การต่อ พ.ร.บ. และ ภาษีรถยนต์ หรือ รถจักรยานยนต์ เป็นหน้าที่ที่ผู้ใช้รถทุกคนต้องทำเป็นประจำทุกปีครับ เพราะนอกจากเป็นข้อกำหนดทางกฎหมายแล้ว ยังช่วยให้การขับขี่เป็นไปอย่างถูกต้อง ไม่ต้องกังวลเรื่องค่าปรับหรือการระงับทะเบียนรถอีกด้วย วันนี้ แต้มเอง จะพาคุณผู้อ่านมาอัปเดตข้อมูลเกี่ยวกับการต่อภาษีปี 2568 ว่าต้องเสียเงินกี่บาท? มีขั้นตอนอย่างไร? และสามารถต่อภาษีที่ไหนได้บ้าง? โดยเฉพาะการต่อภาษี ออนไลน์ ที่ช่วยให้สะดวกสบาย ไม่ต้องไปที่สำนักงานขนส่งให้เสียเวลา พร้อมรีวิวการทำทีละขั้นตอนแบบเข้าใจง่ายครับ การต่อ พ.ร.บ. รถยนต์และรถจักรยานยนต์ พ.ร.บ. หรือ พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ เป็นประกันภัยภาคบังคับที่รถทุกคันต้องมีตามกฎหมายครับ โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ความคุ้มครองแก่ผู้ขับขี่และผู้โดยสารในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ ซึ่งก่อนที่คุณผู้อ่านจะสามารถต่อภาษีรถยนต์หรือจักรยานยนต์ได้ จำเป็นต้องต่อ พ.ร.บ. ให้เรียบร้อยก่อน เอกสารที่ต้องใช้ในการต่อ พ.ร.บ. สำเนาคู่มือจดทะเบียนรถ (เล่มทะเบียน) สำเนาบัตรประชาชนของเจ้าของรถ คุณผู้อ่านสามารถต่อ พ.ร.บ. ได้ที่ บริษัทประกันภัย, โบรกเกอร์ประกันภัย, ธนาคาร, ไปรษณีย์, เคาน์เตอร์เซอร์วิส หรือ ผ่านออนไลน์ ได้ที่เว็บไซต์ของบริษัทประกันภัยต่าง ๆ หรือระบบ e-Service ของกรมการขนส่งทางบก การต่อภาษีรถ การต่อภาษีรถ หรือที่เรียกกันว่า ต่อทะเบียนรถ เป็นการชำระภาษีประจำปี เพื่อยืนยันว่ารถของคุณยังคงอยู่ในระบบและใช้งานได้อย่างถูกกฎหมายครับ โดยสามารถต่อภาษีล่วงหน้าได้ ไม่เกิน 3 เดือนก่อนหมดอายุ หากไม่ต่อภาษีตามกำหนด คุณผู้อ่านจะถูกปรับเดือนละ 1% ของค่าภาษี หรือถ้าหากขาดต่อภาษีเกิน 3 ปี ทะเบียนรถจะถูกระงับ ต้องจดทะเบียนใหม่เท่านั้นเลยนะครับ ดังนั่นแนะนำว่าให้รีบไปต่อภาษีรถยนต์ให้ถูกต้องไปเลยดีกว่า เอกสารที่ใช้ในการต่อภาษีรถยนต์และรถจักรยานยนต์ สำเนาทะเบียนรถ สำเนาบัตรประชาชนของเจ้าของรถ ใบตรวจสภาพรถ (สำหรับรถยนต์ที่มีอายุเกิน 7 ปี และรถจักรยานยนต์ที่มีอายุเกิน 5 ปี) เอกสาร พ.ร.บ. ที่ต่อเรียบร้อยแล้ว ช่องทางในการต่อภาษีรถยนต์และรถจักรยานยนต์ คุณผู้อ่านสามารถเลือกช่องทางที่สะดวกต่อภาษีได้ตามนี้ครับ สำนักงานขนส่งทางบก ไปรษณีย์ไทย ห้างสรรพสินค้า ที่ร่วมโครงการ Shop Thru for Tax ธ.ก.ส. และธนาคารบางแห่ง เคาน์เตอร์เซอร์วิส แอปพลิเคชัน DLT Vehicle Tax เว็บไซต์ e-Service ของกรมการขนส่งทางบก วิธีต่อภาษีรถยนต์ออนไลน์ผ่านระบบ e-Service (อัปเดตล่าสุด 2568) ปัจจุบัน การต่อภาษีรถยนต์ออนไลน์ เป็นวิธีที่สะดวกที่สุด เพราะไม่ต้องเดินทางไปสำนักงานขนส่ง สามารถทำเองได้จากที่บ้าน โดยใช้เวลาไม่กี่นาทีเท่านั้น แต้มจะพาคุณผู้อ่านดูขั้นตอนแบบละเอียดกันครับ เข้าเว็บไซต์ e-Service ของกรมการขนส่งทางบก โดยไปที่ https://eservice.dlt.go.th ลงทะเบียน หรือเข้าสู่ระบบ โดยหากยังไม่เคยใช้งาน ให้กด “สมัครสมาชิก” กรอกข้อมูลให้ครบ และถ้าหากเคยลงทะเบียนแล้ว ให้ “เข้าสู่ระบบ” ได้เลย เลือกเมนู “ชำระภาษีรถยนต์ประจำปีผ่านอินเทอร์เน็ต” เมื่อเข้ามาในระบบ ให้เลือกหัวข้อ “ชำระภาษีรถประจำปี” กรอกข้อมูลรถ และรายละเอียด พ.ร.บ. โดยใส่ข้อมูลทะเบียนรถ และยี่ห้อรถ และอัปโหลดสำเนาเอกสาร พ.ร.บ. (ไฟล์ PDF หรือรูปภาพ) เลือกวิธีชำระเงิน ซึ่งคุณผู้อ่านสามารถเลือกวิธีชำระภาษีได้หลายแบบ เช่น หักบัญชีธนาคาร ชำระผ่านบัตรเครดิต/เดบิต จ่ายผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส ตรวจสอบข้อมูล และกดยืนยัน รอรับเอกสารทางไปรษณีย์ โดยหลังจากชำระเงินเรียบร้อยแล้ว กรมการขนส่งทางบกจะส่ง ใบเสร็จรับเงิน ป้ายภาษีใหม่ และหลักฐานการต่อทะเบียน ไปทางไปรษณีย์ ภายใน 5 วันทำการนั่นเองครับ ค่าธรรมเนียมในการต่อภาษีรถยนต์ 2568 เสียเงินกี่บาท? ค่าต่อภาษีรถยนต์ในปี 2568 จะแตกต่างกันไปตามประเภทของรถ ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ๆ คือ รถยนต์ส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่ง, รถบรรทุกส่วนบุคคล และรถยนต์ส่วนบุคคลที่มีที่นั่งมากกว่า 7 ที่นั่ง โดยวิธีการคำนวณภาษีจะขึ้นอยู่กับ ขนาดเครื่องยนต์ (CC) หรือ น้ำหนักของรถยนต์ 1. รถยนต์ส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่ง รถประเภทนี้รวมถึงรถเก๋งและรถกระบะที่มีที่นั่งไม่เกิน 7 ที่นั่ง (ป้ายทะเบียนขาว ตัวหนังสือดำ) โดยค่าภาษีจะคำนวณจาก ขนาดเครื่องยนต์ (CC) เป็นหลัก ซึ่งคิดตามอัตราดังนี้ หากเครื่องยนต์มีขนาด ไม่เกิน 600 CC จะเสียภาษีในอัตรา CC ละ 50 สตางค์ เครื่องยนต์ขนาด 601 – 1,800 CC จะเสียภาษีในอัตรา CC ละ 1.50 บาท สำหรับรถที่มีขนาดเครื่องยนต์ ตั้งแต่ 1,801 CC ขึ้นไป อัตราภาษีจะเพิ่มขึ้นเป็น CC ละ 4 บาท ตัวอย่างเช่น หากคุณผู้อ่านใช้รถยนต์ที่มีเครื่องยนต์ขนาด 1,500 CC จะต้องเสียภาษี (600 × 0.50) + (900 × 1.50) = 300 + 1,350 = 1,650 บาท นั่นเองครับ 2. รถบรรทุกส่วนบุคคล หรือรถกระบะที่มีที่นั่งมากกว่า 7 ที่นั่ง รถประเภทนี้มักเป็นรถกระบะที่ใช้บรรทุกของ หรือรถบรรทุกขนาดเล็กที่มีที่นั่งมากกว่า 7 ที่นั่ง (ป้ายทะเบียนขาว ตัวหนังสือเขียว) ค่าภาษีจะคำนวณจาก น้ำหนักของรถยนต์ (กิโลกรัม) ตามอัตราดังนี้ รถที่มีน้ำหนัก 50 – 750 กิโลกรัม เสียค่าภาษี 450 บาท หากน้ำหนักอยู่ระหว่าง 751 – 1,000 กิโลกรัม ค่าภาษีจะอยู่ที่ 600 บาท น้ำหนัก 1,001 – 1,250 กิโลกรัม ค่าภาษีจะเพิ่มเป็น 750 บาท น้ำหนัก 1,251 – 1,500 กิโลกรัม ค่าภาษีอยู่ที่ 900 บาท ถ้าน้ำหนักอยู่ระหว่าง 1,501 – 1,750 กิโลกรัม ค่าภาษีจะเป็น 1,050 บาท น้ำหนัก 1,751 – 2,000 กิโลกรัม เสียภาษี 1,350 บาท และหากรถมีน้ำหนัก มากกว่า 2,001 กิโลกรัม ค่าภาษีจะอยู่ที่ 1,650 บาท 3. รถยนต์ที่มีที่นั่งมากกว่า 7 ที่นั่ง รถในกลุ่มนี้ได้แก่ รถตู้โดยสาร, รถบ้าน หรือรถครอบครัวขนาดใหญ่ (ป้ายทะเบียนขาว ตัวหนังสือน้ำเงิน) โดยค่าภาษีจะถูกคิดจาก น้ำหนักของรถยนต์ รถที่มีน้ำหนัก น้อยกว่า 1,800 กิโลกรัม จะเสียภาษี 1,300 บาท ส่วนรถที่มีน้ำหนัก มากกว่า 1,800 กิโลกรัมขึ้นไป ค่าภาษีจะอยู่ที่ 1,600 บาท ค่าปรับกรณีต่อภาษีรถยนต์ล่าช้า หากคุณผู้อ่านลืมหรือล่าช้าในการต่อภาษี จะต้องเสียค่าปรับเพิ่มเดือนละ 1% ของค่าภาษี ตัวอย่างเช่น ถ้าค่าภาษีรถยนต์ของคุณอยู่ที่ 1,000 บาท แล้วล่าช้าไป 3 เดือน ค่าปรับจะอยู่ที่ (1,000 × 3%) = 30 บาท รวมแล้วต้องจ่าย 1,030 บาท นั่นเองครับ ดังนั้น ถ้าหากไม่อยากเสียเงินเพิ่มฟรี ๆ ควรต่อภาษีล่วงหน้าให้ทันเวลานะครับ ซึ่งปัจจุบันสามารถทำล่วงหน้าได้ สูงสุด 3 เดือนก่อนวันหมดอายุครับ ในปี 2568 นี้ การต่อภาษีรถยนต์มีความสะดวกและง่ายดายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการต่อภาษีที่สำนักงานขนส่ง, ไปรษณีย์ หรือผ่านการทำธุรกรรมออนไลน์ที่คุณสามารถทำได้ตลอด 24 ชั่วโมง ทุกที่ทุกเวลา ไม่ต้องห่วงเรื่องการลางานหรือหาเวลาไปที่สำนักงานขนส่งกันเลยครับ อย่าลืมต่อภาษีให้ทันเวลาเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียค่าปรับเพิ่มเติม หากมีข้อสงสัยหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับขั้นตอนต่าง ๆ คุณสามารถเข้าไปที่เว็บไซต์ กรมการขนส่งทางบก หรือ แอปพลิเคชัน ที่เปิดให้บริการ เพื่อความสะดวกในการดำเนินการต่อภาษีรถยนต์ครับ เพียงเท่านี้การต่อภาษีรถยนต์ก็จะไม่ใช่เรื่องยุ่งยากสำหรับคุณอีกต่อไปครับผม นอกจากนี้ คุณผู้อ่านก็สามารถมาพูดคุยกันได้ในช่อง “แสดงความคิดเห็น” ได้เลยนะครับ แต้มเอง เป็นพื้นที่ในการเล่าเรื่องราวที่น่าสนใจที่แต้มได้ไปเจอมา ทั้งสถานที่ อาหาร การใช้ชีวิต และเรื่องราวการเรียนอีกสารพัด ฝากกดติดตามด้วยนะครับ เครดิต รูปภาพหน้าปก / รูปภาพประกอบบทความ - แต้มเอง(ผู้เขียน) ฝากติดตาม · แต้มเอง อ่านบทความอื่นๆ บน TrueID Creator เข้าร่วม Community กับ แต้มเอง เปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !