ภาพที่ 1 ภาพจาก nakaridore เมื่อพูดถึงเรื่องการเขียนเรียงความ เชื่อว่าหลายคนคงจะคุ้นหูคุ้นตาหรือได้ยินกันอยู่บ่อย ๆ ไม่ว่าจะเรียนในระดับชั้นประถมศึกษา มัธยมศึกษา หรือแม้แต่ในระดับอื่น ๆ การเขียนเรียงความก็คือการที่เราเขียนเรียบเรียงถ้อยคำให้เป็นเรื่องราว ที่แสดงความรู้ ความคิด ทัศนคติ อารมณ์ หรือความรู้สึกต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งด้วยภาษาที่ถูกต้องเหมาะสม กะทัดรัด สละสลวย เมื่อกล่าวเช่นนี้แล้วก็เรียกได้ว่านิยามของเรียงความนั้นกว้างมาก สามารถเขียนแสดงถึงข้อเท็จจริง หรือข้อคิดเห็นก็ได้ วิธีการเขียนเรียงความนั้นขึ้นอยู่กับเทคนิควิธีการของแต่ละคน สามารถทำได้อย่างหลากหลาย แต่ครั้งนี้จะขอแบ่งปันจากมุมของผู้เขียน วิธีการเขียนเรียงความคือ 1. การศึกษาเนื้อหาหรือองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับเรื่องที่ต้องเขียน เช่น การเขียนเรียงความเรื่องวัฒนธรรมไทย ในขั้นแรกคือการศึกษาว่าวัฒนธรรมไทยคืออะไร เป็นอย่างไร ซึ่งสามารถศึกษาได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นหนังสือ หรือที่สะดวกในยุคนี้คือศึกษาจากช่องทางออนไลน์ ขั้นการศึกษาเนื้อเรื่องนี้จะทำให้เราเห็นถึงภาพรวมของเรื่องว่ามีอะไรบ้าง จะเป็นผลดีกับขั้นถัดไป ภาพที่ 2 ภาพจาก tirachardz2. การวางโครงเรื่อง ขั้นนี้จะต่อเนื่องเชื่อมโยงกับขั้นแรก คือ เมื่อเราทราบภาพรวมของเรื่องแล้ว เราสามารถเขียนออกมาได้ว่าเรื่องวัฒนธรรมไทยมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องอะไรบ้าง เขียนออกมาเป็นข้อ ๆ หรือเป็นแผนภาพความคิด จะทำให้เห็นเค้าโครงของเรื่องมากขึ้น เช่น ในหัวข้อวัฒนธรรมไทย อาจจะแบ่งออกมาได้คือ ความหมาย วัฒนธรรมด้านการแต่งกาย วัฒนธรรมด้านอาหาร เป็นต้นภาพที่ 3 ภาพจาก rawpixel.com 3. การเขียนขยายความประเด็นต่าง ๆ จากโครงเรื่อง คือ การเจาะลึกเข้าไปว่า วัฒนธรรมการแต่งกายเป็นอย่างไร วัฒนธรรมด้านอาหารการกิน เป็นอย่างไร เป็นต้น 4. ตรวจสอบความเป็นเอกภาพ สัมพันธภาพ และสารัตถภาพ ในขั้นตอนนี้คือการตรวจสอบคำว่าเขียนถูกต้องหรือไม่ เนื้อหาเป็นอย่างไร ถูกต้อง เหมาะสมหรือไม่ ย่อหน้าแต่ละย่อหน้าสัมพันธ์กันหรือไม่ อะไรควรอยู่ก่อนหลัง ซึ่งมีความเกี่ยวโยงกับขั้นที่สองคือ การวางโครงเรื่อง แต่หากเมื่อเขียนแล้วลองพิจารณาอีกครั้งแล้วรู้สึกว่าไม่สัมพันธ์กันก็สามารถปรับเปลี่ยนได้ ภาพที่ 4 ภาพจาก tirachardz หากใครนึกไม่ออกว่าจะต้องเขียนอย่างไร ก็สามารถนำหลักการเขียนง่าย ๆ 4 ขั้นนี้ไปลองใช้กันได้ และอย่าลืมวิธีการที่มักจะได้ยินกันบ่อย ๆ คือ "การเขียนเริ่มต้นให้น่าสนใจ น่าติดตาม การเขียนเนื้อเรื่องให้มีความกลมกลืนหรือสัมพันธ์กัน และการเขียนสรุปให้จับใจคนอ่าน หรือสรุปให้น่าจดจำนั่นเอง" วิธีการเขียนคำนำและสรุปให้น่าสนใจสามารถใช้วิธีการได้หลากหลายไม่ว่าจะเป็นการใช้บทกวี การใช้คำถาม คำคม หรือสำนวนต่าง ๆ ให้ดึงดูดผู้อ่าน โดยส่วนใหญ่แล้วคำนำและสรุปจะไม่เขียนยาว สั้น ๆ แต่ได้ใจความ ส่วนเนื้อเรื่องไม่จำเป็นต้องมีแค่ย่อหน้าเดียว สามารถมีหลายย่อหน้าได้ แต่ละย่อหน้าก็ควรมีใจความสำคัญเพียงใจความเดียว อย่างไรก็ตามการเขียนก็นับเป็นงานที่สร้างสรรค์ หลากหลาย และเป็นงานที่มีคุณค่าในตัวเองตัวอย่างการเขียนเรียงความ สุจริตคือเกราะบัง ศาสตร์พ้อง “ จงรังเกียจความทุจริต เพราะความทุจริตคือเนื้อร้ายที่กลืนกินความมนุษย์ให้หมดสิ้นไป ” จากประโยคดังกล่าวตอกย้ำให้เห็นว่าไม่มีภัยอันตรายใด ๆ จะร้ายแรงไปกว่าภัยจากการทุจริต เราต่างคงคุ้นชินกับคำกล่าวที่ว่า “มนุษย์คือสัตว์ประเสริฐ” ซึ่งหมายถึงมนุษย์คือสิ่งชีวิตที่ดีเลิศ นั่นคือประเสริฐพร้อมไปด้วยความรู้ ความคิดมีจิตวิญญาณแห่งวิญญูชน เป็นคนที่เรียกว่าคนได้อย่างสมบูรณ์ มนุษย์จะทำอย่างไรจึงจะได้ชื่อว่าเป็นสัตว์ประเสริฐหรือเป็นผู้มีจิตวิญญาณแห่งวิญญูชนคือบุคคลที่รู้ผิดรู้ชอบตามปรกติ สิ่งนั้นคือ “ความสุจริต” ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า ความสุจริตคือจิตแห่งวิญญูชน ที่กล่าวเช่นนี้ก็เพราะความสุจริตเป็นบ่อเกิดแห่งความถูกต้องทั้งปวง เราจะไม่มีทางเป็นคนโกหกหากคำพูดนั้นกลั่นจากการยึดมั่นในความสุจริต เราจะไม่มีทางกระทำความผิดหากปฏิบัติในสิ่งที่ถูกต้องไม่คิดฉ้อโกงใคร ความสุจริตจึงเป็นเสมือนเกราะป้องกันภัยทั้งปวงเพราะเป็นเกราะที่แข็งแกร่งอันเคลือบไปด้วยความถูกต้อง 3 ประการคือคิดถูกต้อง พูดถูกต้อง และทำถูกต้อง ซึ่งความถูกต้องดังกล่าวนี้ก็คือ “ความจริง” เกราะชั้นแรก คิดถูกต้อง หากมีคิดถูกต้องก็ไม่นำไปสู่การคิดที่จะกระทำความผิด ไม่เห็นผิดเป็นถูกไม่ต้องคิดว่าใครจะมาหลอกลวงตนเพราะตนไม่ได้ไปหลอกลวงใครจึงไม่ต้องเสียเวลาไปกับการกังวลใจว่าใครจะมาทำร้าย คิดคด หรือฉ้อโกง เกราะชั้นที่สอง พูดถูกต้อง การพูดในสิ่งที่เป็นความจริง ความจริงนั้นย่อมเป็นเกราะคุ้มภัยให้กับผู้นั้นยกตัวอย่างเช่น การที่นักเรียนคนหนึ่งไม่ได้ทำการบ้านส่งครูด้วยเหตุผลคือลืม เมื่อครูถามจึงโกหกไปว่าแม่ไม่สบายตนจึงต้องดูแลแม่ ครูจึงถามต่อไปอีกแม่เป็นอะไร ตอนนี้อยู่ที่ไหน อาการเป็นอย่างไรบ้าง นักเรียนคนนี้จึงต้องโกหกทุกวิถีทางจนนับครั้งไม่ถ้วน เพียงเพื่อต้องการปกปิดความผิดในครั้งแรก สุดท้ายแล้วอาจจะแพ้ภัยให้กับคำโกหกของตนเสียด้วยซ้ำไป จากความผิดแค่เพียงลืมทำการบ้าน ก็บานปลายกลายเป็นคนขี้โกหก ไร้ความน่าเชื่อถือ อีกทั้งยังไร้ความรับผิดชอบ การพูดความจริงตั้งแต่ครั้งแรกจึงทำให้ไม่ต้องโกหกในครั้งต่อ ๆ ไปซึ่งก็นับว่าเป็นเกราะคุ้มภัยได้เป็นอย่างดี เกราะชั้นสุดท้าย ทำถูกต้อง การทำในสิ่งที่ถูกต้อง ทำในสิ่งที่ควรจะทำ ย่อมนำไปสู่ความเที่ยงธรรม ไม่เบียดเบียน และไม่เอาเปรียบใคร เช่น การคัดเลือกคนเข้าทำงานขององค์กรหนึ่ง หากคัดสรรตามกระบวนการก็คงไม่มีปัญหาอะไร แต่เมื่อใดที่ไม่โปร่งใสใจทุจริตกระผิดจากขั้นตอนเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน หากความผิดที่กระทำนั้นถูกเปิดเผยขึ้นก็อาจจะพ้นจากตำแหน่งนั้นไป รวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับองค์กรคือแทนที่จะได้ผู้มีความรู้ความสามารถเข้าทำงานก็กลับกลายเป็นว่าได้ผู้ที่ทุจริตตั้งแต่แรกเริ่มมาทำงานในองค์กร จะเห็นได้ว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นมิได้จำกัดกรอบความเสียหายหากแต่ยังแพร่ขยายเป็นวงกว้าง ฉะนั้นแล้ว ความสุจริตจึงเป็นเกราะคุ้มภัยอันตรายทั้งปวง ทั้งต่อผู้ที่ประพฤติสุจริตเองและผู้คนรอบข้างที่ไม่ต้องเดือนร้อนกันเป็นร่างแห ต่างคนต่างยึดมั่นในความสุจริต คิด พูด และทำในสิ่งที่ถูกต้อง หากทุกคนสามารถทำได้เช่นนี้แล้ว สังคมไทยย่อมเป็นสังคมใสสะอาด และบริบูรณ์ไปด้วยความสุจริตที่สร้างความสงบสุขให้แก่สังคมอย่างแท้จริงและนี่คือตัวอย่างการเขียนเรียงความของผู้เขียนจะเห็นได้ว่าเรียงความข้างต้นนี้มีการขึ้นต้นหรือการเขียนคำนำจากประโยคที่น่าสนใจ ตัวเนื้อเรื่องแต่ละย่อหน้าประเด็นไม่ซ้ำกันแต่เชื่อมโยงกัน อีกทั้งสรุปจบด้วยการสะท้อนให้เห็นถึงตัวเนื้อเรื่องทั้งหมดว่าความสุจริตจะส่งผลให้เกิดอะไรอย่างรวบรัด ซึ่งทุกคนสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการเขียนเรียงความได้ เรื่อง ผู้เขียนขอบคุณภาพจาก www.freepik.com ภาพที่ 1 nakaridore , ภาพที่ 2 tirachardz , ภาพที่ 3 rawpixel.com , ภาพที่ 4 tirachardz ภาพหน้าปกโดยนักเขียน*STAR COVER"อย่ามัวแต่ดูมาดังกัน"* ทรูไอดีคอมมูนิตี้ ขอชวนทุกคนมาสนุกโคฟเวอร์ พร้อมลุ้นรับเงินรางวัลมูลค่ารวมกว่า 7,000 บาท (5 รางวัล) โคฟคนที่ใช่ ไลค์คนที่ชอบ`ร่วมสนุกได้ที่ ทรูไอดีคอมมูนิตี้ ห้อง cover บนแอปทรูไอดี`คลิกเลย >> https://ttid.co/UAnK/7y9jfqkqอ่านรายละเอียดเพิ่มเติม >> https://bit.ly/3O1cmUQร่วมสนุกตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2565 - วันที่ 3 สิงหาคม 2565