รีเซต

เอกชน เตือน ธุรกิจบริการต้องพึ่งดิจิทัล ลูกค้ายุคใหม่ไม่ชอบรอนาน

เอกชน เตือน ธุรกิจบริการต้องพึ่งดิจิทัล ลูกค้ายุคใหม่ไม่ชอบรอนาน
มติชน
10 ตุลาคม 2564 ( 07:30 )
26

เอกชน เตือน ธุรกิจบริการต้องพึ่งดิจิทัล ลูกค้ายุคใหม่ไม่ชอบรอนาน จี้ปรับตัวทั้งผู้ผลิต-แรงงานก่อนตกขบวน

 

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวถึงการปรับตัวของภาคธุรกิจไทยในยุคเทคโนโลยีดิจิทัลว่า ขณะนี้เป็นยุคที่เทคโนโลยีดิจทัลเข้ามาช่วยอย่างมาก ไม่ว่าจะเรื่องการบริการต่างๆ ในปัจุบัน ผู้บริโภคทำได้ด้วยตนเอง อาทิ บริการธนาคาร เมื่อต้องไปธนาคารและทำธุรกรรมผ่านเคาท์เตอร์ที่ให้บริการ แต่ในช่วงที่มีการระบาดของเชื่อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ทำให้ต้องปรับตัว เพราะเดินทางไปลำบาก บางสถานที่ปิด ดังนั้นผู้ให้บริการที่ปรับตัวเร็ว พยายามให้ลูกค้าใช้บริการได้ตลอดเวลา จึงใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วย จนตอนนี้กลายเป็นเรื่องธรรมดาที่สามารถทำธุรกรรม หรือรับบริการต่างๆได้ด้วยตนเอง

 

“ธุรกิจหลายอย่างเป็นงานบริการ แบบไม่ต้องสัมผัสแบบตัวต่อตัว นำเทคโนโลยีดิจิทัลได้ในทันที จึงเป็นโอกาสที่จะปรับตัว ซึ่งผู้บริโภคมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปด้วย ต้องการความเป็นส่วนตัวมากขึ้น ไม่ต้องการรอคอยคิวใช้บริการแบบในอดีต หรืองานบริการที่ผู้คนจะต้องไปร้านเพื่อใช้บริการโดยตรงนั้น ผู้ประกอบการอาจใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยในการจัดการคิวให้บริการ อาทิ ปัจจุบัน ร้านตัดผม เสริมสวย ต้องใช้การโทรติดต่อเพื่อจองคิว แต่ในอนาคตถ้าร้านไหนปรับตัวมาใช้เทคโนโลยีดิจิทัลได้ อาจใช้ระบบการจองคิวผ่านแอพพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน มีทั้งการกำหนดเวลา การแจ้งเตือน ซึ่งขณะนี้กลุ่มโรงพยาบาลได้เริ่มใช้กันจำนวนมากแล้ว”นายวิศิษฐ์กล่าว

 

ดังนั้นการพัฒนาระบบจัดการคิวจะมีความเข้มข้นขึ้น เพราะผู้บริโภคไม่ต้องการเสียเวลา และมีความตรงเวลามากขึ้น รวมทั้งเป็นการลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการด้วย ไม่ต้องจ้างพนักงานมารอรับคิว คอยรับโทรศัพท์ลูกค้าที่มาจองบริการ ถ้าใช้ทุกอย่างผ่านระบบออนไลน์ได้ ก็ล้วนแล้วแต่จะช่วยให้ธุรกิจเดินต่อไปได้ นอกจากช่วยลดต้นแล้ว ยังสามารถแข่งขันในตลาดได้ และลูกค้าได้รับการบริการที่รวดเร็วขึ้น

 

