บทความนี้ผมตั้งใจเขียนขึ้นมาสำหรับมือใหม่หรือคนที่ไม่ค่อยมีความรู้เรื่องคอมพิวเตอร์สักเท่าไร แล้วต้องการจะซื้อแรมมาเปลี่ยนกับแรมอันเก่าหรือว่าต้องการจะเพิ่มแรมเข้าไปในเมนบอร์ดเพิ่มอีกอันนึง แต่ว่าการเปลี่ยนหรือเพิ่มแรมนั้นไม่สามารถเดินไปที่ร้านค้าแล้วซื้อมาได้เลย เราต้องมีความรู้เกี่ยวกับแรมก่อน ไม่เช่นนั้นแรมที่เราจะซื้อมานั้นอาจจะใช้ไม่ได้หรือใช้ได้แบบไม่เติมประสิทธิภาพของมัน ดังนั้นบทความนี้ผมจะมาแนะนำข้อที่คุณต้องรู้ก่อนซื้อแรมสัก 3 ข้อกันก่อนนะครับ 1.สำหรับคนที่ซื้อคอมตั้งโต๊ะมาก็อาจจะสงสัยได้ว่าเครื่องคอมของเรานั้นควรจะใช้แรมสักเท่าไรดี 4 GB/ 8 GB หรือจะซื้อ 32 GB ไปเลย ตรงนี้ผมอยากจะแนะนำว่าเราต้องรู้ก่อนว่าเราซื้อคอมมาใช้ทำอะไรและสเปคอื่น ๆ สูงมากน้อยแค่ไหน สำหรับการใช้งานทั่วไป ดูหนังฟังเพลง ไม่ได้เล่นอะไรมากมาย แนะนำว่าซื้อแรมสัก 4 GB หรือ 8 GB ก็เพียงพอแล้วครับ ส่วนคนที่เน้นเล่นเกมหรือใช้งานโปรแกรมที่ทำงานหนักก็แนะนำว่าใช้สัก 8 GB หรือ 16 GB ก็สามารถใช้งานได้แบบสบาย ๆ แล้ว ส่วนใครที่จะใช้งานทั้งเล่นเกม ตัดต่อวิดีโอ หรือเอาไปทำอะไรหนัก ๆ ก็ซื้อแรมขั้นต่ำ 32 GB ไปเลยครับ สุดท้ายเราก็ควรเลือกซื้อแรมให้เหมาะสมกับการใช้งานของเรา เพื่อที่จะได้ไม่ต้องซื้อแรมมาแบบเกินความจำเป็นและยังช่วยประหยัดเงินในกระเป๋าอีกด้วย 2.ก่อนจะซื้อแรมควรต้องรู้ก่อนว่าคอมพิวเตอร์ของเรานั้นใช้ Windows กี่บิท เพราะว่า Windows 32 บิทและ 64 บิทนั้นรองรับการใช้งานแรมแตกต่างกัน โดยวิธีการเช็คก็ทำได้ไม่ยาก เพียงแค่ไปที่ My Computer หรือ This PC ที่หน้าเดสท็อป แล้วกดคลิกขวา เลือกไปที่ Properties แล้วจากนั้นมองหาคำว่า System type ก็จะบอกแล้วว่า Windows ของเราเป็นแบบกี่บิท โดยถ้าเป็น Windows 32 บิทจะรองรับแรมได้สูงสุดแค่ 4 GB ส่วน Windows 64 บิทจะรองรับแรมได้มากกว่า 4 GB ขึ้นอยู่กับประเภทของ Windows อีกที แต่ผมแนะนำว่า 32 GB ก็เพียงพอแล้ว ดังนั้นก่อนจะซื้อแรมมาเพิ่มหรือเปลี่ยนแรมก็ควรต้องดูดี ๆ ว่า Windows ของเรากี่บิทนั้นเอง 3.ก่อนจะซื้อแรมมาเพิ่มหรือเปลี่ยนแรมใหม่ เราต้องดูเพิ่มอีกอย่างว่า Mainboard ของคอมพิวเตอร์รองรับแรม DDR แบบไหน หรือจะอธิบายสั้น ๆ ว่าแรมนั้นมันใช้เทคโนโลยียุคไหนมาใช้ โดยปัจจุบันแรมจะมีตั้งแต่ DDR1 - DDR4 ซึ่งรุ่นที่ยังนิยมใช้กันอยู่ก็มีตั้งแต่ DDR3 เป็นต้นไป จะสังเกตว่าแรมมีเทคโนโลยีคนละยุคกัน ดังนั้นการเอามาใช้ร่วมกันหรือแทนที่กันก็จะไม่ได้ ทำให้เวลาเราไปซื้อแรมมา เราก็ต้องดูไปเลยว่า Mainboard ของเราใช้แรม DDR ไหน แล้วจึงซื้อเพิ่ม/แทนที่ตาม DDR นั้น แต่ว่าถ้าซื้อผิด DDR มาก็ไม่ต้องตกใจไป เพราะว่าถ้า DDR ไม่เหมือนกัน ช่อง Slot ที่เสียบแรมเข้าไปใน Mainboard ก็จะไม่เหมือนกันด้วย ทำให้เราเสียบแรมไม่เข้า เราจึงควรเช็คให้ละเอียดก่อนว่า Mainboard มันใช้แรมแบบไหน วิธีการเช็คสามารถทำได้โดยค้นหารุ่นและยี่ห้อของ Mainboard แล้วตัวสเปคของ Mainboard จะบอกเรามาเลยว่าต้องใช้แรมหรือ Memory แบบไหน สุดท้ายนี้ทั้ง 3 ข้อที่คุณต้องรู้ก่อนไปซื้อแรมมาใช้ ผมก็หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับคนที่กำลังจะไปซื้อแรมมา เพราะว่าหลายคนที่เคยมาปรึกษาผม แล้วไม่สามารถใช้แรมได้หรือใช้แรมใหม่แล้วมีปัญหาก็มักจะเกิดจากสาเหตุเหล่านี้ตามที่ผมได้เล่ามา แต่ว่าความรู้เรื่องแรมก็ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ ไว้บทความหน้าผมจะมาเล่าเรื่องแรมต่ออีกสักบทความนึง เพื่อที่จะได้เป็นประโยชน์กับผู้อ่านทุกท่านนะครับ ขอบคุณภาพประกอบจาก [1]pixabay.com, [2]ภาพประกอบจากผู้เขียน, [3]wikimedia.org