พืชสมุนไพรนั้นมีอยู่ด้วยกันมากมายหลายชนิด หากรู้จักนำมาใช้อย่างถูกต้องก็จะเป็นประโยชน์อย่างมาก ซึ่งคนในสมัยโบราณได้ใช้พืชสมุนไพรเป็นปัจจัยหลัก ในการรักษาอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ โดยทำการศึกษาค้นคว้าวิธีการนำมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งนับได้ว่าเป็นภูมิปัญญาของคนสมัยก่อนอันมีคุณค่าเป็นอย่างมาก และยังได้สืบทอดภูมิปัญญาเหล่านั้นมาถึงปัจจุบัน นั่นก็คือตำรายาสมุนไพรหรือตำรายาแผนโบราณนั่นเอง แต่เนื่องจากในยุคสมัยนี้ได้มีการพัฒนายารักษาโรคเป็นยาแผนปัจจุบัน ทำให้การนำสมุนไพรมาใช้นั้นกลายเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับคนทั่ว อีกทั้งพืชสมุนไพรหลายชนิดก็เริ่มหาได้ยากและใกล้สูญพันธุ์เต็มทีผู้เขียนจึงมีความตั้งใจเป็นอย่างยิ่งในการนำข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวพืชสมุนไพรมาเผยแพร่ให้ความรู้แก่ผู้สนใจทั่วไป เพื่อให้ทราบถึงลักษณะและสรรพคุณของพืชสมุนไพร อันหวังว่าจะทำให้พืชสมุนไพรเหล่านี้เป็นที่รู้จักมากขึ้น ซึ่งในบทความนี้ผู้เขียนได้นำข้อมูลของพืชสมุนไพรหนึ่งชนิด มาบอกเล่าถึงสรรพคุณที่อาจเป็นประโยชน์เมื่อยามจำเป็น สมุนไพรชนิดนี้มีชื่อว่า “ฝ้ายแดง” พืชที่หลายท่านไม่เคยทราบว่าสามารถนำมาใช้เป็นยารักษาโรคได้ภาพถ่ายโดยผู้เขียนลักษณะของ “ฝ้ายแดง” จัดเป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดเล็ก ลำต้นกลมเล็กเปลือกของลำต้นมีสีแดงผิวเรียบ แตกกิ่งก้านขยายออกเป็นพุ่มโปร่ง ลำต้นและกิ่งแข็งเปราะหักง่าย ใบมีสีเขียวเป็นแฉกมีห้าแฉก ที่ปลายของใบแต่ละแฉกเรียวแหลม โคนใบมน ผิวใบเรียบ ก้านใบยาวยื่นออกมาจากกิ่ง ดอกบ้างก็มีสีแดงบ้างก็มีสีเหลืองอ่อน เป็นดอกเดี่ยวออกที่ปลายกิ่ง กลีบดอกบางเป็นรูปรีซ้อนทับกันหลายชั้นเป็นรูปกรวย ผลเป็นรูปทรงกระบอกสามเหลี่ยมหัวท้ายแหลมผิวเรียบมีสีเขียว เมื่อแก่แห้งจะมีสีน้ำตาลและแตกออกเป็นปุยฝ้ายภาพถ่ายทั้งหมดโดยผู้เขียนสรรพคุณของ “ฝ้ายแดง” ช่วยลดอาการไข้ตัวร้อน ช่วยขับเหงื่อ แก้พิษร้อนในร่างกาย ช่วยขับปัสสาวะ แก้พิษตาซางในเด็ก รักษาโรคหนองใน ข้อควรระวัง ห้ามสตรีมีครรภ์รับประทานสมุนไพรชนิดนี้ เนื่องจากมีฤทธิ์บีบมดลูกทำให้แท้งได้เมื่อสมัยที่ผู้เขียนเป็นเด็กมักเห็นชาวบ้านนิยมปลูก “ฝ้ายแดง” ไว้เป็นรั้วบ้านซึ่งตอนนั้นผู้เขียนไม่ทราบว่า “ฝ้ายแดง” ก็เป็นสมุนไพร เข้าใจว่าเป็นเพียงแค่ต้นไม้ที่ปลูกไว้ใช้ประโยชน์เท่านั้น จนมาได้ทราบจากปู่เมื่อครั้งหนึ่งพี่ชายของผู้เขียนป่วยมีไข้ตัวร้อนกลางดึก สมัยนั้นจะหารถไปโรงพยาบาลตอนกลางคืนก็ลำบากพอควร ปู่จึงได้นำใบสดของ “ฝ้ายแดง” สองกำมือมาต้มประมาณ 20 นาที ก็ได้น้ำยาสมุนไพรมาให้พี่ชายของผู้เขียนดื่ม เมื่อดื่มได้ไม่นานไข้ก็เริ่มลดลง และปู่ก็คอยให้ดื่มเป็นระยะ เช้าวันรุ่งขึ้นก็เหลือไข้เพียงเล็กน้อย ปู่ให้ดื่มต่อจนหายเป็นปกติ ปู่ยังบอกอีกว่าน้ำสมุนไพรของ “ฝ้ายแดง” ยังช่วยแก้ร้อนในและขับปัสสาวะได้เป็นอย่างดีที่กล่าวมานั้นเป็นเพียงสรรพคุณบางส่วนที่ผู้เขียนเคยมีประสบการณ์มา ซึ่งนอกจากนี้ “ฝ้ายแดง” ยังสามารถนำไปเข้าเครื่องยาผสมกับสมุนไพรอื่น เพื่อประกอบเป็นยารักษาโรคได้อีกหลายอาการ และผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะทำให้ท่านผู้อ่านรู้จักพืชสมุนไพรมากขึ้น และช่วยกันอนุรักษ์พืชสมุนไพรเหล่านี้ให้คงอยู่สืบต่อไป