พายุถล่มสทิงพระ บ้านเรือน-ฟาร์มโคเสียหายยับ (คลิป)
ข่าววันนี้ วันที่ 17 ธ.ค.2564 เกิดเหตุพายุพัดกระหน่ำในพื้นที่หมู่ 1 บ้านหัวยาง ต.วัดจันทร์ อ.สทิงพระ จ.สงขลา เวลา 05.00 น. ทำให้มีบ้านเรือนและโรงเรือนเสียหายหลายหลัง โดยหนักสุด คือ ที่ฟาร์มเลี้ยงโคขุน ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มโคแสงจันทร์ โคทองฟาร์ม โรงเรือนฟาร์มเลี้ยงโคขุนซึ่งเป็นโครงสร้างเหล็ก ได้พังถล่มลงมาทั้งหลัง ซึ่งมีโคขุนในฟาร์ม 30 ตัว แม่วัว 80 ตัว แต่โชคดีที่วัวไม่ได้เป็นอะไร เสียหายเฉพาะโครงสร้างฟาร์ม หลังคาที่พังถล่มลงมาและเครื่องไม้เครื่องมือในฟาร์มเท่านั้น
มีบ้านเรือนของชาวบ้านในพื้นที่บ้านหัวยาง ถูกลมพัดหลังคาเปิดอีกประมาณ 10 หลัง ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ บางหลังพายุพัดหลังคาหายไปทั้งหลัง บางหลังกระเบื้องปลิว แต่ยังไม่มีรายงานของผู้บาดเจ็บ
นายจงรัตน์ ทองสุวรรณประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มโคแสงจันทร์ โคทองฟาร์ม เล่าถึงนาทีพายุพัด ว่า เกิดขึ้นตอนตี 5 ช่วงใกล้รุ่งวันนี้ขณะนั้นกำลังนั่งกินกาแฟอยู่ และสภาพอากาศเงียบผิดปกติไม่มีลม แต่สักพักได้เกิดพายุพัดกระหน่ำเข้ามาทันที กินเวลาประมาณ 5 นาที และเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว ฟาร์มเลี้ยงโคขุนก็พังลงมาทั้งหลัง ค่าเสียหายประมาณ 1 ล้านบาท
ด้านนายณัฏฐ์กิจ ทองเมือง ว่าที่นายก อบต.วัดจันทร์ เปิดเผยว่า ภาพรวมของพื้นที่ ต.วัดจันทร์ ที่ถูกพายุพัดถล่มครั้งนี้ ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่บ้านหัวยาง หมู่ 1 เป็นส่วนใหญ่ มีบ้านเสียหายหนักกว่า 10 หลัง รวมทั่งกลุ่มโคแสงจันทร์ที่เสียหายหนักที่สุด ซึ่งมูลค่าความเสียหายรวมทั้งหมดไม่ต่ำกว่า 3 ล้านบาท กำลังประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อลงพื้นที่สำรวจความเสียหายและช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนโดยด่วนแล้ว
สำหรับสภาพอากาศในพื้นที่จ.สงขลา ขณะนี้มีฝนตกสะสมต่อเนื่องมาสองวันแล้วโดยเฉพาะวันนี้อากาศปิด ฝนตกต่อเนื่องมาตั้งแต่เมื่อคืน
ด้านศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออกได้ออกประกาศเตือน ช่วงวันที่ 17-18 ธ.ค. 2564 ภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่างมีฝนหนักหลายพื้นที่โดยเฉพาะจังหวัดสงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส นครศรีธรรมราช และพัทลุงให้ระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง
คลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนล่างมีกำลังค่อนข้างแรง โดยทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ทะเลมีคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง ขอให้ประชาชนติดตามข่าวพยากรณ์อากาศจากศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก