ทำความรู้จักกับความรักรูปแบบต่าง ๆ ด้วย “ทฤษฏีสามเหลี่ยมความรัก”ทุกคนนิยามความรักอย่างไรกันบ้างคะ ? แล้วองค์ประกอบที่สำคัญของความรักสำหรับคุณคืออะไร ? บ้างก็ว่าเกิดจาก “ความเข้าใจ” หรือบางคนก็นิยามความรักว่าเป็นเรื่องของ “ความเข้ากันได้” ซึ่งหลาย ๆ คนต่างก็มองความรักด้วยมุมมองที่แตกต่างกันออกไปตามความคิดตัวเองที่มารูปภาพ: https://www.freepik.com/ แต่มีนักจิตวิทยาคนหนึ่งได้นำเสนอความรักที่จับต้องไม่ได้นี้เป็นทฤษฏีขึ้นมา นั่นคือศาสตราจารย์ ดร. Robert Sternberg ของภาคจิตวิทยา มหาวิทยาลัยเยลล์ โดยเขาได้ตั้งชื่อทฤษฎีนี้ว่า “Triangular Theory of Love” หรือ “ทฤษฎีสามเหลี่ยมความรัก” นั่นเองค่ะทฤษฎีสามเหลี่ยมความรัก คืออะไร ?ทฤษฎีสามเหลี่ยมความรัก คือ ทฤษฎีที่ว่าด้วยรูปแบบของความรัก ซึ่งความรักแต่ละรูปแบบก็จะมีลักษณะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับ 3 องค์ประกอบหลัก คือ "ความใกล้ชิด ความเสน่หา และความผูกมัด"ความใกล้ชิด (Intimacy) คือ ความรู้สึกผูกพัน คุ้นเคย ใกล้ชิดสนิทสนม การแลกเปลี่ยนความคิด และการสื่อสารที่ดี มีความเข้าใจและไว้วางใจซึ่งกันและกัน เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความมั่นคงทางความสัมพันธ์และก่อให้เกิดความสัมพันธ์ในระยะยาว ถือเป็นองค์ประกอบด้านอารมณ์ความเสน่หา (Passion) คือ ความรู้สึกหลงใหล ความดึงดูดหรือมีแรงขับทางเพศ ความรู้สึกพึงพอใจในรูปลักษณ์ภายนอก รวมไปถึงกริยาท่าทาง การแสดงออก จริตต่าง ๆ เป็นส่วนที่ทำให้มีความต้องการในการดำเนินความสัมพันธ์ หรือทำให้เกิดความรู้สึกโรแมนติก ถือเป็นองค์ประกอบด้านแรงจูงใจความผูกมัด (Commitment) คือ การตัดสินใจอะไรต้องทำร่วมกับอีกคน ไม่ว่าจะเป็นการตกลงทางด้านความสัมพันธ์ การตัดสินใจที่จะรักกัน การใช้ชีวิตร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ความรับผิดชอบในความสัมพันธ์ตามที่ตกลงกันไว้ และการวางแผนที่จะใช้ชีวิตด้วยกันต่อไปในระยะยาว เป็นองค์ประกอบทางด้านความคิด เมื่อนำทั้งสามอย่างนี้มารวมกัน จะกลายเป็นรูปสามเหลี่ยม ซึ่งเป็นที่มาของชื่อทฤษฎีนี้นั่นเอง ทั้งสามอย่างนี้สามารถนำมาแบ่งรูปแบบความสัมพันธ์ ตามองค์ประกอบต่าง ๆ ได้ทั้งหมด 8 รูปแบบ ดังนี้การไม่มีความรัก (No Love) เป็นความสัมพันธ์ที่ไม่มีองค์ประกอบทั้ง 3 องค์ประกอบอยู่ในความสัมพันธ์รูปแบบนี้เลย เป็นความสัมพันธ์ไม่มีความรู้สึกรักหรือผูกพันใด ๆ และ เป็นเพียงความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นเพียงช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น ความชอบ (Liking)เป็นความรักที่เกิดจากความใกล้ชิดเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ความรักประเภทนี้มักเกิดขึ้นในรูปแบบความสัมพันธ์แบบเพื่อน กล่าวได้ว่าเป็นความรักที่เกิดจากความใกล้ชิดสนิทสนมกันเท่านั้น ไม่ได้มีองค์ประกอบอื่นแอบแฝง ความรักแบบหลงใหล (Infatuation Love)ความรักประเภทนี้เกิดจากความเสน่หาล้วน ๆ เป็นความรักที่เกิดจากความลุ่มหลง ความพึงพอใจทางรูปลักษณ์ภายนอก ไม่ได้มีความใกล้ชิดสนิทสนม หรือมีพันธะอะไรต่อกัน มักเป็นความรักแบบรักแรกพบ (Love at first sight) เป็นรูปแบบความรักที่ไม่มั่นคง สามารถหายไปได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็สามารถสานต่อได้เช่นกัน ความสัมพันธ์แบบไร้ความรัก (Empty Love)เป็นความสัมพันธ์ที่เกิดจากองค์ประกอบเดียว คือ ความผูกมัด ความสัมพันธ์ประเภทนี้ได้ชื่อว่าเป็น “Empty” Love หรือความรักที่ว่างเปล่า เนื่องจากเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่มีความผูกพัน และความหลงใหลอยู่เลย เป็นความรักที่เกิดขึ้นจากพันธะผูกมัดเท่านั้น มักเกิดในคู่รักที่ต้องแต่งงานกันโดยไม่มีความรักซึ่งกันและกัน หรือแต่งงาน ใช้ชีวิตร่วมกันมานานแต่หมดรัก รักจืดชืดแล้ว แต่ยังมีเหตุผลบางอย่างให้ต้องใช้ชีวิตร่วมกันต่อไป ที่มารูปภาพ: https://www.freepik.com/ ความรักแบบโรแมนติก (Romantic love)รักแบบโรแมนติกนี้เกิดจากความใกล้ชิดสนิทสนม และความหลงใหล มักเกิดในความสัมพันธ์ที่ได้รู้จัก ได้ใกล้ชิดกันและเกิดความชอบพอกัน โดยที่ยังไม่มีความผูกมัดใด ๆ ความรักแบบเพื่อน (Companionate Love)เป็นความสัมพันธ์ที่เกิดจากความใกล้ชิดและความผูกมัด มักเกิดขึ้นในความสัมพันธ์ระยะยาว ค่อยเป็นค่อยไป เช่น ความสัมพันธ์แบบเพื่อน พี่น้อง คนในครอบครัว หรือคู่รักที่ใช้ชีวิตร่วมกันมาอย่างยาวนาน ไม่มีความชอบพอในเชิงเสน่หา แต่มีความมั่นคงสม่ำเสมอ ถือเป็นความรักที่ยั่งยืนและยาวนานที่สุด ที่มารูปภาพ: https://www.freepik.com/ ความรักลวง (Fatuous)เป็นความรักที่ไม่มีความสนิทสนมใกล้ชิด มีเพียงความเสน่หาและความผูกมัดเท่านั้น ความสัมพันธ์ประเภทนี้เป็นความสัมพันธ์ที่หวือหวา รวดเร็ว เกิดจากความพึงพอใจกันและตัดสินใจรักกัน โดยไม่สนใจที่จะรู้จักตัวตนของกันและกัน ไม่มีความผูกพันใกล้ชิดกันมาก่อน มักเกิดอย่างรวดเร็วและจบอย่างรวดเร็วเช่นกัน รักแท้ (Consummate Love)เป็นความรักที่มีองค์ประกอบทั้ง 3 อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ คือมีทั้งความใกล้สนิทสนม ความเสน่หา และมีความผูกมัดต่อกัน เรียกได้ว่าเป็นความรักที่สมบูรณ์แบบ ความสัมพันธ์ที่มีครบทุกอย่างเช่นนี้เป็นความรักที่ทุกคนพึงปรารถนา แต่ก็เป็นความรักที่เกิดขึ้นได้ยากเช่นกัน และถึงแม้จะเกิดขึ้นแล้วก็รักษาเอาไว้ได้ยาก ทั้งนี้จะเกิดขึ้นหรือรักษาไว้ได้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับคนทั้งสองคน ที่มารูปภาพ: https://www.freepik.com/ ทฤษฎีสามเหลี่ยมความรักแสดงให้เห็นว่าความรักนั้นซับซ้อน และหลากหลายมากกว่าที่คิด และการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนสองคนจำเป็นต้องใช้อะไรหลาย ๆ อย่างมาประกอบรวมกัน ซึ่งการมีองค์ประกอบที่แตกต่าง ก็ทำให้เกิดความรักที่แตกต่างเช่นกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ความรักยังคงไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว ดังนั้น ความรักของคนสองคนจะออกมาในรูปแบบไหนนั้น มีเพียงสองคนนั้นเท่านั้นที่สามารถออกแบบได้ สุดท้ายนี้ ขอให้ทุกคนที่อ่านได้พบกับรูปแบบความรักในแบบที่ต้องการนะคะ :)