รีเซต

สปสช.ยันเคลียร์ระบบเบิกจ่ายโควิดตามสิทธิ!! พนง.-ขรก. สำรองจ่าย ต้นสังกัดต้องรับผิดชอบ

สปสช.ยันเคลียร์ระบบเบิกจ่ายโควิดตามสิทธิ!! พนง.-ขรก. สำรองจ่าย ต้นสังกัดต้องรับผิดชอบ
มติชน
27 มีนาคม 2565 ( 16:51 )
89
สปสช.ยันเคลียร์ระบบเบิกจ่ายโควิดตามสิทธิ!! พนง.-ขรก. สำรองจ่าย ต้นสังกัดต้องรับผิดชอบ

กรณีมีข่าวพนักงานธนาคาร ธ.ก.ส.เข้าระบบการรักษาโรคโควิด-19 ที่บ้าน (Home Isolation: HI) กับโรงพยาบาล (รพ.) วาปีปทุม แต่ถูกเรียกเก็บเงินค่ารักษา โดยใบเสร็จระบุเบิกค่าห้อง รพ. และค่าอาหาร 10 วัน จำนวน 10,000 บาท บวกค่ายา 59 บาท รวมเป็น 10,059 บาท โดยแจ้งให้สำรองจ่ายและไปเบิกกับต้นสังกัดเอง ทั้งๆ ที่กรณีดังกล่าวเป็นการรักษาตัวที่บ้าน อาหารทำกินเอง หรือญาตินำส่ง และไม่มีหมอจาก รพ.ไปพบติดตามการรักษาเลยนั้น

 

เมื่อวันที่ 27 มีนาคม ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้สัมภาษณ์ว่า เรื่องนี้ต้องแยกประเด็นให้ชัดเจน กรณีนี้เนื่องจากเป็นพนักงาน ธ.ก.ส.ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีระเบียบของตัวเองรองรับกรณีเจ็บป่วย ธ.ก.ส.จะเป็นผู้ดูแล แยกออกจากระบบอื่นๆ ขณะที่ สปสช.ดูแลสิทธิบัตรทอง โดยทำเบิกจ่ายให้กับกรมบัญชีกลาง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เป็นผู้ออกกติกา โดยกำหนดผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งมีระดับอาการสีเขียวให้รักษาตัวที่บ้าน จะมีการจับคู่ระหว่างผู้ป่วยกับ รพ.ที่ดูแล มีเกณฑ์วิธีการดูแล นำยาไปให้ตามอาการ มีอุปกรณ์ตรวจวัดไข้และออกซิเจนปลายนิ้ว และมีแพทย์ติดตามอาการวันละ 2 ครั้ง หรือแล้วแต่รพ.วางระบบ ซึ่ง สปสช.จะจ่ายค่าบริหารจัดการต่อคนไข้ 1 คน คือ วันละ 600 บาท หากมีอาหารด้วยก็เพิ่มอีกวันละ 400 บาท รวมเป็น 1,000 บาทต่อวัน

 

“กรณีที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย รพ.วาปีปทุม เข้าใจว่า ผู้ป่วยสามารถใช้สิทธิจากรัฐวิสาหกิจที่ ธ.ก.ส.ดูแล รพ.จึงเรียกเก็บไปที่ต้นสังกัด โดยใช้อัตราการเบิกจ่ายที่อิงอัตราเดียวกับที่ สปสช.ประกาศ ซึ่งคนไข้อาจจะต้องสำรองจ่ายไปก่อน แล้วไปเบิกกับต้นสังกัด ซึ่งผมได้สอบถามเรื่องดังกล่าวไปยัง ธ.ก.ส.แล้ว เมื่อช่วงกลางดึกวันที่ 26 มีนาคมที่ผ่านมา ได้รับคำตอบว่า เคสนี้อยู่ในความดูแลของ ธ.ก.ส. เพียงแต่กติกาของ ธ.ก.ส.เมื่อทาง รพ.เรียกเก็บค่าใช้จ่าย จะมีเจ้าหน้าที่ ธ.ก.ส.โทรไปสอบถามทาง รพ.เพื่อยืนยันอีกครั้ง ปัญหาที่เกิดขึ้นคงต้องดูเป็นรายกรณี หากเป็นคนไข้บัตรทอง หรือสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ มีกติกาชัดเจนให้เรียกเก็บเงินกับ สปสช.หากมีปัญหา ก็สามารถติดตามได้ว่าปัญหาอยู่ตรงไหน หรือเกิดจากความเข้าใจผิด หรือไม่รู้ หรือจงใจ สปสช.ก็จะเข้าไปติดตามและแก้ปัญหา” ทพ.อรรถพร กล่าว

 

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีการรักษา HI จะเกิดช่องโหว่ให้สถานพยาบาลต่างๆ เบิกจ่ายเงินรายหัว แต่ไม่ได้ให้บริการที่เหมาะสมกับผู้ป่วยหรือไม่ ทพ.อรรถพร กล่าวว่า ในส่วนที่ สปสช.ดูแล คนไข้ต้องประสานผ่านเข้าระบบ ต้องพิสูจน์ยืนยันตัวตนที่ชัดเจนเป็นอันดับแรก ที่เรียกว่า Authentication หากไม่ผ่านระบบดังกล่าวจะไม่สามารถเบิกจ่ายได้ทุกกรณี

 

“เหมือนกับการไปธนาคารต้องมีการยืนยันตัวตนว่า อยู่ที่ธนาคารนี้จริง ในวันและเวลานี้จริง จะมีรหัสการให้บริการที่ยืนยันจริง จึงจะสามารถเบิกจ่ายได้ ดังนั้น โอกาสที่จะรั่วไหลยาก เหมือนเป็นการเช็กบาลานซ์ แต่ก็มีข้อเสียที่อาจจะต้องใช้เวลาดำเนินการเนื่องจากมีขั้นตอนแต่เราก็ต้องวางระบบให้รัดกุม” ทพ.อรรถพร กล่าวและว่า ส่วนสถานการณ์สายด่วน สปสช.1330 ขณะนี้ดีขึ้น หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีนโยบาย เจอ แจก จบ ทำให้ผู้ป่วยโทรศัพท์เข้าไปน้อยลงอย่างมาก เพราะส่วนใหญ่ไม่มีอาการหรืออาการน้อยก็สามารถไปรับยาที่หน่วยบริการใกล้บ้านหรือหน่วยบริการตามสิทธิได้ทันที ทำให้สายลงทะบียนน้อยลงอย่างมาก ไม่มีผู้ป่วยคงค้าง โดยยอดเป็นศูนย์มาเป็นสัปดาห์แล้ว

ทพ.อรรถพร กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม หลังช่วงเทศกาลสงกรานต์ต้องติดตามสถานการณ์อีกครั้ง เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดยังน่าเป็นห่วง ดังนั้น ต้องช่วยกันบอกว่า แม้โรคจะไม่ร้ายแรง แต่ถ้าไม่ติดเชื้อจะดีกว่า ที่สำคัญขอให้ฉีดวัคซีนป้องกันเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเองดีกว่า

ขณะที่ นพ.ประพันธ์ สุนทรปาสิต ผู้อำนวยการ รพ.วาปีปทุม ให้สัมภาษณ์สั้นๆ ว่า เรื่องนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริง รวมถึงจะสอบถามข้อมูลรายละเอียดจากผู้ป่วยที่ร้องเรียนด้วย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง