“เพื่อไทย” ปิดดีล 11 พรรค สลายขั้วตั้ง “รัฐบาลพิเศษ”
ผ่านการเลือกตั้ง สส.มานานเกือบ 3 เดือน แต่ประเทศไทยก็ยังไม่มี “นายกรัฐมนตรีคนที่ 30” อย่างเป็นทางการ ท่ามกลางสถานการณ์ความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ยังคงเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา พลิกจากคำว่า “รัฐบาลข้ามขั้ว” เป็น “รัฐบาลสลายขั้ว” โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่าง "นางแบกเพื่อไทย" กับ "ด้อมส้ม" หลังจากที่ พรรคเพื่อไทย ประกาศถอนตัวจาก MOU 8 พรรคพันธมิตรเดิม และเดินหน้าเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยมีเสียงตั้งต้นจากพรรคเพื่อไทย และพรรคภูมิใจไทย รวม 212 เสียง ส่งผลให้ "พรรคก้าวไกล" ถูกผลักไปเป็น "ฝ่ายค้าน" ทั้งที่มีจำนวน สส.มากเป็นอันดับ 1
แต่ที่สร้างความฮือฮาก็คือ ภาพ "อุ๊งอิ๊ง" แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และแคนดิเดตนายกฯ นำทัพแกนนำเพื่อไทย เดินเท้าจากอาคารโอไอเอ ทาวเวอร์ ของพรรคเพื่อไทย ไปตึกไทยซัมมิท ซึ่งนายภูมิธรรม เวชชชัย ยอมรับว่า เพื่อไปขอโทษ ขอขมาพรรคก้าวไกล แต่ท่วงทำนองของก้าวไกลยังคงนิ่ง เพื่อดูสถานการณ์จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ว่านัดจะรับหรือไม่รับคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีมติที่ประชุมร่วมรัฐสภาเสียงข้างมาก ค้านไม่ให้เสนอชื่อ "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" เป็นนายกฯ ซ้ำในสมัยประชุมเดียวกัน ซึ่งอาจมีแนวโน้มสูงว่า ศาลรัฐธรรมนูญ จะไม่รับวินิจฉัยคำร้องดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่า การลงมติในที่ประชุมร่วมรัฐสภา เป็นการทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งฝ่ายตุลาการไม่อาจก้าวล่วง ตามหลักการ 3 เสาอำนาจในรัฐธรรมนูญ แตกต่างจากกรณีเสียบบัตรแทนกัน ที่เป็นการกระทำผิดทางอาญา และมี ป.ป.ช.ไต่สวน
เมื่อดูฉากหน้าดูเหมือนว่า พรรคเพื่อไทย จะกลับไปง้อขอความเห็นใจจาก "แฟนเก่า" อย่างพรรคก้าวไกล จนหลายคนฝันไปถึงการกลับมาคืนดีร่วมจัดตั้งรัฐบาลกันใหม่กับ 8 พรรคเดิม 312 เสียง โดยเฉพาะเมื่อฟังสุ้มเสียงจาก “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ที่บอกอย่างมีนัยสำคัญว่า
“พรรคก้าวไกลอาจจะไม่ได้เป็นพรรคฝ่ายค้านก็ได้ ใครจะรู้... ตอนนี้ก็ต้องตามมารยาททางการเมือง ให้พรรคเพื่อไทยจัดไปก่อน สักวันหนึ่งหากเปลี่ยนใจ อยากให้คนรุ่นใหม่ ได้ลองทำงาน ลองดูซิว่าจะเป็นอย่างไร ผมก็พร้อมที่จะทำงานอย่างเต็มที่”
ขณะที่ “แพทองธาร ชินวัตร” ยืนยันว่า การหารือกับแกนนำพรรคก้าวไกล เป็นการรับฟังความคิดเห็นถึงสถานการณ์การจัดตั้งรัฐบาล โดยเป็นการพูดจากันด้วยเหตุด้วยผลว่าจะทำอย่างไรให้ประเทศไทยไปต่อ ซึ่งพรรคเพื่อไทยมีความตั้งใจอย่างมากที่จะจัดตั้งรัฐบาลให้สำเร็จ โดยมีเสียงสนับสนุนจากทั้ง สส. และ สว. พร้อมย้ำ สิ่งที่พรรคเพื่อไทยทำในขณะนี้ ไม่ใช่ “เกมการเมือง” แต่เป็นความมุ่งมั่นในการฟอร์มรัฐบาลที่แข็งแกร่งให้ได้
แต่หากดูการวิเคราะห์ของนักวิชาการ ส่วนใหญ่มองตรงกันว่า ในสถานการณ์นี้ดูเหมือนพรรคเพื่อไทยจะเลือกรวมขั้วกับพรรครัฐบาลเดิม เนื่องจากแกนนำพรรคพลังประชารัฐ ภายใต้การนำของ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้ออกมาประกาศชัด 40 สส.ของ พปชร.พร้อมโหวตหนุนนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทยโดยไม่มีเงื่อนไข และไม่แตกแถว โดยเฉพาะ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รองหัวหน้าพรรค พปชร.ที่ออกมาย้ำอีกครั้งว่า "พลเอกประวิตร" ไม่เคบอกว่าจะวางมือทางการเมือง และไม่เคยมีใครเคยพูดว่า พลเอกประวิตรจะไม่รับตำแหน่งรัฐบาลเพื่อไทย
ขณะที่ พรรครวมไทยสร้างชาติ แม้จะยังไม่ออกมาพูดอย่างชัดเจน แต่หากโหวตก็จะโหวตยกพรรค ยืนยัน จะไม่มีงูเห่าแน่นอน ซึ่งอาจเป็นสัญญาณว่า พรรคเพื่อไทย สามารถปิดดีลจัดตั้ง “รัฐบาลวาระพิเศษ” โดยรวบรวมเสียง สส.ได้แล้ว 315 เสียง จาก 11 พรรคการเมือง
นับจากนี้ยังคงต้องจับตาความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด ตราบใดที่ยังไม่มีผลโหวตนายกฯ อย่างเป็นทางการอะไรก็เกิดขึ้นได้ เพราะในทางการเมือง “ความแน่นอน” คือ “ความไม่แน่นอน “