ในเชิงของการผลิตเอง ภาคธุรกิจต้องปรับตัวขนาดใหญ่ เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้หาแรงงานเพิ่มไม่ได้ แรงงานบางส่วนไม่กลับมาทำงานแบบเดิม รวมทั้งผู้ประกอบการไม่สามารถรับคนงานจากต่างประเทศได้ ดังนั้นการปรับตัวจึงต้องมาในลักษณะการใช้เครื่องจักรที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยทำงาน แบบอัตโนมัติ หรือกึ่งอัตโนมัติทดแทน คงไม่ได้เปลี่ยนแปลงในทันที ภายในครึ่งปี หรือ 1 ปี แต่การปรับตัวเช่นนี้จะมีอย่างต่อเนื่อง อีกส่วนที่สำคัญ ด้านผู้ประกอบการที่ผลิตเครื่องจักร ต้องปรับตัวด้วยเช่นกัน ในการผลิตเครื่องจักรในสอดคล้องกับความต้องการของตลาด อาจใช้เทคโนโลยีอัตโนมัติเต็มรูปแบบ ไม่จำเป็นต้องใช้คนควบคุมเลย ผู้ผลิตจึงต้องพัฒนาเครื่องจักรในทุกรูปแบบ นอกจกนี้ในส่วนของแรงงานต้องปรับตัวเช่นกัน โดยการเรียนรู้และเพิ่มทักษะใหม่ เมื่อมีการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล แรงงานต้องรู้จักใช้ และควบคุมเทคโนโลยีได้ หากไม่ปรับตัว อาจจะตกงานได้เช่นกัน เพราะงานสมัยนี้ต้องตอบสนองความสะดวกสบาย และความง่ายที่อาจจะต้องพึ่งพาเทคโนโลยีมากขึ้น

 

“ในตอนนี้ใครที่ปรับตัวได้เร็วจะเอาตัวรอดได้ แต่คนที่ไม่คิดจะปรับตัว อาจฟื้นตัวได้ยาก อย่างการขายของ เมื่อก่อนก็ต้องเปิดร้าน มีหน้าร้าน แต่พอช่วงล็อกดาวน์อาจจะเปิดร้านไม่ได้ ถึงเปิดก็ไม่มีใครกล้ามาซื้อ ถ้าไม่มีช่องทางการขายผ่านทางออนไลน์เข้ามาเสริมอาจจะแย่ได้ ดังนั้นการขายของออนไลน์ ก็เหมือนการเปิดร้านรูปแบบใหม่ ที่เปิดขายได้ทุกที่ และทุกเวลา หากไม่เริ่มปรับตัวตอนนนี้ จะช้าเกินไป ทุกอย่างมันเป็นเรื่องของการแข่งขัน หากใครปรับตัวได้เร็ว จะฟื้นได้ก่อน “นายวิศิษฐ์ กล่าว

 

ระบบงานราชการ เมื่อก่อนต้องไปติดต่องานที่สถานราชการด้วยตนเอง หรือ เมื่อกรอกข้อมูลหรือส่งเอกสารผิดพลาด ต้องมีขั้นตอนนำกลับมาแก้ไขใหม่ ต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้น ดังนั้นหากรัฐบาลพัฒนาระบบเทคโนโลยีดิจิทัล การติดต่องานราชการอาจจะจบในไม่กี่ขั้นตอน ผ่านสมาร์ทโฟน หรือมีการตรวจสอบเอกสารข้อผิดพลาดด้วยระบบคอมพิวเตอร์ตั้งแต่ก่อนส่ง จะช่วยลดทั้งเรื่องของคน เรื่องเวลา และทำให้ลดต้นทุนในการบริหารงาน ซึ่งภาครัฐเองต้องปรับตัวไม่ใช่เพียงผู้ออกกฏระเบียบ แต่ต้องช่วยอำนวยความสะดวก ลดขั้นตอนการทำงาน เพราะนี้คือการพัฒนาโดยรวมของประเทศ ที่ทุกฝ่ายทั้ง ภาครัฐ เอกชน และประชาชน ต้องร่วมพัฒนาไปด้วยกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง