รีเซต

กรมชล พร้อมรับมือพายุฤดูร้อน ย้ำโครงการชลประทานทุกแห่งเร่งปรับปรุงแหล่งน้ำรับฝน

กรมชล พร้อมรับมือพายุฤดูร้อน ย้ำโครงการชลประทานทุกแห่งเร่งปรับปรุงแหล่งน้ำรับฝน
มติชน
1 มีนาคม 2564 ( 17:49 )
71
กรมชล พร้อมรับมือพายุฤดูร้อน ย้ำโครงการชลประทานทุกแห่งเร่งปรับปรุงแหล่งน้ำรับฝน

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยหลังการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่า ปัจจุบัน อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 41,542 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 55% ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 17,612 ล้าน ลบ.ม. จนถึงขณะนี้มีการใช้น้ำไปแล้ว 10,652 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 62% ของแผนฯ เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 10,262 ล้าน ลบ.ม. หรือ 41% ของความจุอ่างฯรวมกัน

 

นายทวีศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 3,566 ล้าน ลบ.ม. มีการใช้น้ำไปแล้ว 3,091 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 77% ของแผนฯ จากประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน ส่งผลให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง กับมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ในภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน โดยมีผลกระทบในช่วงวันที่ 1-4 มีนาคม 2564 นั้น ได้สั่งการให้โครงการชลประทานในพื้นที่ดังกล่าว เฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด พร้อมบริหารจัดการน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมและสอดคล้องกับสถานการณ์ รวมไปถึงให้ติดตามตรวจสอบอาคารชลประทานให้มีสภาพพร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ หากเกิดฝนตกหนักหรือลมกระโชกแรงจนส่งผลกระทบต่ออาคารชลประทานและทรัพย์สินของทางราชการ จะต้องเข้าไปแก้ไขสถานการณ์โดยเร็ว

 

นายทวีศักดิ์ กล่าวอีกว่า รวมทั้งกำหนดเจ้าหน้าที่ประจำพื้นที่เสี่ยง เพื่อร่วมบูรณาการกับผู้ว่าราชการจังหวัด กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ฝ่ายความมั่นคง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการแจ้งเตือนประชาชน ตลอดจนเตรียมความพร้อมด้านเครื่องจักร เครื่องมือ อาทิ รถแบคโฮ/รถขุด รถเทรลเลอร์ เครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ และเครื่องผลักดันน้ำ เป็นต้น เข้าไปประจำพื้นที่เสี่ยง เพื่อให้สามารถช่วยเหลือประชาชนได้ทันที นอกจากนี้ ยังได้เน้นย้ำให้กำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การระบายน้ำทำได้ดียิ่งขึ้น

 

ทั้งนี้ ได้กำชับให้โครงการชลประทานในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน วางแผนเก็บกักน้ำไว้ในแหล่งน้ำธรรมชาติควบคู่กันไปด้วย ตามนโยบายของ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และข้อสั่งการของ นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน โดยเน้นย้ำให้ทุกโครงการเร่งดำเนินการกำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำให้แล้วเสร็จตามแผน และดำเนินการขุดลอกแหล่งน้ำต่างๆเพื่อเตรียมพร้อมรองรับน้ำฝนในช่วงฤดูฝนที่จะมาถึงนี้ พร้อมทั้งขอให้ประชาชนติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำจากทางหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง