ทีไอเจ เสนอทางเลือกแทนการจำคุก ลดความแออัดและลดการแพร่ระบาดโคโรนา
ทีไอเจ เสนอทางเลือกแทนการจำคุก ลดความแออัดและลดการแพร่ระบาดโคโรนา
สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในเรือนจำ ระบุนักโทษและเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ ทั่วประเทศไทยกว่า 370,000 ราย กำลังเผชิญความเสี่ยงจากการติดเชื้อไวรัส อันเนื่องมาจากสภาวะ “นักโทษล้นเรือนจำ” พร้อมเสนอแนวทางการรับมือเพื่อแก้วิกฤติ ด้วยมาตรการทางเลือกแทนการจำคุก (Non-custodial Measure) ช่วยลดปัญหาความแออัดและความเสี่ยงจากการติดเชื้อในเรือนจำ
TIJ ได้เผยแพร่ “รายงานสถานการณ์และข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเกี่ยวกับการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในเรือนจำ” ซึ่งชี้ให้เห็นว่า หลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย กำลังเผชิญกับสถานการณ์ “นักโทษล้นเรือนจำ” นำมาซึ่งความแออัดและความขาดแคลนด้านสาธารณสุข ยิ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่อย่างโควิด-19 นี้ ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงการติดเชื้อและการแพร่ระบาดในเรือนจำ ส่งผลกระทบต่อทั้งผู้ต้องขังและเจ้าหน้าที่ และอาจกระทบต่อสังคมภายนอกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ปัจจุบันประเทศไทยมีเรือนจำและทัณฑสถานทั่วจำนวน 143 แห่ง สามารถรับรองผู้ต้องขังได้ 254,302 คน แต่จำนวนผู้ต้องขังทั้งประเทศมีจำนวน 377,722 คน (ณ วันที่ 25 มีนาคม 2563) ซึ่งเกินความจุเรือนจำอยู่กว่า 123,000 คน ทำให้ผู้ต้องขังอาศัยอยู่รวมกันในสภาพแออัด ต้องใช้พื้นที่ร่วมกัน และอยู่ด้วยกันจำนวนมากเป็นเวลานาน การหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดหรือการเว้นระยะห่างจากผู้ต้องขังอื่นในพื้นที่ปิดและจำกัดเช่นนี้จึงเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก
จากรายงานสถานการณ์ของกรมราชทัณฑ์ เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2563 พบว่ามีผู้ต้องขังที่ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยแล้ว 2 ราย และมีผู้บัญชาการเรือนจำติดเชื้อ 1 ราย นอกจากนั้น เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2563 ได้เกิดเหตุจลาจลของผู้ต้องขังกว่า 100 ราย ในเรือนจำจังหวัดบุรีรัมย์ โดยสันนิษฐานว่าเกิดจากความตื่นตระหนกเกี่ยวกับการติดเชื้อโควิด-19 แม้ยังไม่ปรากฏการติดเชื้อในเรือนจำดังกล่าวก็ตาม
ในสถานการณ์เช่นนี้ ความแออัดในเรือนจำเป็นความเสี่ยงสำคัญของการแพร่ระบาดของโรค รายงานของ TIJ ได้เสนอให้ใช้โทษจำคุกในกรณีที่จำเป็นเท่านั้น และมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่เน้น “มาตรการทางเลือกแทนการจำคุก” ซึ่งหมายรวมถึง การหลีกเลี่ยงการจำคุกในชั้นก่อนพิจารณาคดีและชั้นการพิจารณาคดี และการปล่อยตัวผู้ต้องขังในกรณีที่เหมาะสม ดังนี้
1. การใช้มาตรการอื่นแทนการจำคุกระยะสั้นสำหรับผู้กระทำผิดคดีไม่รุนแรง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีอาการป่วยหรือโรคประจำตัว หญิงที่ตั้งครรภ์ และผู้กระทำผิดคดีเล็กน้อยที่ไม่เป็นภัยอันตรายต่อสังคม โดยใช้วิธีการอื่น เช่น การเรียกค่าปรับ การใช้มาตรการคุมประพฤติ การควบคุมตัวที่บ้าน และการใช้กำไลอิเล็กทรอนิกส์
2. การใช้มาตรการฉุกเฉินเพื่อปล่อยตัวผู้ต้องขังที่พิจารณาแล้วว่าไม่เป็นภัยต่อสังคม โดยพิจารณาจากลักษณะความผิด ความประพฤติโทษคงเหลือ ตลอดจนภาวะความเสี่ยงด้านสุขภาพ และเลือกใช้วิธีการที่เหมาะสม อาทิ การปล่อยก่อนกำหนด การพักโทษ การปล่อยตัวชั่วคราว และเปลี่ยนโทษจำคุกที่เหลือเป็นการควบคุมตัวที่บ้าน โดยให้ความสำคัญกับผู้ต้องขังในกลุ่มต่อไปนี้เป็นอันดับแรก
2.1 ผู้ต้องขังระหว่างที่คดียังไม่เสร็จเด็ดขาด (อยู่ระหว่างการสอบสวน การไต่สวนพิจารณา และการอุทธรณ์ – ฎีกา) รวมทั้งผู้ถูกกักกัน ผู้ต้องกักขังรวม ซึ่งมีจำนวนราว 67,000 คน
2.2 ผู้ต้องขังเด็ดขาดที่เหลือโทษจำคุก ตั้งแต่ 1 ปี ลงไป มีจำนวนประมาณ 72,000 คน
2.3 ผู้ต้องขังเด็ดขาดที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป ซึ่งมีจำนวนประมาณ 5,800 คน
2.4 ผู้ต้องขังเด็ดขาดกลุ่มคดีอื่น ๆ ที่มีความผิดไม่ร้ายแรง (อาทิ พ.ร.บ. ป่าไม้ พ.ร.บ. คนเข้าเมือง พ.ร.บ. การพนัน คดีลหุโทษ ฯลฯ) ซึ่งมีประมาณ 9,400 คน
3. การมีระบบการติดตามและรายงานตัวของผู้ต้องขังที่มีประสิทธิภาพในกรณีการปล่อยตัวแบบมีเงื่อนไข รวมทั้งกำหนดแนวทางที่ชัดเจนเกี่ยวกับการคัดกรองด้านสุขภาพก่อนการปล่อยตัว การให้ความรู้แก่ผู้ต้องขังเกี่ยวกับการปฏิบัติตัวในสถานการณ์การแพร่ระบาด การเคลื่อนย้ายถิ่นฐานกลับภูมิลำเนา ตลอดจนการให้ความช่วยเหลือด้านอาชีพหลังพ้นโทษ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้กระทบต่อความสงบและความปลอดภัยของสังคม
สำหรับรายงานฉบับเต็มสามารถดาวน์โหลดได้ที่ คลิกที่นี่ หรือ ค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการที่มิใช่การคุมขังเพิ่มเติม ได้ที่เว็บไซต์ https://www.tijthailand.org/