัวเราและผู้อื่นมีความสุข) มีกรุณา (อยากให้ตัวเราและเจตนา) ที่มีพรหมวิหาร ๔ เป็นพื้นฐาน นั่นคือเราควรมีเมตตาผู้อื่นพ้นทุกข์ ทำบุญด้วยความรู้สึกว่าสิ่งนี้จะเป็นประโยชน์กับตัวเราและผู้อื่น และมีมุทิตา (ยินดีเมื่อผู้อื่นทำดีหรือประสบความสำเร็จ) เวลาที่มีใครทำบุญจากที่เราชวนหรือคนอื่นชวน เราก็มีความชื่นชมยินดีไม่ว่าเขาจะทำมากน้อยแค่ไหนก็ตาม) และมีอุเบกขา (นิ่งเฉยต่อสิ่งที่ไม่พึงพอใจ) เวลาที่ชวนใครทำบุญแล้วเขาไม่ทำหรือทำน้อยก็วางเฉย ไม่ดุด่าหรือแอบบ่น(การมีพรหมวิหาร ๔ อยู่ในใจจะทำให้เราพร้อมที่จะทำบุญ ไม่ว่าบุญนั้นจะได้บุญมากหรือน้อยแค่ไหนก็ตาม และทำให้เรามีความสุขใจสบายใจที่จะทำบุญต่อไปเรื่อยๆ นอกจากนี้ในพระไตรปิฎกได้กล่าวเอาไว้ว่า “บุคคลอย่าพึ่งดูหมิ่นบุญว่า บุญมีประมาณน้อยจักไม่มาถึง แม้หม้อน้ำย่อมเต็มได้ด้วยหยาดน้ำที่ตกทีละหยาดๆ นักปราชญ์สั่งสมบุญแม้ทีละน้อยๆย่อมเต็มด้วยบุญ นั่นคือเราไม่ควรดูแคลนบุญที่ได้บุญเล็กน้อย เพราะบุญใหญ่อาจจะหาโอกาสทำได้ไม่บ่อย แต่บุญที่ได้บุญเล็กๆน้อยๆ หากสะสมไปเรื่อยๆ ก็สามารถรวมกันจนกลายเป็นบุญที่ยิ่งใหญ่ได้ ส่วนตัวครีเอเตอร์มองว่าการรักษาศีลยากที่สุด เพราะเราอาจเผลอตบยุงที่ก่อโรคไข้เลือดออก (ผิดศีลข้อ 1 เรื่องการฆ่าสัตว์) หรืออาจต้องยอมโกหกเพื่อให้สอบสัมภาษณ์เข้าเรียน เข้าทำงานผ่าน (ผิดศีลข้อ 4 เรื่องการพูดเท็จ พูดเพ้อเจ้อ) ฉะนั้น การรักษาศีลบางข้อ เริ่มต้นทีละนิดจะช่วยให้เราตั้งต้นใหม่ในทุกวันแบบนี้แทนก็ได้ โดยไม่ละทิ้งความตั้งใจก็พอ เพื่อให้เรารักษาศีลได้มั่นคงทุกข้อต่อไป เป็นการทำดีสะสมบุญแบบที่ไม่ต้องรอวันตายแล้วค่อยเชื่อในเรื่องบาปบุญ เครดิตภาพ ภาพปก โดย wahyu_t จาก freepik.com ภาพที่ 1 และ 2 โดยผู้เขียน ภาพที่ 3 โดย jcomp จาก freepik.com ภาพที่ 4 โดย kjpargeter จาก freepik.com บทความอื่นๆที่น่าสนใจ รีวิวหนังสือ ถ้ารู้...(กู)...ไม่ทำ โดย ณัฐพบธรรม รีวิวหนังสือ บรรลุธรรมได้ ไม่ติดรูปแบบ รีวิวหนังสือ HOW TO DIE ความตายออกแบบได้ รีวิวหนังสือ อัจฉริยะ 100 หน้า พระพุทธศาสนา รีวิวหนังสือ บันไดสู่นิพพาน เปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !