ภาพประกอบปกบทความโดย ipopba จาก freepikเชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยได้ยินคนพูดมาบ้างว่า ‘อย่ากินยา 2 ตัวนี้พร้อมกันนะ เดี๋ยวยามันจะไปตีกัน’ ซึ่งหากไม่ใช่คนที่มีความรู้เรื่องกลไกการออกฤทธิ์ของยาก็อาจจะงง ๆ อยู่สักเล็กน้อยว่า ยามันไม่มีแขนมีขา มันจะตีกันได้ยังไง ถ้าตีกันได้แล้วมันจะไปตีกันท่าไหน ?ผู้เขียนในฐานะเภสัชกร จึงอยากจะมาแนะนำและอธิบายเรื่องยาตีกันแบบง่าย ๆ ให้ได้ฟังกันค่ะคำว่า “ยาตีกัน” นั้น ความจริงแล้วคือเป็นคำภาษาไทยที่จะใช้พูดกันอย่างง่าย ๆ เพื่อให้ผู้ฟังเห็นภาพว่าไม่ควรที่จะรับประทานยาเหล่านี้ร่วมกัน เพราะมันไม่ถูกกัน หากกินไปแล้วก็อาจจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นสักอย่างในร่างกายได้ การใช้คำว่า “ตีกัน” นั้นจึงเป็นคำที่ดูเหมาะสมที่สุดและเข้าใจง่ายที่สุดเมื่อเทียบกับคำว่ายา “เกิดอันตรกิริยาระหว่างยา” หรือ "Drug Interactions" ซึ่งเป็นศัพท์ทางการที่ใช้กันจริง ๆ สำหรับคำว่ายาตีกันค่ะภาพประกอบโดย pch.vector จาก freepikการตีกันของยานั้น จริง ๆ แล้วมันอาจเกิดขึ้นได้จากทั้งกลไกการออกฤทธิ์ของตัวยาแต่ละตัว หรืออาจเกิดจากโครงสร้างของยาเอง ซึ่งรูปแบบยาตีกันนั้นก็ยังแบ่งย่อยไปได้อีกหลากหลายรูปแบบตัวอย่างเช่น แคลเซียมสามารถไปจับกับตัวยาฆ่าเชื้อบางชนิด ดังนั้นเมื่อเรากินแคลเซียมพร้อมยาฆ่าเชื้อนั้นเข้าไป แทนที่ยาจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดแล้วไปออกฤทธิ์ สุดท้ายกลายเป็นว่าทั้งยาฆ่าเชื้อทั้งแคลเซียมต่างพากันจูงมือกันเดินผ่านลำไส้ออกไปรวมกับอุจจาระไปเลย โดยไม่มีโอกาสได้ไปฆ่าเชื้อโรคตามที่เราหวังไว้ ก็จะทำให้เราไม่หายจากการติดเชื้อนั้นสักที ซึ่งไม่ใช่เป็นเพราะว่ายาฆ่าเชื้อนั้นไม่ดี แต่เป็นเพราะเรากินแคลเซียมเข้าไปพร้อมยาฆ่าเชื้อต่างหากล่ะหรืออย่างยาบางตัวเมื่อกินร่วมกัน มันอาจจะไม่ได้ไปขัดแข้งขัดขากันโดยตรง แต่จะใช้วิธีจ้างวานผ่านคนกลาง เช่นไปจ้างเอนไซม์ตัวทำลายยาให้ไปทำลายยาอีกตัวหนึ่งเพิ่มมากขึ้น จนทำให้ยาอีกตัวหมดฤทธิ์ไปในที่สุด หรือในทางตรงข้าม ยาตัวหนึ่งอาจจะไปขัดขวางการทำงานของเอนไซม์ที่ใช้ทำลายยาอีกตัวหนึ่ง จึงทำให้แทนที่ยาจะถูกทำลายและกำจัดออกจากร่างกายตามปกติ กลับกลายเป็นว่ามียาหลงเหลืออยู่ในร่างกายเยอะขึ้น จนสุดท้ายก็เกิดพิษจากยาตามมาได้ภาพประกอบโดย studiogstock จาก freepikแต่การตีกันของยานั้นก็ใช่ว่าจะเป็นสิ่งเลวร้ายเสมอไปนะคะ เพราะบางครั้งเราก็อาศัยความรู้จากการตีกันของยามาใช้ในการพิจารณาให้ยาร่วมกันได้เหมือนกัน โดยเป็นการให้เพื่อหวังผลว่าเมื่อให้ยาร่วมกันไปแล้วยาจะมีการเสริมฤทธิ์กันให้ออกฤทธิ์ได้ดียิ่งขึ้นหรือดีกว่าการเลือกใช้ยาตัวใดตัวหนึ่งเพียงอย่างเดียวนั่นเองและสำหรับใครที่กำลังจะรับประทานยาใด ๆ อยู่ก็ตาม ก็ไม่ต้องตกใจหรือเป็นกังวลไปนะคะว่าถ้ากินยาหลาย ๆ ตัวร่วมกันแล้วยามันจะไปตีกันจนเกิดอันตราย เพราะโดยส่วนใหญ่ยาหลาย ๆ ตัวสามารถรับประทานร่วมกันได้อย่างปลอดภัยอยู่แล้วภาพประกอบโดย makyzz จาก freepikซึ่งหากเราไปหาหมอที่โรงพยาบาลแล้วรับยากับเภสัชกร หรือไปซื้อยาที่ร้านยาที่มีเภสัชกรอยู่ประจำร้าน เภสัชกรก็จะประเมินก่อนทุกครั้งอยู่แล้วค่ะว่าเราสามารถกินยาเหล่านี้ร่วมกันได้หรือไม่ หรือหากจำเป็นที่จะต้องกินยาที่มันตีกันร่วมกันจริง ๆ เภสัชกรก็จะให้คำแนะนำการปฏิบัติตัวในเบื้องต้นเพื่อช่วยลดการเกิดยาตีกันค่ะ เช่น หากต้องกินแคลเซียมร่วมกับยาฆ่าเชื้อบางชนิด ก็ควรแยกกินห่างกันอย่างน้อย 2 ชั่วโมง เพื่อไม่ให้ยามันไปเจอกันในกระเพาะอาหาร ยาฆ่าเชื้อก็จะสามารถไปออกฤทธิ์ได้ตามปกติ อย่างนี้เป็นต้นค่ะสำหรับบทความเรื่องยาตีกันก็ขอจบลงเพียงเท่านี้ ไว้มีโอกาสเมื่อไหร่ผู้เขียนจะมาเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับยาให้ได้อ่านกันอีกนะคะ แล้วพบกันใหม่ในบทความหน้าค่ะ :Dรายละเอียดยืนยันผู้เขียนเป็น premium user ของ freepikE-mail kaowjaownappa@hotmail.com