ในปัจจุบันการอ่านมิเตอร์ไฟฟ้าเป็น คืออีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม เพราะมิเตอร์ไฟฟ้าคือที่มาของใบแจ้งค่าไฟฟ้าที่เราได้รับทุกเดือนนั่นเองยอมรับกันหรือไม่ว่าในช่วงหน้าร้อนปัญหาที่แทบทุกบ้านมักจะเจอก็คงหนีไม่พ้นเรื่องค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ผู้เขียนก็เป็นคนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงหน้าร้อน เพราะหนึไม่พ้นที่จะต้องใช้แอร์ในช่วงที่อากาศร้อนจัดและช่วงนี้ก็จะต้องเจอกับอากาศร้อนแทบทุกวัน ค่าไฟฟ้าบ้านผู้เขียนเองพุ่งกระฉูดจาก 100-200 หน่วย เป็น 300 หน่วย ในแค่เวลาแค่ 2 เดือนและบางคนอาจจะยังสงสัยว่ามิเตอร์ไฟฟ้าเค้าอ่านกันยังไงและใบแจ้งค่าไฟฟ้าที่เราได้มาจากพนักงานที่มาอ่านค่าบนมิเตอร์ไฟฟ้าของเราบอกอะไรเราได้บ้าง วันนี้ผู้เขียนจะมาอธิบายให้ฟังกันแบบง่ายๆ ค่ะหน้าตาของมิเตอร์ไฟฟ้าก็จะมีลักษณะเป็นแบบนี้ค่ะ จะติดตั้งอยู่ที่เสาไฟฟ้าหน้าบ้านเราบนมิเตอร์จะมีอยู่สองส่วนคือ ตัวเลขที่บอกถึงรหัสเครื่องวัดจะอยู่ด้านบนสุด และตัวเลขที่วิ่งอยู่ตลอดตามการใช้ไฟฟ้าของเรา ซึ่งจะเป็นตัวเลขเดียวกับที่พนักงานมาอ่าน ณ วันและเวลาที่เราได้รับใบแจ้งค่าไฟฟ้าสำหรับตัวอย่างใบแจ้งค่าไฟฟ้า จะเป็นของเดือนมีนาคม 2566 ที่ผ่านมาค่ะซึ่งในใบแจ้งค่าไฟฟ้า มีอะไรบ้างมาดูกันส่วนที่ 1 ข้อมูลทั่วไป ส่วนนี้จะเป็นข้อมูลของผู้ใช้ไฟฟ้าแต่ละที่ค่ะ ตรงนี้จะบอกเราว่าเป็นใบแจ้งค่าไฟฟ้าของใคร ที่ไหน หมายเลขผู้ใช้ไฟฟ้าและรหัสเครื่องวัดอะไร(ดูได้จากมิเตอร์ไฟฟ้า) และเป็นใบแจ้งค่าไฟฟ้าประจำเดือนไหน ส่วนที่ 2 ข้อมูลการใช้ไฟฟ้า ตรงนี้จะเป็นตัวบอกว่าเดือนนี้เราใช้ไฟไปกี่หน่วย หลักการคำนวณหน่วยง่ายๆ ก็คือ เอาเลขครั้งหลังลบด้วยเลขครั้งก่อนเราก็จะได้หน่วยการใช้ไฟฟ้าของเราเดือนนั้นๆ ค่ะ ซึ่งเลขครั้งหลังและเลขครั้งก่อนได้มาจากการที่พนักงานมาอ่านมิเตอร์ไฟฟ้าที่ติดอยู่ที่เสาไฟฟ้าหน้าบ้านของเราค่ะ ปกติจะจดห่างกันประมาณ 30 วันส่วนที่ 3 ค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บ หลักๆ ก็จะมี 3 อย่าง คือค่าไฟฟ้าฐาน ได้แก่ ค่าพลังงานไฟฟ้าและค่าบริการรายเดือน ส่วนนี้จะปรับทุก 3-5 ปี ซึ่งจะเป็นค่าต้นทุนของการก่อสร้างระบบการไฟฟ้าและค่าบริการต่างๆของการไฟฟ้า อัตราการคำนวณค่าไฟฟ้าและค่าบริการรายเดือนอัพเดทล่าสุดปี 2566 สามารถ คลิกที่นี่ ค่ะ ค่า FT จะเป็นค่าเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า ค่าซื้อไฟฟ้าจากเอกชนและค่าใช้จ่ายตามนโยบายของรัฐที่เปลี่ยนไปจากค่าไฟฟ้าฐาน ซึ่งค่า FT จะปรับทุก 4 เดือน ซึ่งเราสามารถเข้าไปเช็คค่า FT ในแต่ละช่วงเวลาได้ คลิกที่นี่ สำหรับ ค่า FT ประจำเดือนมกราคม-เดือนเมษายน 2566 ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย จะอยู่ที่หน่วยละ 0.9343 บาท และประเภทอื่นๆ จะอยู่ที่หน่วยละ 1.5492 บาทค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%ซึ่งการคำนวณค่าไฟฟ้าก็จะเอาค่าพลังงานไฟฟ้า ค่าบริการรายเดือน และค่า FT มารวมกันค่ะ ผลรวมที่ได้นำมาบวกภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ก็จะได้เป็นค่าไฟฟ้าของเราแต่ละเดือนค่าไฟฟ้ารายเดือน = (ค่าพลังงานไฟฟ้า+ค่าบริการรายเดือน+ ค่า FT) + ค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%ส่วนที่ 4 ส่วนด้านล่างสุดจะเป็นประวัติการใช้ไฟฟ้าของเรา ส่วนนี้จะบอกเราว่าในแต่ละเดือนย้อนหลังไปเราใช้ไฟฟ้าไปกี่หน่วย ตัวนี้มีประโยชน์ทีเดียวเลยค่ะ ในการควบคุมการใช้ไฟฟ้าด้วยตัวเอง ลองสังเกตการใช้แต่ละเดือนดู แล้วลองมาทำ Challenge สนุกๆ กับตัวเองดูว่าเดือนไหนเราจะประหยัดไฟฟ้าได้มากที่สุดค่ะคราวนี้เมื่ออ่านมิเตอร์เป็นแล้ว ได้รับใบแจ้งค่าไฟฟ้าครั้งต่อไป ต้องไม่พลาดเอามาดูกันแล้วนะคะ..... ที่มาข้อมูลอ้างอิงจาก Website : การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค1.https://www.pea.co.th/electricity-tariffs2.https://www.pea.co.th/ความรู้เกี่ยวกับไฟฟ้า/ค่าFTภาพถ่ายทั้งหมด โดย ผู้เขียน เปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !