4 นศ.มช.พบพนักงานสอบสวน คดีมั่วสุมทำกิจกรรม ฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตร.วอนชุมนุมสงบ อย่าจวบจ้วงสถาบัน
เมื่อเวลา 13.30น. วันที่ 30 กรกฏาคม 2563 ที่ สภ.เมืองเชียงใหม่ นายวัฒนา เจนนภา ทนายความศูนย์เพื่อสิทธิมนุษยชน นำนักศึกษา 4 ราย ประกอบด้วย นายธนาธร วิทยเบญจางค์ นายประสิทธิ์ ครุธาโรจน์ นายวัรภัทร ธรรมจักร์ และ นายวิธญา คลังนิล มาพบ พ.ต.ท.มนัสชัย อินทร์เถือน พนักงานสอบสวน สภ.เมืองเชียงใหม่ ตามหมายเรียกของ พ.ต.ท.สมยศ วังเวียงรอง ผกก.สภ.เมืองเชียงใหม่ ลงวันที่ 21 กรกกฎาคม หรือ 9 วันที่ผ่านมา ในข้อหาร่วมกันชุมนุมทำกิจกรรม หรือมั่วสุม ณ ที่ใด อันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบ ตามพระราชกำหนด (พรก.) บริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน หลังชุมนุมขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลาออก ยุบสภา เลือกตั้งใหม่ และแก้รัฐธรรมนูญที่ข่วงท่าแพ เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ซึ่งนักศึกษาทั้ง 4 รายมีสีหน้าปกติและไม่ได้พูดใด ๆ ก่อนเข้าพบพนักงานสอบสวนดังกล่าว
ระหว่างมาพบพนักงานสอบสวนคดีดังกล่าว เจ้าหน้าที่ได้ตั้งแผงกั้นบริเวณหน้าโรงพัก 2 ด้าน กว่า 10 นาย เพื่อคัดกรองผู้ถูกกล่าวหาโดยตรวจวัดไข้ ใช้เจลล้างมือ สวมหน้ากากและรักษาระยะห่าง ตามมาตรการสาธารสุข โดยอนุญาตให้นายวัฒนา นำนักศึกษา 4 รายไปให้ปากคำพนักงานสอบสวน แต่ไม่อนุญาตสื่อมวลชน และผู้ติดตามที่มาให้กำลังใจกว่า 20 คน เข้าไปในโรงพัก เพื่อลดความแออัดและรักษาระยะห่าง ป้องกันโรคโควิด โดยมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงและการข่าวกว่า 10 หน่วยงาน สังเกตการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อรายงานผู้บังคับบัญชาตามลำดับ
กระทั่งเวลา 15.00น. นักศึกษาเข้าพบพนักงานสอบสวน เพื่อให้ปากคำ นานกว่า 1 ชั่วโมง 30 นาที ยังอยู่ระหว่างการสอบปากคำของเจ้าหน้าที่ จึงไม่ได้ออกจากห้องพนักงานสอบสวน และไม่มีเหตุการณ์รุนแรงอย่างใด
พ.ต.อ.ภูวนาถ ดวงดี ผกก.สภ.เมืองเชียงใหม่ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย เพราะการชุมนุมบางส่วนมีการพาดพิงถึงสถาบัน จำเป็นต้องเรียกมาพบพนักงานสอบสวนว่าเกี่ยวข้องกันอย่างไร ดังนั้นอยากให้การชุมนุมไม่จาบจ้วง หรือล่วงล้ำเบื้องสูง เพราะ 3 สถาบัน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ต้องอยู่คู่ประเทศและคนไทย หากชุมนุมอย่าสงบ อยู่ในกรอบกฎหมาย เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ไม่น่ามีปัญหาอย่างใด