รีเซต

เริ่มแล้ว! ประชุมเอเปคเวทีแรกในไทย ชู ‘บีซีจี’ มุ่งสู่สังคมเปิดกว้าง-ยืดหยุ่น-สมดุล-ยั่งยืน

เริ่มแล้ว! ประชุมเอเปคเวทีแรกในไทย ชู ‘บีซีจี’ มุ่งสู่สังคมเปิดกว้าง-ยืดหยุ่น-สมดุล-ยั่งยืน
มติชน
1 ธันวาคม 2564 ( 16:39 )
27
เริ่มแล้ว! ประชุมเอเปคเวทีแรกในไทย ชู ‘บีซีจี’ มุ่งสู่สังคมเปิดกว้าง-ยืดหยุ่น-สมดุล-ยั่งยืน

1 ธันวาคม ที่โรงแรมดุสิตธานี ลากูนา ภูเก็ต การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งเป็นการประชุมแรกที่ไทยจัดขึ้น หลังรับตำแหน่งเจ้าภาพเอเปคต่อจากนิวซีแลนด์เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาเริ่มต้นขึ้นแล้ว โดยมีนายธานี ทองภักดี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานการประชุม ในวันแรกเป็นเวทีเสวนาเกี่ยวกับประเด็นสำคัญต่างๆ ในการประชุมเอเปคในปี 2565 ซึ่งหลังจากนี้ก็จะมีการจัดการประชุมอื่นๆ ตามมาตลอดปี

 

นายธานีกล่าวเปิดการประชุมตอนหนึ่งว่า การประชุมเอเปคที่ไทยเป็นเจ้าภาพจะให้ความสำคัญกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นประเด็นต่อเนื่องจากการประชุมเอเปคที่นิวซีแลนด์ โดยมุ่งเน้นการสร้างแผนภูมิสำหรับอนาคตของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ขณะที่เรากำลังก้าวข้ามวิกฤติทางด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจไปข้างหน้า เราจำเป็นต้องส่งเสริมการเติบโตในระยะยาวที่มีความยืดหยุ่น ครอบคลุม สมดุล และยั่งยืน

 

นายธานีกล่าวว่า เราจำเป็นต้องคิดพิจารณาถึงวิธีจัดการและรูปแบบของการเติบโตในอนาคตใหม่ โดยการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ จัดการกับความไม่เท่าเทียมและความไม่สมดุลที่ทำให้เศรษฐกิจของเราเปราะบาง ในการนี้จึงเป็นโอกาสที่เราจะได้พิจารณาถึงรูปแบบเศรษฐกิจอย่างเศรษฐกิจชีวภาพเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (บีซีจี) เพื่อให้เอเปคอยู่ในแนวทางการเติบโตที่ต้องการนี้ เราเชื่อว่าแนวคิดทางเศรษฐกิจบีซีจียังสามารถนำไปใช้ได้หลังจากปีที่ไทยเป็นเจ้าภาพเอเปคด้วยเช่นกัน

 

นายธานีกล่าวว่า บีซีจีเป็นการแสวงหาการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคมและไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะมีเขตเศรษฐกิจจำนวนมากที่จะดำเนินการในเรื่องดังกล่าวภายใต้วิถีทางของตัวเองซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดนี้ เราสามารถเรียนรู้ว่าเอเปคจะร่วมมือกันอย่างไรบนพื้นฐานแนวคิดดังกล่าวเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนการก้าวไปข้างหน้าสู่สังคมที่เปิดกว้าง มีพลวัตร มีความยืดหยุ่น และมีสันติภาพ

 

 

“การประชุม APEC 2022 มีขึ้นภายใต้แนวคิดหลัก “Open. Connect. Balance.” ซึ่งเราหวังว่า จะทำให้เอเปคเป็นกรอบความร่วมมือเปิดกว้างสำหรับทุกโอกาส เชื่อมต่อในทุกมิติ และสมดุลในทุกด้าน”นายธานีกล่าว

 

ปลัดกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเอเปคคือการเป็นเวทีบ่มเพาะความคิด และเป็นเวทีที่สามารถในการนำเสนอวิธีแก้ปัญหาที่ใช้งานได้จริง รวมถึงมีนวัตกรรมที่ตอบสนองต่อความต้องการและความท้าทาย รวมทั้งเป็นแหล่งมุมมองและข้อมูลจากคณะผู้เชี่ยวชาญ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายฝ่ายตั้งแต่รัฐบาลไปจนถึงภาคธุรกิจ สถาบันการศึกษา องค์กรระหว่างประเทศ รวมถึงเยาวชน เพื่อให้แน่ใจว่าเอเปค 2022 จะยังคงมีความสำคัญ และสามารถตอบคำถามสำคัญๆ ในปัจจุบันได้

 

ด้านนายสุวิทย์ เมษีนทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ขึ้นกล่าวปาฐกถาหลักว่า โลกจะอยู่อย่างนี้ต่อไปไม่ได้และทุกคนต้องช่วยกัน เริ่มจากการเปลี่ยนความเชื่อและมุมมองที่ยึดตัวตนมาเป็นทัศนคติที่เห็นถึงส่วนรวมมากขึ้น เพราะเราจะเรียกหาความยั่งยืนไม่ได้ถ้าไม่มีความเท่าเทียม นอกจากนี้เราต้องเปลี่ยนแปลงกลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จากที่ภาคธุรกิจถูกมองว่าเป็นเหยื่อและเป็นตัวการทำให้โลกมีปัญหา อาทิ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก มาเป็นภาคธุรกิจคือตัวหลักในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและมีความเท่าเทียม ซึ่งทำให้คนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์ไปด้วยกัน

 

นายสุวิทย์กล่าวว่า เรามีเป้าหมายหลักของโลกอยู่แล้วคือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (เอสดีจีส์) ซึ่งบีซีจีจะเป็นแพลตฟอร์มที่จะนำทุกคนไปสู่จุดนั้นร่วมกันได้ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ในโลกก็มีผู้ที่ดำเนินการกันอยู่แล้ว แต่ไทยเป็นประเทศแรกในโลกที่นำเอา 3 เรื่องนี้มารวมกัน และทำให้มันเกิดพลังขึ้นมาได้

 

 

นายสุวิทย์กล่าวว่า เศรษฐกิจชีวภาพอาศัยความหลากหลายทางชีวภาพและทางวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ ไม่ใช่อุตสาหกรรมผูกขาดแต่เป็นการชูจุดเด่นที่แต่ละที่มีความแตกต่างกัน เช่นเดียวกับใน 21 เขตเศรษฐกิจของเอเปคที่มีความแตกต่างทางเศรษฐกิจที่ไม่เหมือนกัน ทุกประเทศและทุกพื้นที่ต่างมีจุดเด่นของตนเอง เศรษฐกิจชีวภาพจึงเป็นการทำให้ทุกพื้นที่ในประเทศต่างๆ มีโอกาสในการพัฒนาไปพร้อมๆ กัน และยังตอบโจทย์ในเรื่องความมั่นคงของมนุษย์

 

นายสุวิทย์กล่าวต่อว่า ขณะที่เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียวตอบโจทย์ในเรื่องความยั่งยืน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือมลพิษ โลกหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เราต้องมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจแบบใหม่ ซึ่งภาคธุรกิจจะเป็นกลไกสำคัญในการสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจ เราจึงต้องเปลี่ยนความคิดจากการมุ่งเน้นกำไรของผู้ถือหุ้นเป็นการมองไปยังทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง มองอะไรที่ใหญ่กว่าตัวเอง มองว่าทำอย่างไรจึงจะเป็นการทำกำไรที่ยั่งยืนในระยะยาว

 

“บีซีจีจะตอบโจทย์เรื่องความเหลื่อมล้ำ ความยั่งยืน รวมถึงตอบโจทย์เอสซีจีส์ทั้ง 17 ข้อ เอกชนสามารถใช้บีซีจีเป็นตัวเชื่อมทั้ง 2 แพลตฟอร์มนี้เข้าด้วยกัน เราจะมีการเปิดให้เข้าถึงอย่างเสรีไม่ได้ถ้าไม่มีการเปิดใจให้กว้าง จะไม่มีการเชื่อมโยงทางการค้าถ้าไม่มีความไว้วางใจและเคารพซึ่งกันและกัน และถ้าเราไม่สามารถมีความเห็นพ้องต้องกันก็จะไม่สามารถผลักดันให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน บีซีจีจึงเป็นเหมือนจิกซอว์ที่หายไปที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้น และเป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจครั้งใหม่”นายสุวิทย์กล่าว