รีเซต

การแข่งขันกันเป็นบลู-วอเตอร์เนวีที่แท้จริงระหว่างจีนกับอินเดีย

การแข่งขันกันเป็นบลู-วอเตอร์เนวีที่แท้จริงระหว่างจีนกับอินเดีย
มติชน
14 กรกฎาคม 2564 ( 14:10 )
109

สมรรถนะของกองทัพเรือแบบสากลนั้นแบ่งเป็น 3 ระดับ หรือ 3 สี คือ บราวน์-วอเตอร์เนวี (น้ำสีน้ำตาล) กรีน-วอเตอร์เนวี (น้ำสีเขียว) และ บลู-วอเตอร์เนวี (น้ำสีน้ำเงิน) กล่าวคือ บราวน์-วอเตอร์เนวี หรือการสงครามแม่น้ำ (riverine warfare) อ้างถึงความหมายที่กว้างที่สุดต่อกองกำลังเรือใดๆ ที่สามารถปฏิบัติการทางทหารในแม่น้ำ หรือสภาพแวดล้อมบริเวณฝั่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มีตะกอนมากจากดินไหลบ่า หรือน้ำท่วม ซึ่งประเทศไทยเราส่วนใหญ่ในประวัติศาสตร์ก็เป็นบราวน์-วอเตอร์เนวีมาโดยตลอด สำหรับกองทัพเรือสหรัฐอเมริกาในช่วงสงครามกลางเมืองอเมริกา ก็คือกองกำลังทัพเรือของฝ่ายเหนือที่ลาดตระเวนแม่น้ำมิสซิสซิปปีที่เต็มไปด้วยโคลน และนับแต่นั้นมาได้ใช้อธิบายเรือปืนลำเล็ก และเรือตรวจการณ์ที่ใช้กันทั่วไปในแม่น้ำ พร้อมกับ “เรือแม่” ขนาดใหญ่ที่สนับสนุนพวกเขา เรือแม่เหล่านี้รวมถึงเรือแอลซีเอ็ม (เรือยกพลขึ้นบก) และเรือแอลเอสที (เรือยกพลขนาดใหญ่ ใช้ในการลำเลียงรถถัง ยานเกราะ รถบรรทุก ทหาร) ในยุคสงครามโลกครั้งที่สองที่ดัดแปลงแล้ว

 

 

บราวน์-วอเตอร์เนวี แตกต่างกับ บลู-วอเตอร์เนวี ที่เหมาะกับทะเล ซึ่งสามารถดำเนินการอย่างอิสระในมหาสมุทรเปิด ส่วน กรีน-วอเตอร์เนวี ซึ่งสามารถปฏิบัติการในบริเวณชะวากทะเลน้ำกร่อยและชายฝั่งบริเวณฝั่ง เป็นตัวเชื่อมระหว่างบราวน์-วอเตอร์เนวี กับบลู-วอเตอร์เนวี

 

 

กองทัพเรือส่วนใหญ่ของประเทศที่มีอาณาเขตติดทะเลนั้นล้วนแล้วแต่มีกองทัพเรือประเภทกรีน-วอเตอร์เนวีแทบทั้งนั้น เนื่องจากคำจำกัดความของบลู-วอเตอร์เนวี คือ

 

 

“กองทัพเรือที่มีสมรรถนะในการปฏิบัติการในทะเลหลวงที่สามารถแสดงแสนยานุภาพในการรบทางเรือได้ทั้งในน่านน้ำและสามารถยกพลขึ้นบก เพื่อทำการรบบนแผ่นดินได้ด้วย ตามปกติแล้วคือต้องมีเรือบรรทุกเครื่องบินอย่างน้อย 1 ลำ”

 

 

ดังนั้น ราชาของกองทัพเรือแบบบลู-วอเตอร์เนวีก็คือเรือบรรทุกเครื่องบินนั่นเอง แต่เนื่องจากเรือบรรทุกเครื่องบินแต่ละลำนั้นมีราคาสูงมากและการออกปฏิบัติการทางทะเลแต่ละครั้งต้องใช้ทหารและผู้คนนับหมื่นโดยต้องมีเรือคุ้มกันไปด้วยอีกนับสิบลำ ในปัจจุบันมีเพียง 9 ประเทศในโลกที่มีกองทัพเรือระดับบลูวอเตอร์เนวี

 

 

ประเทศที่จะมีเรือบรรทุกเครื่องบินได้ จึงต้องเป็นประเทศที่มั่งคั่งมาก กล่าวกันว่าประเทศสหภาพโซเวียตที่ล่มสลายไปเมื่อ พ.ศ.2534 นั้นมีสาเหตุสำคัญประการหนึ่งคือรัฐบาลสหภาพโซเวียตทุ่มเทเงินงบประมาณในการสร้างเรือบรรทุกเครื่องบินหลายลำพร้อมๆ กันจนเศรษฐกิจล้มละลายไปเลยทีเดียว

 

 

ปัจจุบันนี้มีเรือบรรทุกเครื่องบินประจำการอยู่ 44 ลำ โดยสหรัฐอเมริกาประเทศเดียวมีเรือบรรทุกเครื่องบินที่ใหญ่ที่สุดและทันสมัยที่สุดถึง 11 ลำ สามารถบรรทุกเครื่องบินโจมตีได้ ลำละ 80 เครื่อง

 

 

