รีเซต

จีนส่งเครื่องบินรบเฉียดไต้หวันกว่า 25 ครั้ง เหตุเปลี่ยนชื่อสำนักงานทูตละทิ้งนโยบายจีนเดียว

จีนส่งเครื่องบินรบเฉียดไต้หวันกว่า 25 ครั้ง เหตุเปลี่ยนชื่อสำนักงานทูตละทิ้งนโยบายจีนเดียว
TNN ช่อง16
20 กันยายน 2564 ( 18:44 )
35
จีนส่งเครื่องบินรบเฉียดไต้หวันกว่า 25 ครั้ง เหตุเปลี่ยนชื่อสำนักงานทูตละทิ้งนโยบายจีนเดียว

การเปลี่ยนชื่อสำนักงาน ทำแดนมังกรเดือดดาล?

 

มีรายงานว่าฝ่ายบริหารของไบเดนกำลังพิจารณาคำขอของไต้หวัน ให้เปลี่ยนชื่อสำนักงานคณะทูตในเมืองหลวงของสหรัฐฯ จากสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป (Taipei Economic and Cultural Representative Office) หรือ Tecro เป็นสำนักงานชาติไต้หวัน (Taiwan Representative Office) ซึ่งรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีนอาจมองว่าเป็นการหลู่เกียรติอย่างร้ายแรง หากยังมีความพยายามใช้ชื่อนี้ต่อไป

 

ปกติแล้ว รัฐบาลจีนแสดงความเคารพอย่างสงวนท่าทีกับสหรัฐฯ และเรียกร้องให้สหรัฐฯ ปฏิบัติตามหลักการจีนเดียวในการสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน

 

อีกทั้งเป็นนโยบายที่จำกัดให้ต่างประเทศเลือกข้างระหว่างจีนและไต้หวัน โดยการเลือกตอบทั้งสองประการ ไม่อยู่ในทางเลือกหรือข้อสอบที่ออกโดยแดนมังกรแต่อย่างใด


ต้นกำเนิดสำนักงานเจ้าปัญหา

 

นโยบายจีนเดียวเป็นผลพวงของสงครามกลางเมืองในจีนที่สิ้นสุดเมื่อปี 1949 และทำให้จีนแผ่นดินใหญ่และไต้หวันต้องถูกแบ่งแยก กลายเป็นคู่ขัดแย้งทางทหารจนถึงปัจจุบัน

 

โดยในปี 1979 สหรัฐฯ ได้เปลี่ยนขั้วเพื่อเริ่มความสัมพันธ์การทูตอย่างเป็นทางการกับรัฐบาลคอมมิวนิสต์จีน และตัดความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับไต้หวัน

 

ด้วยเหตุนี้ สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป (Tecro) จึงถือกำเนิดขึ้นเพื่อทำหน้าที่เป็นสถานทูตโดยพฤตินัยสำหรับทั้งจีน และไต้หวัน โดยมีจุดหมายเพื่อรักษาความสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งรวมถึงการขายอาวุธด้วย


จีนจะไม่ทน ส่งเครื่องบินรบแสดงแสนยานุภาพ


เยว่ กัง อดีตทหารยศพันเอกในกองทัพจีน กล่าวว่า จีนยืนกรานมาตลอดว่า พวกเขาสงวนสิทธิ์ในการใช้กำลังในการบังคับไต้หวันที่ปกครองตนเอง ที่ยิ่งจะทำให้แรงกดดันบนเกาะไต้หวันทวีความรุนแรงขึ้น

เมื่อศุกร์ (17 กันยายน) ที่ผ่านมา กระทรวงกลาโหมไต้หวันกล่าวว่า เครื่องบินรบของจีน 10 ลำมุ่งหน้าเข้าไปในเขตการป้องกันภัยทางอากาศของไต้หวัน

 

ไต้หวัน ซึ่งเสร็จสิ้นการฝึกซ้อมทางทหารประจำปีในวันเดียวกันนั้น ยังระบุเพิ่มเติมว่า เครื่องบินรบ 25 ลำจากแผ่นดินใหญ่เข้ามาในเขตฯ ตั้งแต่การซ้อมรบใหญ่ 'ฮันกวง' (การซ้อมรบใหญ่ประจำปีของไต้หวัน) เริ่มขึ้น

 

ทั้งนี้ มาตรการกดดันของจีนอาจมาในรูปแบบของการฝึกซ้อมรบในช่องแคบไต้หวันและรอบ ๆ เกาะ และตั้งแต่ปีที่แล้ว ความถี่ในการก่อกวนข้ามเส้นแบ่งน่านน้ำ และบินเข้าใกล้น่านฟ้าของเกาะไต้หวันโดยกองทัพอากาศจีนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

 

“แน่นอนว่า เราจะไม่ละเว้นการลงโทษไต้หวัน หากพวกเขาเปลี่ยนชื่อสำนักงานนั้น เพราะเห็นได้ชัดว่า กองกำลังของไต้หวันมีเป้าประสงค์ร่วมกับสหรัฐฯ เพื่อต่อต้านจีน” เยว่ อดีตทหารแห่งกองทัพปลดแอกประชาชนจีน กล่าว


แต่สงครามไม่ใช่การเคลื่อนไหวแบบไร้สติ


ทว่า ซ่ง จงผิง นักวิจารณ์ด้านการทหารในฮ่องกง อ้างถึง The Art of War โดยกล่าวว่า สงครามจะเป็นเรื่องของชีวิตและความตาย และไม่ใช่การเคลื่อนไหวแบบไร้สติ

“ทางเลือกสุดท้ายในการแก้ปัญหาไต้หวันคือการใช้วิธีการทางทหาร ดังนั้นกิจกรรมทางทหารทั้งหมดจึงเป็นการเตรียมการ” ซ่งกล่าว

หากสหรัฐฯ ตกลงที่จะยอมรับการเปลี่ยนชื่อสำนักงานดังกล่าว รัฐบาลจีนจะตอบโต้สหรัฐฯ โดยยุติความร่วมมือต่าง ๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือการจัดการกับกลุ่มตาลีบันในอัฟกานิสถาน ตามที่ หวาง คังอี หัวหน้าสมาคมการศึกษายุทธศาสตร์ระหว่างประเทศของไต้หวันกล่าว


มาตรการเรียกตัวทูตกลับ ใช้ได้กับทุกประเทศหรือไม่?


ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนที่แล้ว จีนเรียกตัวเอกอัครราชทูตประจำลิทัวเนียคืน หลังจากที่ลิทัวเนียอนุญาตให้ไต้หวันเปิดสถานทูตโดยพฤตินัย และใช้ชื่อ 'ไต้หวัน' เป็นชื่อทางการ ซึ่งการอนุมัติในลักษณะนี้ เกิดขึ้นที่ลิทัวเนียเป็นครั้งแรกในเหล่าประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับจีน

 

แต่ ลู่ หยือชิง ศาสตราจารย์ด้านการทูตที่มหาวิทยาลัยนานาชาติเฉิงชื่อกล่าวว่า การเรียกตัวเอกอัครราชทูตจีนประจำสหรัฐฯ กลับ จะเป็นการตัดสินใจที่ยากลำบากกว่านั้นมาก เนื่องจากความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีที่ลดระดับลง "อาจต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะฟื้นตัว"

 

“รัฐบาลจีนหวังว่าจะพลิกโฉมความสัมพันธ์กับทำเนียบขาวได้ และเมื่อเทียบกับนโยบายของทรัมป์ ก็พบว่านโยบายของไบเดนค่อนข้างเป็นที่ยอมรับมากกว่า และจีนไม่ต้องการให้ความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ แย่ลงไปอีก” ลู่กล่าว

 

เขาเสริมว่า สี จิ้นผิง ผู้นำจีนอาจต้องการโฟกัสไปที่การประชุมใหญ่ครั้งที่ 20 ของพรรคคอมมิวนิสต์ในปีหน้า จึงไม่อยากให้ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ที่เสียหายอย่างร้ายแรง ทำให้พรรคต้องไขว้เขว


ยังต้องจับตาจีนอย่างใกล้ชิด


หลิน อู๋ฟาง อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายค้านของพรรคก๊กมินตั๋งในไต้หวันกล่าวว่า เนื่องจากความเปราะบางทางการเมืองของสหรัฐฯ กับจีน และทัศนคติของไบเดนในการพยายามแก้ไขความสัมพันธ์กับรัฐบาลจีน

 

ดังนั้น ไม่ว่าข้อเสนอการเปลี่ยนชื่อสำนักงานร่วมในกรุงวอชิงตันจะเป็นไปได้หรือไม่ก็ตาม แต่ก็ยังเป็น 'สิ่งที่ควรไตร่ตรองอย่างยิ่ง'

 

“ในภาพรวม ไบเดนและรัฐบาลของเขาไม่เคยกล่าวว่าพวกเขาจะเพิกถอนนโยบายจีนเดียว ซึ่งพวกเขาเน้นย้ำว่า หลักการนี้ยังคงเป็นฐานคิดของนโยบายสหรัฐฯ ที่เกี่ยวข้องกับจีนแผ่นดินใหญ่” หลิน กล่าว

 

อย่างไรก็ตาม พันเอกเยว่ อดีตทหารแห่งกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน ยังไม่คิดว่าจีนจะทำสงครามเต็มรูปแบบกับไต้หวันในเร็ว ๆ นี้

 

“ไม่น่าเป็นไปได้ที่เราจะเข้าสู่น่านฟ้าไต้หวัน เพราะเป้าหมายของเราคือทำให้พวกเขาอยู่ภายใต้แรงกดดันทางจิตใจ แต่เราจะยังไม่เริ่มสงคราม” เยว่ กล่าวสรุป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง