‘อนุทิน’โชว์-ปลดล็อกกัญชา เงินสะพัดปีเดียว‘7พันล้าน’
หมายเหตุ – นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมวิชาการกัญชาทางการแพทย์นำร่อง เขตสุขภาพที่ 9 เป็นเขตแรกจากทั้งหมด 12 เขตสุภาพทั่วประเทศ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-6 มีนาคม ที่อาคารเรียนรวม 100 ปี คณะเทคโนโลยีการจัดการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ อ.เมืองสุรินทร์
เรื่องของกัญชา พรรคภูมิใจไทยใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง เมื่อผมได้รับเลือกตั้งเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้รับความร่วมมือจากกระทรวงสาธารณสุขทุกกรม และเครือข่ายร่วมกันผลักดัน ขับเคลื่อนนโยบายตลอดระยะเวลา 3 ปี ถือว่าประสบผลสำเร็จเป็นขั้นเป็นตอนในการทำให้กัญชากลายเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ที่โดดเด่น
เริ่มจากการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ การทำให้กัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจของชุมชน ความสำเร็จล่าสุด คือ การแก้กฎหมายทำให้กัญชาหลุดจากการเป็นยาเสพติดให้โทษ เป้าหมายแรกที่ประสบความสำเร็จ คือ การใช้ประโยชน์จากกัญชาทางการแพทย์ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากกรมวิชาการด้านการวิจัยและรักษา
ทั้งกรมการแพทย์ กรมแพทย์แผนไทย และกรมสุขภาพจิต ร่วมกันศึกษาวิจัย กำหนดแนวทางการใช้ประโยชน์จากกัญชาทางการแพทย์ จัดอบรม และจัดสอบขึ้นทะเบียนผู้เชี่ยวชาญ ทำให้วันนี้มีผู้ป่วยได้รับยากัญชามากถึง 100,000 ราย
จากการไปเยี่ยมโรงพยาบาลได้เห็นผลการใช้การนำกัญชารักษาโรคลมชัก โรคพาร์กินสัน ภาวะคลื่นไส้และอาเจียนจากยาเคมีบำบัด นอนไม่หลับ ที่ผู้ป่วยและญาติเล่าว่าการใช้กัญชาสามารถเสริมการรักษาแผนปัจจุบันได้อย่างดี ช่วยให้คุณภาพชีวิตดียิ่ง ในบางรายลดการใช้ยาแผนปัจจุบันราคาแพงที่ต้องเสียเงินเพิ่มได้
ขณะนี้รัฐบาลได้ทำมาถึงขั้นสูงสุด คือแก้กฎหมายปลดกัญชาออกจากการเป็นยาเสพติดแล้ว แต่อยากให้ประชาชนอดใจรออีกไม่เกิน 120 วัน หรือภายในวันที่ 9 มิถุนายน 2565 เป็นวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีผลบังคับใช้ หลังจากนั้นกัญชาไทยจะผงาดขึ้นไปเป็นพืชเศรษฐกิจ ทั้งรักษาโรค ป้องกันโรค ยังต้องรอการวิจัยอีกว่าคนสมัยก่อนเขาใช้กัญชากันอย่างไร ถึงจะมีสุขภาพแข็งแรง เชื่อว่ากัญชาจะรักษาโรคได้มากชนิดกว่าที่วิจัยกันมาก่อนหน้านี้อย่างแน่นอน
การใช้กัญชาจำเป็นต้องอยู่ภายใต้การดูแลรักษาโดยแพทย์ แพทย์แผนไทย หรือแพทย์พื้นบ้านที่มีใบอนุญาตในการสั่งจ่าย ได้เน้นย้ำเพื่อขอให้บุคลากรทางการแพทย์ช่วยเปิดประตูหัวใจ ศึกษาประโยชน์ เข้ารับการอบรม และฝึกการใช้กัญชาในการรักษา เรียนรู้และสังเกตผลด้วยตนเอง เพื่อให้มีการใช้กัญชาทางการแพทย์เพิ่มขึ้น เพราะผู้ป่วย 100,000 ราย ยังไม่มีขนาดความต้องการหรือดีมานด์เพียงพอที่จะสร้างโรงงานยาขนาดใหญ่ได้
ขอขอบคุณกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ศึกษาจนพบว่าประเทศเรามีกัญชาไทย 4 สายพันธุ์ องค์การเภสัชกรรมและโรงพยาบาลต่างๆ ก็ได้พัฒนาการสกัดและผลิตยาต้นแบบ การศึกษาวิจัยเหล่านี้จะเป็นการสนับสนุนให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้ และการพัฒนาต่อยอดในเชิงพาณิชย์
สำหรับเป้าหมายที่ 2 คือ การผลักดันให้กัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจของชุมชน ขอขอบคุณสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาที่ทำงานร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ในการปรับเปลี่ยนข้อกฎหมายเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการปลูก และต่อยอดไปสู่ผลิตภัณฑ์และบริการสุขภาพได้ง่ายขึ้น จัดทำแนวทางการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์กัญชา กัญชง อำนวยความสะดวกให้เกษตรกรและผู้ประกอบการดำเนินการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์
ปัจจุบันมีวิสาหกิจชุมชน ปลูกกัญชา 400 กว่าแห่ง ปลูกกัญชง 1,800 กว่าแห่ง ที่ได้รับอนุญาต และมีผลิตภัณฑ์จากกัญชา กัญชงออกสู่ตลาดอย่างกว้างขวาง จะเห็นได้จากผลงานในปี 2564 แม้มีสถานการณ์โควิด ผลิตภัณฑ์จากกัญชา กัญชง เป็นที่ต้องการของตลาดในประเทศอย่างมาก สร้างรายได้หมุนเวียนในระบบเศรฐกิจเป็นมูลค่าสูงกว่า 7 พันล้านบาท
ขณะนี้กำลังเดินหน้าให้คนไทยสามารถปลูกกัญชาเพื่อรักษาโรคได้ เช่นเดียวกับสมุนไพรตัวอื่น แต่จะต้องมีกระบวนการควบคุมที่เหมาะสม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภา เพื่อให้มีกฎหมายควบคุมเฉพาะ หลังจาก 120 วัน ที่กัญชาจะพ้นจากเป็นยาเสพติด
ประชาชนที่ต้องการปลูกเพื่อใช้ในครัวเรือน ไม่ต้องขออนุญาตแบบแต่ก่อน เปลี่ยนมาเป็นการจดแจ้งให้รัฐทราบ เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดของสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ผมยังคงเน้นย้ำ ได้ทำตามความต้องการของประชาชน คือการนำกัญชาออกจากยาเสพติด และขอให้ได้ใช้ประโยชน์ในทางที่ถูก และช่วยกันสอดส่องดูแลไม่ให้เพื่อนร่วมสังคมนำไปใช้ในทางที่ผิดต่อไป
เพื่อตอบรับการเปลี่ยนแปลง กระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมการไว้ 2 เรื่อง ประกอบด้วย 1.พัฒนาองค์ความรู้การใช้กัญชาเพื่อดูแลสุขภาพตนเองเบื้องต้น เสริมสร้างความรู้ให้ประชาชนผ่านสามหมอ โดยฝึกอบรมผ่านเครือข่าย อสม.ทั่วประเทศ จัดทำคู่มือและอบรมบุคลากรทางการแพทย์ในการใช้กัญชาทางการแพทย์ และเข้าใจบทบาทการเป็นผู้ให้การรักษาและดูแล
2.พัฒนาทักษะของกลุ่มเครือข่ายธุรกิจชุมชนที่พัฒนาผลิตภัณฑ์กัญชา กัญชงให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน เสริมความรู้ด้านการจัดการ ความเข้าใจความต้องการของตลาด การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่จากองค์ความรู้ทางสมุนไพร การเพิ่มประสิทธิผลและความปลอดภัย และการสนับสนุนอุตสาหกรรมยา อาหารในกลุ่มผลิตภัณฑ์จากกัญชา ตั้งแต่การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ การเพาะปลูก การเก็บเกี่ยว การสกัดและการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานสากล
โดยหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข คือ สถาบันกัญชาทางการแพทย์ เพื่อพัฒนาฐานข้อมูลกัญชา เช่น การขออนุญาต การปลูก และแหล่งวัตถุดิบและผู้เชี่ยวชาญต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกกับประชาชนและหน่วยงานต่างๆ ให้เข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อประกอบการตัดสินใจในการประกอบธุรกิจ สนับสนุนการขออนุญาตเพื่อการผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ได้สะดวกรวดเร็วมากขึ้นต่อไป