สำหรับอังกฤษและสาธารณรัฐประชาชนจีนมีเรือบรรทุกเครื่องบินประเทศละ 2 ลำ ส่วนฝรั่งเศส อินเดีย รัสเซีย มีเรือบรรทุกเครื่องบินขนาดกลางประเทศละ 1 ลำ ทั้ง 5 ประเทศนี้ใช้เรือบรรทุกเครื่องบินที่บรรทุกเครื่องบินโจมตีได้ 30-60 เครื่อง โดยอิตาลีมีเรือบรรทุกเครื่องบินขนาดเล็ก 2 ลำ และสเปนมี 1 ลำ

 

 

ส่วนญี่ปุ่นได้ดัดแปลงเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ 2 ลำคือ เรือเจเอส อิซุโมะ และ เรือเจเอส คางะ (แบบเดียวกับเรือรบหลวงจักรีนฤเบศรของไทย) ให้เป็นเรือบรรทุกเครื่องบินประเภทขึ้นลงทางดิ่งและใช้ทางวิ่งสั้น (STOVL aircraft) เรือรบทั้ง 2 ลำนี้มีความยาว 814 ฟุต ระวางขับน้ำ 27,000 ตัน ถือเป็นเรือที่มีขนาดใหญ่สุดของกองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลญี่ปุ่นในปัจจุบัน แต่เรือบรรทุกเครื่องบินรบของญี่ปุ่นนั้นบรรทุกเครื่องบินรบได้เต็มที่เพียงลำละ 10 เครื่องเท่านั้น

 

 

สาธารณรัฐประชาชนจีนที่โชว์กำลังทางเรือข่มขู่ไต้หวัน และอ้างสิทธิในทะเลจีนใต้เกือบทั้งหมดก็ได้ใช้เรือบรรทุกเครื่องบินรุ่น 30 กว่าปีมาแล้ว 2 ลำเป็นหลัก โดยกำลังสร้างใหม่อีกลำหนึ่งซึ่งจะใหญ่และทันสมัยกว่าเรือบรรทุกเครื่องบินที่มีอยู่ทั้ง 2 ลำในปัจจุบัน และมีโครงการที่จะสร้างเรือบรรทุกเครื่องบินที่ใช้พลังงานนิวเคลียร์อีกในอนาคตซึ่งหากจีนสามารถสร้างเรือบรรทุกขึ้นอีก 2 ลำตามที่วางโครงการไว้ เมื่อนั้น


กองทัพเรือของจีนก็จะเป็นกองทัพเรือระดับบลู-วอเตอร์เนวี อย่างแท้จริง

 

 

นอกจากจีนแล้ว ก็ยังมีประเทศอินเดียอีกประเทศหนึ่งที่มีเรือบรรทุกเครื่องบินโดยทางการอินเดียเอาสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นเกณฑ์วัดที่สำคัญสำหรับการแข่งขันแสนยานุภาพทางการทหารอันรวมถึงเรือบรรทุกเครื่องบินกับจีน โดยก่อนหน้า พ.ศ.2555 ที่จีนจะมีเรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกนั้น กองทัพเรืออินเดียมีเรือบรรทุกเครี่องบินอยู่ 2 ลำ แต่ต่อมาใน พ.ศ.2540 อินเดียได้ปลดระวางเรือบรรทุกเครื่องบินไปลำหนึ่งที่ซื้อต่อมาจากอังกฤษไปเนื่องจากเก่ามาก ทำให้ในเวลานี้อินเดียมีเรือบรรทุกเครื่องบิน “ไอเอ็นเอส วิกรามาทิตยา” ขนาดระวางขับน้ำ 45,400 ตัน ที่อินเดียซื้อต่อมาจากประเทศรัสเซียไว้ประจำการเพียง 1 ลำ แต่ พล.ร.อ.การามพีร์ ซิงห์ ผู้บัญชาการทหารเรือของอินเดียให้สัมภาษณ์ว่า มีแผนการที่จะให้กองทัพเรืออินเดีย มีเรือบรรทุกเครื่องบินประจำการให้ได้ประมาณ 3 ลำเป็นอย่างน้อย เพื่อลดช่องว่างทางแสนยานุภาพต่อสาธารณรัฐประชาชนจีนที่มีเป้าหมายที่จะมีเรือบรรทุกเครื่องบินไว้ที่ 6 ลำ ภายในปี พ.ศ.2592 หรืออีก 30 ปีข้างหน้า นอกเหนือจากการสั่งสมแสนยานุภาพทางทหารอื่นๆ แล้วสาธารณรัฐประชาชนจีนยังได้รุกคืบขยายอิทธิพลเข้ามายังมหาสมุทรอินเดีย จนถึงขั้นมาตั้งฐานทัพในประเทศจิบูตีและประเทศศรีลังกาแล้ว สร้างความกังวลให้แก่อินเดียไม่น้อย ส่งผลให้ทางการอินเดีย ต้องเร่งแผนการจัดหาเรือบรรทุกเครื่องบินเพิ่มขึ้นโดยด่วน

 

 

ครับ ! การที่จะมีกองทัพเรือระดับบลู-วอเตอร์เนวีนี่มันแพงครับแต่ทั้งจีนและอินเดียก็คงได้รับบทเรียนจากการที่สหภาพโซเวียตได้ทุ่มเงินงบประมาณมหาศาลที่จะสร้างกองทัพเรือของสหภาพโซเวียตให้เป็นบลู-วอเตอร์เนวีจนกระทั่งประเทศล้มละลายซึ่งเรือบรรทุกเครื่องบินของทั้งอินเดียและจีนต่างก็ซื้อต่อเรือบรรทุกเครื่องบินจากอดีตสหภาพโซเวียตทั้งสิ้น