พัฒน์ณรี... อาจารย์ประจำวิชาการเขียนภาษาไทยเพื่อการประกอบอาชีพ เอ่ยชื่อฉันเพื่อให้ไปรับบทความที่ฉันส่งไป ในใจฉันเต้นตุบตับ หวังว่าคะแนนที่ได้รับต้องเกือบเต็มสิบแน่ ๆ เพราะฉันตั้งใจทำงานชิ้นนี้มาก แต่เมื่อเปิดหน้าแรกออกดู ก็พบคะแนนที่ได้คือ ศูนย์ พร้อมกับคำบอกกล่าวให้ไปพบครูที่ห้องพักครูด้วย ฉันตกใจอย่างที่สุด เพราะนั่นเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ฉันได้ศูนย์คะแนนกับงานที่ฉันคิดว่าทำได้ดี เมื่อฉันไปพบอาจารย์ที่ห้องพักครู อาจารย์สูงวัยก็ยิ้มให้ฉันอย่างอ่อนโยน พร้อมกับอธิบายว่า “รู้มั้ยว่าทำไมครูถึงให้คะแนนเธอแบบนั้น” ฉันตอบปฏิเสธ อาจารย์จึงอธิบายว่า "ฝีมือการเขียนของเธอค่อนข้างดี แต่สิ่งที่เธอขาดคือ เธอเขียนบทความท่องเที่ยว เธออธิบายประวัติของสถานที่ได้ดี แต่เธอเอาประวัติเหล่านั้นมาจากที่ไหน" ฉันตอบทันทีว่า ในอินเทอร์เน็ตค่ะ "นั่นล่ะ เธอได้ข้อมูลมาจากอินเทอร์เน็ต แต่เธอกลับไม่เขียนที่มาที่เธอค้นคว้ามาได้ งานเขียนทุกครั้ง เธอจะต้องให้เครดิตกับงานที่เธอหามาได้ ไม่ว่าจะมากจะน้อย เพราะแค่ครูเอาข้อความบางตอนของเธอไปวางในกูเกิล งานของเจ้าของจริงก็ปรากฏขึ้นแล้ว แบบนี้เธอทำผิดอย่างมากในการเขียนอ้างอิง ครูจึงไม่ให้คะแนนเธอ" นับตั้งแต่นั้นมา ฉันก็ระลึกอยู่เสมอว่า การเขียนหรือการนำข้อมูลมาจากต้นฉบับนั้น จะต้องเขียนอ้างอิงเสมอ เพราะนั่นหมายลิขสิทธิ์ของเจ้าของไอเดียนั้น ๆ อาจารย์สอนฉันจากข้อผิดพลาดอีกอย่างคือ หนึ่งประโยคมีหนึ่งใจความ สังเกตง่าย ๆ คือ มีหนึ่งประธาน หนึ่งกริยาอาการ คุณอาจจะเขียนประโยคที่ซับซ้อนกว่าประโยคเดียวได้ แต่ต้องหาใจความหลักให้พบ ฉันได้ข้อคิดนี้ เมื่อตอนที่เขียนบทความแรกเช่นกัน เพราะฉันเขียนบรรยากาศที่สวยงามของเกาะเกร็ด ฉันได้แต่พรั่งพรูความรู้สึกอันยาวเหยียดลงไปในคำนำ เพราะคิดว่ายิ่งเขียนยาว ๆ มีคำขยายความเยอะ ๆ จะทำให้บทความดูดี แต่ไม่เลย... อาจารย์ขีดฆ่าคำขยายมากมายนั้นทิ้ง แล้วบอกว่า ใจความมีแค่ เกาะเกร็ดเป็นเกาะเล็ก ๆ ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดนนทบุรี เพียงเท่านี้ฉันก็เข้าใจในทันทีว่า เมื่อเขียนงานเขียนอะไรก็ตาม อย่าเขียนเยิ่นเย้อ ถ้าอยากชมความงามก็ชื่นชมอย่างมีประเด็น ไม่ใช้คำที่มีความหมายซ้ำกันในประโยค เช่น 'เธอทำอาหารที่มีรสชาติดีมีความอร่อยอย่างยิ่ง' ควรเขียนแค่ว่า 'เธอทำอาหารอร่อยอย่างยิ่ง' หรือ 'เธอทำอาหารอร่อยดี' นอกจากนี้การเขียนงานเขียน จะต้องได้รับการตรวจทานซ้ำไปซ้ำมาจนกว่าจะถูกต้อง การสะกดคำต้องถูกทุกคำ เพราะผู้อ่านจะต้องอ่านงานของคุณ หากเขียนผิด นั่นหมายถึงการไม่ใส่ใจในการเขียน รวมถึงอาจทำให้เกิดการนำไปใช้ในทางที่ผิดต่อไปได้ หลักการนี้สำคัญอย่างมากในการส่งบทความหรือนิยายและเรื่องสั้นเพื่อให้ทางสำนักพิมพ์พิจารณา เพราะยิ่งคุณเขียนผิดพลาดมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งทำให้การพิจารณาผ่านได้ยากมากเท่านั้นเครดิตภาพ : https://www.canva.com/design/DAD5t7klBAs/z4xRw7ZPaSvv2evTY1Z8bQ/edit การที่เราเขียนงานของเราเอง อาจจะไหว้วานให้เพื่อน หรือครอบครัวช่วยอ่าน เพราะเมื่อเราอ่านไปเรื่อย ๆ ก็จะเกิดความคุ้นชินในภาษาของตัวเอง ทำให้ละเลยคำที่เขียนง่าย ๆ ได้ การที่ให้คนอื่นช่วยตรวจทาน จะทำให้เราแก้ไขงานได้ดียิ่งขึ้น ยิ่งคำใดที่เป็นคำทับศัพท์ หรือคำที่เราไม่ได้ใช้บ่อย ควรตรวจสอบจากพจนานุกรม ราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 http://www.royin.go.th/dictionary/ นี่คือเหตุผลที่ตามสำนักพิมพ์ต่าง ๆ จำเป็นต้องมีคนคอยพิสูจน์อักษร เพื่อผลงานตีพิมพ์ที่ถูกต้องที่สุดเครดิตภาพ :http://www.royin.go.th/dictionary/ นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้คุณใช้ภาษาไทยได้อย่างถูกต้องเมื่อจะเขียนงานเขียนเพื่อการประกอบอาชีพ บทความต่อไปผู้เขียนจะมาพูดถึงการเขียนบทความอย่างไรให้ผ่านการพิจารณา และการคิดหัวข้อเรื่องยังไงไม่ให้ตัน แล้วอย่าลืมติดตามกันนะคะ เครดิตภาพจาก : www.canva.com http://www.royin.go.th/dictionary/ เรื่องโดย Patnaree