รีเซต

มาแล้ว! คนละครึ่ง 2 จัด 5 ล้านเพิ่มอีก 5 ร้อย

มาแล้ว! คนละครึ่ง 2 จัด 5 ล้านเพิ่มอีก 5 ร้อย
มติชน
4 ธันวาคม 2563 ( 13:18 )
45
มาแล้ว! คนละครึ่ง 2 จัด 5 ล้านเพิ่มอีก 5 ร้อย

แม้ว่าสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 อยู่ในระดับคลี่คลายลง แต่ในต่างประเทศการแพร่ระบาดยังพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ไม่เกิดความชัดเจนว่าไทยจะสามารถเปิดรับต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวอย่างลื่นไหลได้เมื่อไร รายได้หลักเข้าประเทศจากส่วนนี้จำเป็นต้องรอไปก่อนอีกพักใหญ่

 

เวลานี้การพึ่งพาการบริโภคภายในประเทศจึงเป็นทางเลือกเดียว พอจะขับเคลื่อนพยุงเศรษฐกิจในปัจจุบัน มาตรการหนึ่งของรัฐที่ได้รับการตอบรับจากประชาชนอย่างดีคือ โครงการคนละครึ่งที่จะสิ้นสุดในสิ้นปีนี้ และมีเสียงเรียกร้องให้เปิดคนละครึ่งระยะ 2

 

ล่าสุด วันที่ 2 ธันวาคม ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) จึงเห็นชอบข้อเสนอของกระทรวงการคลัง เปิดโครงการคนละครึ่งระยะที่สอง แนวคิดหลักเช่นเดียวกับระยะแรก คือรัฐบาลจ่ายเงินครึ่งหนึ่ง และประชาชนที่ลงทะเบียนในโครงการจ่ายอีกครึ่ง วันละไม่เกิน 150 บาท

 

ตามมติ ศบศ.จะเปิดให้ลงทะเบียนรับสิทธิเพิ่มเติมอีก 5 ล้านคน โดยได้รับวงเงินรวม 3,500 บาทต่อคน เพิ่มขึ้นจากระยะที่ 1 ที่รัฐช่วยจ่าย 3,000 บาท และมีความเป็นไปได้จะเปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคมนี้ หากได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยให้เริ่มใช้จ่ายได้ตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม-31 มีนาคม 2564 สำหรับผู้ลงทะเบียนในระยะที่ 1 ก็จะเพิ่มวงเงินให้อีกคนละ 500 บาท และขยายระยะเวลาการใช้สิทธิจนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2564 จากเดิมสิ้นสุดเดือนธันวาคม 2563


โครงการคนละครึ่ง หนึ่งในมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจและกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ เป้าหมายคือประชาชนทั่วไปที่มีฐานะปานกลาง รวมทั้งต้องการสร้างรายได้ให้กับร้านค้าชุมชนต่างๆ อาทิ หาบเร่ แผงลอย รถเข็น ตลาดชุมชน ร้านค้าขนาดเล็ก เน้นการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเป็นหลัก เดิมใช้งบประมาณ 30,000 ล้านบาท จาก พ.ร.ก. เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท


ประเมินว่า จนถึงสิ้นเดือนธันวาคมนี้จะช่วยให้มีเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจกว่า 60,000 ล้านบาท มีร้านค้าเข้าโครงการกว่า 1 ล้าน ร้านค้า ซึ่ง ณ วันที่ 2 ธันวาคม มีร้านค้าลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการแล้ว 8.9 แสนร้านค้า
สำหรับยอดการใช้จ่ายโครงการคนละครึ่ง ตั้งแต่เปิดโครงการวันที่ 23 ตุลาคม 2563 จนถึงปัจจุบัน ผ่านมาครึ่งทางของจำนวนวันที่ใช้จ่ายในโครงการตามกำหนดของระยะที่ 1 ยอดใช้จ่ายสะสม ณ วันที่ 2 ธันวาคม มีผู้ใช้สิทธิแล้ว 9,526,815 คน ยอดใช้จ่ายสะสม 33,754 ล้านบาท ยอดใช้จ่ายของประชาชนจ่ายอยู่ที่ 17,236 ล้านบาท ขณะที่ภาครัฐร่วมจ่าย 16,518 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่าประชาชนสนใจร่วมใช้จ่ายในโครงการ และใช้จ่ายมากกว่าส่วนที่รัฐบาลจะออกให้

 

“ธนวรรธน์ พลวิชัย” อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุถึงโครงการคนละครึ่งว่า จากการสำรวจภาคธุรกิจสะท้อนว่า โครงการประสบความสำเร็จค่อนข้างสูง สร้างการตื่นตัวและการใช้จ่ายประจำวันได้คึกคัก ส่งผลต่อการกระตุ้น กำลังซื้อประชาชนและเศรษฐกิจโดยรวมคึกคักตามไปด้วย ส่งผลต่อดีต่อการเพิ่มปริมาณและรายได้ร้านค้าทั่วไป เอสเอ็มอีรายย่อย ซึ่งเป็นโครงการแตกต่างจากโครงการของรัฐบาลที่เคยออกมา ที่ส่วนใหญ่ธุรกิจเอสเอ็มอีไม่ค่อยได้รับการตอบสนอง และที่ผ่านมามองว่าธุรกิจขนาดใหญ่ได้รับผลประโยชน์มากกว่าธุรกิจเอสเอ็มอี
เชื่อว่าบรรยากาศเฟส 2 จะได้รับการตอบรับ

 

คึกคักไม่น้อยกว่าเฟสแรก ตามหลักการการที่รัฐใช้การเพิ่มเงินอีก 500 บาท ให้เฟสแรก 10 ล้านคน เท่ากับที่เปิดใหม่เฟส 2 อีก 5 ล้านคน เท่ากันคือคนละ 3,500 บาท และสิ้นสุดโครงการมีนาคมปีหน้าเท่ากัน ถือว่าเป็นความยุติธรรมเชิงนโยบาย และถือว่าใช้มาตรการถูกทางถูกเวลาเพื่อสะท้อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจดีขึ้น รัฐกระตุ้นให้คนใช้เงินต่อเนื่องทั้งจากโครงการคนละครึ่งและโครงการกระตุ้นการท่องเที่ยว ยังเป็นเรื่องสำคัญในขณะนี้ถึงกลางปีหน้า ซึ่งไม่แปลกหากรัฐจะมีมาตรการเพิ่มเติมต่อเนื่องทุก 3 เดือนจากนี้

 

เรื่องวงเงินใช้จ่ายต่อวันนั้น จุดสำคัญคือเมื่อได้วันละ 300 บาท คำนวณง่ายๆ ว่าทานอาหารได้มื้อละ 100 บาท 3 มื้อต่อวัน หรือจะใช้จ่ายซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคสะสมไว้ได้ สัปดาห์ละ 1,500 บาท เพราะฉะนั้นวงเงินที่ใช้จ่าย 300 บาทต่อวัน ถือว่าเหมาะสมแล้ว เพราะเจตนาของโครงการคือต้องการให้ประชาชนใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน หมายความว่าควรใช้สำหรับซื้ออาหาร สินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป เพื่อเป็นการลดภาระค่าครองชีพ หรือคิดจากสมมุติฐานที่ว่าคนทำอาชีพรับจ้างรายวัน ค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท เป็นค่าครองชีพประจำวันนั้น จึงเป็นวงเงินที่เหมาะสมแล้ว ถ้าหากขยายวงเงินต่อวันเพิ่มมากขึ้น อาจไปเร่งพฤติกรรมการใช้จ่ายอย่างไม่จำเป็นในแต่ละวันก็ได้ รวมทั้งรัฐบาลได้ขยายระยะเวลาการใช้จ่ายอีก 3 เดือน มีเวลาให้ใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ดังนั้น ใช้จ่ายวันละ 300 บาท ก็เหมาะสมแล้ว ถือว่าสร้างชีวิตชีวาได้เป็นอย่างดีในสถานการณ์ปัจจุบัน


ผลที่คาดหวังจากโครงการคนละครึ่งเฟสแรกที่จะสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ถ้าดูจากสถิติแล้ว คาดว่าคนจะใช้เต็มวงเงินที่รัฐบาลช่วยสมทบแน่นอน คาดจะสร้างเงินสะพัดไม่ต่ำกว่า 5-6 หมื่นล้านบาท เฟส 2 อีกวงเงินก็น่าจะใกล้เคียงกัน รวม 2 เฟสก็ไม่น่าจะต่ำกว่าแสนล้านบาท ตามหลักวิชาการเงินจะถูกหมุนไป 2-3 รอบ จากแสนล้านก็จะเพิ่มเป็น 2-3 แสนล้าน ผลดีนี้จะไปเกิดในอนาคตช่วงไตรมาส 1/2564 ทั้งเงินจาก 15 ล้านคน ใช้จ่ายหมุนเวียนในระบบซื้อขายปกติ บวกกับเพิ่มเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐอีกคนละ 500 บาท ในจำนวน 14 ล้านคน ผนวกด้วยการใช้จ่ายเพิ่มในช่วงปีใหม่และท่องเที่ยวต้นปี ส่วนนี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ 3-4% ภายใน 3 เดือน

 

ขณะที่ “สมชาย พรรัตนเจริญ” นายกสมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย ให้มุมมองว่า ร้านโชห่วยยังเข้าถึงโครงการคนละครึ่งได้น้อย แตกต่างจากร้านค้าขนาดกลางและร้านค้าในเมืองใหญ่ที่ได้เปรียบด้านเทคโนโลยี และมีพนักงานช่วยงานที่รู้ในเรื่องเทคโนโลยี ยกตัวเลขร้านค้าเข้าโครงการคนละครึ่งตอนนี้ประมาณ 8 แสนร้านค้า เทียบกับจำนวนร้านค้าเล็กๆ ทั่วประเทศที่มีนับล้านที่เข้าร่วมโครงการยังไม่ถึง 10% ด้วยซ้ำ

 

ที่สำคัญวิตกว่าจะซ้ำรอยในหลายโครงการของรัฐ ที่ต้องทำแล้วทำอีก หรือสมทบไปเรื่อยๆ เพราะคุ้นเคยกับการรอมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ
ไม่ปรับตัวเพื่อยืนได้ด้วยตัวเอง