“ภาษาไทย” มีลักษณะจำเพาะเป็นเอกลักษณ์ด้วย พยัญชนะ , สระ , ควบกล้ำ และวรรณยุกต์ที่จำแนกเสียงสูงต่ำหลายระดับได้ชัดเจน จึงถือเป็นภาษาที่มีสำเนียงดุจบทกวีที่คมชัด ฉะฉาน และใน วันที่ ๒๙ กรกฎาคม ของทุกปีถือเป็น วันภาษาไทยแห่งชาติ จึงขอพาไปรำลึกถึงประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจ ของวันสำคัญวันหนึ่งที่ควรค่าแก่การศึกษาเพื่อบอกเล่าต่อถึงคนรุ่นหลังให้เห็นความสำคัญของวันภาษาไทยแห่งชาตินี้ ให้ดียิ่งขึ้นย้อนกลับไปในวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ปี พ.ศ.๒๕๐๕ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร องค์รัชกาลที่ ๙ เสด็จพระราชดำเนินไปงานประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทรงอภิปรายเรื่อง ปัญหาการใช้คำไทย ทรงมีพระราชดำรัสถึงความสำคัญของภาษาไทย สร้างความประทับใจให้ผู้เข้าร่วมการประชุม จนมาถึงปี พ.ศ.๒๕๔๒ คณะรัฐบาลในขณะนั้นโดย นาย ชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี ได้ผลักดันเข้าสู่ที่ประชุมสภาฯ จนมีมติในวันที่ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๒ เห็นชอบให้ วันที่ ๒๙ กรกฎาคม ของทุกปี ซึ่งตรงกับวันพระราชทานพระราชดำรัส ณ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ.๒๕๐๕ เป็น วันภาษาไทยแห่งชาติ และมีขึ้นครั้งแรกในปีนั้นเอง นับถึงวันนี้ผ่านมา ๒๓ ปี ที่ประเทศไทยของเราได้จัดกิจกรรมในวันสำคัญนี้ เช่นการจัดนิทรรศการ มีการจัดประกวดคัดลายมือ , แต่งร้อยแก้วร้อยกลอง หรือแข่งขันการอ่านออกเสียง ตามสถาบันการศึกษา , หน่วยงานรัฐ และเอกชนระดับประเทศมากมายที่ขาดไม่ได้เลยคือการมอบรางวัล ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น ของกระทรวงวัฒนธรรมที่ได้จัดกิจกรรมขึ้นเป็นประจำทุกปี และรางวัลประจำปี พ.ศ.๒๕๖๓ ในฐานะผู้ใช้ภาษาไทยสร้างสรรค์ดีเด่น ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจำนวน ๓ รางวัล ได้แก่ นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน , รายการเวทีเพลงเพราะ (The Golden Song) , รายการคลับฟรายเดย์ (Club Friday) ในปีนี้ได้เน้นถึงการใช้ภาษาไทยสื่อสารได้อย่างเหมาะสมในภาวะวิกฤติ จากการระบาดของเชื้อโควิด-๑๙ ทำให้การใช้ภาษาไทยต้องเป็นไปอย่างระมัดระวังในสถานการณ์ที่เปราะบางและในปีนี้กระทรวงวัฒนธรรมยังได้จัดทำเว็บไซต์ www.ภาษาไทย.net เพื่อให้ความรู้ด้านภาษาไทย และเผยแพร่กิจกรรมต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ในการศึกษาอนุรักษ์ภาษาไทย มีสื่อสมัยใหม่อย่าง E-book , หนังสั้น และการออกอากาศสด เพื่อให้เข้าถึงเยาวชนรุ่นใหม่ได้ง่ายขึ้น ตามคำขวัญ “รู้รักษ์ภาษาไทย วิถีใหม่” ในปีนี้ ผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปชมกันได้ มีรายการน่าสนใจให้เราได้รับชมกันตลอดทั้งวันในโลกยุคปัจจุบันมีการหลั่งไหลเข้ามาของเทคโนโลยีมากมาย ทำให้เกิดวัฒนธรรมการใช้ภาษาที่ผิดเพี้ยน ทั้งโดยตั้งใจ และไม่ตั้งใจ คำศัพท์หลายคำถูกนำมาใช้อย่างผิด ๆ เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย จึงเป็นหน้าที่ของเราทุกคนในการเรียนรู้ เพื่อการใช้ภาษาไทยสื่อสารให้ถูกต้อง เหมาะสม เป็นการอนุรักษ์ภาษาไทย ให้เป็นไปตามคำขวัญที่ว่า “รู้รักษ์ภาษาไทย วิถีใหม่” ให้ ภาษาไทย เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติต่อไปอีกนานเท่านาน..ภาพประกอบโดย ภาพปก 1,2 / www.ภาษาไทย.net ภาพที่ 1 / ภาพที่ 2 / ภาพที่ 3