รีเซต

กทม.จำลองฉาก เคมีรั่วไหล ไฟไหม้ ตึกถล่ม! ซ้อมช่วยปชช.เต็มรูปแบบ ตามแผนปี 65

กทม.จำลองฉาก เคมีรั่วไหล ไฟไหม้ ตึกถล่ม! ซ้อมช่วยปชช.เต็มรูปแบบ ตามแผนปี 65
มติชน
25 กรกฎาคม 2565 ( 13:44 )
84

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 25 กรกฎาคม ที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม เขตหนองแขม กรุงเทพฯ ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการฝึกซ้อมแผนบูรณาการสาธารณภัย ระดับ 2 ประจำปี 2565 โดยมี นางวันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร พล.ต.อ.อดิศร์ งามจิตสุขศรี ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายธีรยุทธ ภูมิภักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้อง ร่วมพิธีและร่วมฝึกซ้อมแผนฯ ณ ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม

 

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้จำลองสถานการณ์ว่า ในพื้นที่ถนนพุทธมณฑล สาย 3 แขวงหนองค้างพลู เขตหนองแขม มีเหตุสารเคมีระเบิด เพลิงลุกไหม้อาคารโรงงานผลิตชิ้นส่วนประกอบอุปกรณ์รถยนต์ ซึ่งเป็นอาคารโรงงานขนาดใหญ่ 4 หลัง พื้นที่ 10 ไร่ มีคนงานทั้งหมด 500 คน มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากสารเคมีรั่วไหล ไฟไหม้ อาคารถล่ม รวมถึงมีผู้ประสบภัยติดค้างอยู่บนอาคาร 4 ชั้น และใต้ซากอาคารที่ถล่ม โดยในระหว่างระงับเหตุที่อาคารโรงงาน ปรากฏว่ามีอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่อพยพคนงานพลิกคว่ำ คนงานติดค้างอยู่ในรถยนต์ที่พลิกคว่ำและลื่นไถลตกน้ำ ผู้อำนวยการเขตหนองแขม เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ แต่หลังจากชุดปฏิบัติการทุกชุดรายงานสถานการณ์ ผู้อำนวยการเขตหนองแขมพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นภัยที่มีความรุนแรง ไม่สามารถควบคุมได้ ต้องขอรับความช่วยเหลือจากหน่วยงานภายนอก จึงแจ้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครรับทราบและทำการประกาศยกระดับ

 

 

โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครสั่งการ อนุมัติยกระดับเป็นสาธารณภัย ระดับ 2 บัญชาการเหตุการณ์โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร อาทิ สำนักงานเขตหนองแขม สำนักการโยธา สำนักการระบายน้ำ สำนักเทศกิจ สำนักผังเมือง สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล สำนักการคลัง (กองโรงงานช่างกล) สำนักสิ่งแวดล้อม (กองกำจัดมูลฝอย) สำนักอนามัย และสำนักการแพทย์ (ศูนย์เอราวัณ) รวมถึงหน่วยงานภายนอก อาทิ ทหาร ตำรวจ การประปา การไฟฟ้า อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) อาสาสมัครมูลนิธิ และภาคีเครือข่ายภาคเอกชน เข้าร่วมฝึกซ้อมแผนดังกล่าว แบบเต็มรูปแบบ

 

ทั้งนี้ การฝึกซ้อมเป็นการจำลองสถานการณ์สาธารณภัย ระดับ 2 เต็มรูปแบบ Full Scale Exercise เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการต่างๆ ร่วมกับหน่วยงานภายนอก ทั้งหมด 10 ชุดปฏิบัติการ ประกอบด้วย

1. ชุดปฏิบัติการเผชิญเหตุชุดแรก First Response

2. ชุดปฏิบัติการควบคุมและบัญชาการเหตุ Command and Control Team

3. ชุดปฏิบัติการดับเพลิง Fire Team

4. ชุดปฏิบัติการกู้ภัยที่สูงและที่อับอากาศ Rope Rescue and Confined Space Rescue Team

5. ชุดปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัยในเขตเมือง USAR : Urban Search and Rescue Team

6. ชุดปฏิบัติการกู้ภัยทางน้ำ Water Rescue Team

7 .ชุดปฏิบัติการตอบโต้สารเคมีและวัตถุอันตราย HAZMAT : Hazardous Materials Team

8. ชุดปฏิบัติการกู้ภัยอุบัติเหตุจากยานพาหนะและเครื่องจักร Vehicle and Machinery Rescue Team

9. ชุดปฏิบัติการสื่อสารอากาศยานไร้คนขับ Communication and Drone Team

10. ชุดปฏิบัติการทางการแพทย์ Medical Team

ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานด้านต่างๆ สามารถบริหารจัดการสาธารณภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความรู้ทักษะในการบริหารจัดการภัยด้วยรูปแบบและวิธีการต่างๆ ได้อย่างถูกต้องตามหลักการและเป็นมาตรฐานสากล รวมถึงเพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกซ้อมสามารถปฏิบัติงานหลักและให้การสนับสนุน รวมทั้งสนธิกำลังเข้าร่วมปฏิบัติงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ผศ.ดร.ทวิดา รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวต่อว่า งานด้านสาธารณภัยต้องมีการซ้อม มีการใช้เครื่องมือ ต้องมีการใช้ทีมหลายๆ ทีมเข้ามาร่วมกัน ต้องมีการสร้างสถานการณ์เสมือนจริง เพื่อกระตุ้นให้ผู้ซ้อมฝึกการตัดสินใจจากสถานการณ์ โดยการซ้อมในวันนี้มีหลายหน่วยงานที่ร่วมกันฝึกซ้อม มีสถานการณ์ที่กำหนดขึ้นหลากหลายรูปแบบ ทั้งสถานการณ์เพลิงไหม้ เพื่อให้เราได้ทดสอบชุดผจญเพลิง ในบางสถานการณ์นอกเหนือจากเกิดเหตุเพลิงไหม้แล้ว ยังมีสถานการณ์เรื่องสารเคมีรั่วไหลด้วย หรืออาจมีสถานการณ์ซับซ้อน มีอุบัติเหตุขนาดใหญ่เกิดขึ้นอีกในระหว่างนั้น เช่น เกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ระหว่างเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บ เกิดเหตุอาคารที่เพลิงไม้ถล่มลงมา เพื่อเป็นการประเมินกำลังเจ้าหน้าที่ ศักยภาพความสามารถ เครื่องมืออุปกรณ์ ระบบการทำงาน รวมถึงการทำงานเป็นทีมจากหลายหน่วยงานที่มาทำงานร่วมกันในแต่ละหน้าที่ การเข้าพื้นที่เกิดเหตุ การสนธิกำลังกัน

“สาธารณภัยเป็นสิ่งที่เราไม่อยากให้เกิด หากเกิดขึ้นแล้วเราต้องพร้อมเข้าระงับเหตุการณ์ ถามว่าอยากให้การฝึกซ้อมวันนี้ราบรื่นไหม ต้องตอบว่าที่จริงอยากให้การฝึกซ้อมราบรื่น แต่ถ้าการฝึกซ้อมไม่ราบรื่นจะดีมาก เพราะจะทำให้เราเห็นว่า ขนาดการฝึกซ้อมยังมีความวุ่นวาย ยังมีปัญหาอุปสรรค ซึ่งสถานการณ์จริงเราไม่รู้ว่าจะมีความยุ่งยากมากกว่านี้อีกกี่เท่า ตรงนี้เป็นจุดสำคัญที่เราจะนำปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นจากการฝึกซ้อมมาปรับปรุงแก้ไขกัน เพื่อให้การปฏิบัติงานจริงเกิดประสิทธิภาพ” ผศ.ดร.ทวิดากล่าว

ผศ.ดร.ทวิดากล่าวอีกว่า การฝึกซ้อมในวันนี้จะได้เห็นถึงความพร้อมความเชี่ยวชาญและทักษะของแต่ละหน่วยงานในสิ่งที่ตนเองต้องทำ แต่ความพร้อมการเข้าสู่สถานการณ์จะมีความยากที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ทั้งพื้นที่ การเข้า-ออก ระยะเวลา และประชาชน การซ้อมวันนี้จะไม่มีในส่วนประชาชน ซึ่งในเหตุการณ์จริงจะต้องให้ประชาชนปลอดภัยไว้ก่อน การเข้าถึงพื้นที่จริงอาจจะทำได้ยาก ต้องทำงานแข่งกับระยะเวลาและสถานการณ์ที่เพิ่มขึ้น เพื่อนำประชาชนออกจากพื้นที่อย่างปลอดภัย ความพร้อมอาจจะลงลดบ้างด้วยความซับซ้อนจากสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้น แต่เราจะพยายามทำอย่างเต็มที่ การฝึกซ้อมในวันนี้เราทำให้มีความซับซ้อนเกิดขึ้น เพื่อเวลาเกิดสถานการณ์ขึ้นจริง เราจะได้ใช้เวลาในการคิด การตัดสินใจได้เร็วขึ้น ลดข้อผิดพลาดให้น้อยลง ที่สำคัญ สำนักงานเขตในพื้นที่จะเป็นหน่วยงานหลัก เพราะเป็นเจ้าของพื้นที่ จะรู้ลึกรู้ในรายละเอียดของพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งจะช่วยลดไม่ให้สาธารณภัยเกิดขึ้นก่อนได้มาก

สำนักงานเขตจะสามารถกำกับควบคุมพื้นที่ให้มีความง่ายต่อการเข้าสู่สถานการณ์มากขึ้นในด้านการปฏิบัติงาน การฝึกซ้อมดังกล่าว จะทำให้ทุกหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง มีความเข้าใจ รู้บทบาทภารกิจหน้าที่ของตน เมื่อเกิดเหตุจะได้ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว พร้อมในการช่วยเหลือประชาชนให้รอดชีวิต และเจ้าหน้าที่ปลอดภัย ลดการสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สิน ขอขอบคุณทุกหน่วยงานทั้งทหารทุกเหล่าทัพ ตำรวจ อาสาสมัครมูลนิธิ ภาครัฐ ภาคเอกชน และเครือข่ายต่างๆ ที่ร่วมกันฝึกซ้อมแผนบูรณาการสาธารณภัยในครั้งนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง