รีเซต

ผู้ว่าฯโคราช แจ้งระบายน้ำออกจากเขื่อน เตือน ปชช.สองฝั่งลำตะคอง-ลำพระเพลิง รับมือน้ำล้นตลิ่ง

ผู้ว่าฯโคราช แจ้งระบายน้ำออกจากเขื่อน เตือน ปชช.สองฝั่งลำตะคอง-ลำพระเพลิง รับมือน้ำล้นตลิ่ง
มติชน
26 ตุลาคม 2563 ( 16:50 )
113
ผู้ว่าฯโคราช แจ้งระบายน้ำออกจากเขื่อน เตือน ปชช.สองฝั่งลำตะคอง-ลำพระเพลิง รับมือน้ำล้นตลิ่ง

เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้ออกประกาศแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ เรื่อง การระบายน้ำจากเขื่อนลำตะคอง และเขื่อนลำพระเพลิง ระบุว่า ด้วยจังหวัดนครราชสีมา ได้รับแจ้งจากโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคองว่า จะระบายน้ำออกจากเขื่อนลงลำน้ำธรรมชาติ (ลำตะคอง) ในวันที่ 26 ตุลาคม 2563 เวลา 12.00 น. เพื่อพร่องน้ำรองรับสถานกรณ์พายุโมลาเบ โดยระบายน้ำออกจากเขื่อนลำตะคองออกไม่เกินวันละ 1 ล้าน ลบ.ม. หรือ 10 ลบ.ม. ต่อ วินาที และจากการติดตามสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง พบว่า มีปริมาณน้ำระดับกักเก็บ 156.63 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 101.05 % จะมีการระบายน้ำรวม 0.258 ล้าน ลบ.ม. โดยน้ำที่ระบายจะไหลลงคลองธรรมชาติ และจะส่งผลให้ลำน้ำสาขามีปริมาณเพิ่มขึ้น โดยมวลน้ำทั้งหมดจะไหลไปที่ลำน้ำมูล ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา

 

ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหากรณีเกิดสถานการณ์น้ำล้นตลิ่ง และน้ำไหลหลากในพื้นที่ จึงได้ออกประกาศแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัย ในพื้นที่ลุ่มต่ำริมสองฝั่งลำน้ำ และพื้นที่ริมตลิ่งในเขตลุ่มน้ำลำตะคอง ลำเชียงไกร ลำบริบูรณ์ ลำพระเพลิง และลำน้ำมูล ได้แก่ อำเภอสีคิ้ว สูงเนิน ขามทะเลสอ เมืองนครราชสีมา โนนไทย โนนสูง ปักธงชัย โชคชัย เฉลิมพระเกียรติ จักราช พิมาย ชุมพวง ลำทะเมนชัย และอำเภอเมืองยาง ได้รับทราบและตระหนักถึงสถานการณ์ดังกล่าว โดยแต่ละพื้นที่จะประชาสัมพันธ์ผ่านทางวิทยุกระจายเสียงตามสาย หอกระจายข่าวประจำหมู่บ้าน เครือข่ายวิทยุสมัครเล่น สถานีโทรทัศน์ และเคเบิลท้องถิ่น สื่อโชเซียลต่างๆ รวมถึงให้ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัคร แจ้งข้อมูลให้ประชาชนในพื้นที่ทราบโดยตรงอีกทางหนึ่งด้วย

 

พร้อมกันนี้ ให้ติดตามสถานการณ์น้ำและจัดเวรเฝ้าระวังประจำตามจุดเสี่ยงต่างๆ เพื่อประเมินสถานการณ์ที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ และในกรณีประเมินสถานการณ์แล้วพบว่าจะก่อให้เกิดอันตราย ต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ ให้สั่งอพยพประชาชนไปยังจุดอพยพที่ได้จัดเตรียมไว้ รวมทั้งแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมเผชิญเหตุ รวมทั้งบูรณาการหน่วยงานเครือข่าย ภาคเอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ เตรียมความพร้อมทรัพยากร เครื่องจักรกล สาธารณภัย และปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการแผนเผชิญเหตุป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอำเภอ / องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึง จัดกำลังเจ้าหน้าที่เข้าเผชิญเหตุ และให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยตลอด 24 ชั่วโมง จนกว่าสถานการณ์จะยุติ โดยทุกพื้นที่ต้องรายงานสถานการณ์และผลการดำเนินการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาทราบโดยตรง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง