รีเซต

กทม.เฝ้าระวังคลัสเตอร์ก่อสร้าง 5 แคมป์อีก 28 วัน เตือนสถานที่แออัดไม่ควรเข้า

กทม.เฝ้าระวังคลัสเตอร์ก่อสร้าง 5 แคมป์อีก 28 วัน เตือนสถานที่แออัดไม่ควรเข้า
ข่าวสด
13 มกราคม 2565 ( 16:39 )
55

กทม.ตรวจเชิงรุกไปแล้ว 4,000 กว่าราย เฝ้าระวังคลัสเตอร์ก่อสร้าง 5 แคมป์อีก 28 วัน ยันมีเตียงพร้อมสแตนด์บายอยู่ราว 10,000 เตียง เตือนสถานที่แออัดไม่ควรเข้า

เมื่อวันที่ 13 ม.ค. ที่ศาลาว่าการ กทม. ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวถึงสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ว่า กทม.มีการตรวจเชิงรุกตลอด ไม่รวมการตรวจในโรงพยาบาล หรือที่ประชาชนไปตรวจกันเอง ซึ่งล่าสุดกทม.ดำเนินการตรวจเชิงรุกไปแล้วประมาณ 4,000 กว่าราย อัตราการพบผู้ติดเชื้ออยู่ที่ร้อยละ 1-2 ถึงแม้จะยังไม่สูง แต่ไม่ประมาท และเฝ้าระวังอยู่ตลอด

โดยพบการแพร่ระบาดอยู่ 2 ลักษณะ คือ การแพร่ระบาดในชุมชน เช่น งานเลี้ยงสังสรรค์ จากการกินเลี้ยงในชุมชน กับอีกลักษณะหนึ่งคือการแพร่ระบาดที่เป็นพื้นที่ร้านอาหาร หรือพื้นที่จำหน่ายแอลกอฮอล์ และคลัสเตอร์ในโรงงาน

ส่วนการป้องกันไม่ให้เตียงล้น ขณะนี้กทม.มีเตียงพร้อมสแตนด์บายอยู่ราวๆ 10,000 เตียง ในจำนวนนี้มีผู้ครองเตียงอยู่ที่ราวๆ ร้อยละ 18.59 หรือประมาณ 1,700-1,800 เตียง โดยขอให้พี่น้องประชาชนที่ร่างกายแข็งแรง พักรักษาตัวอยู่ที่บ้าน หรือ Home Isolation (HI) เพื่อที่จะรองรับการแพร่ระบาดรุนแรง

แต่ก็ต้องเรียนว่าการระบาดครั้งนี้สิ่งที่แตกต่าง คือเรื่องอัตราการป่วยหนัก เนื่องจากเราฉีดวัคซีนค่อนข้างมาก ช่วงประมาณปีที่แล้วที่ระบาด และอาการค่อนข้างรุนแรง เพราะเรายังไม่ได้ฉีดวัคซีนที่ครอบคลุม ตอนนี้อัตราการฉีดวัคซีนของเราเข็มที่ 1 อยู่ที่ร้อยละ 120 ส่วนเข็มที่ 2 อยู่ที่ร้อยละ 111 และเข็มที่ 3 อยู่ที่ร้อยละ 25 ซึ่งเราก็พยายามเร่งการฉีดวัคซีนบูสเตอร์โดส อยู่ในขณะนี้

โฆษก กทม.กล่าวว่า สำหรับเตียงที่กล่าวถึงไม่ได้แปลว่าจะมีเพียงแค่ 10,000 เตียง แต่ กทม.มีความพร้อมในการเปิดเพิ่มอีกภายในเวลา 24 ชั่วโมง หากครองเตียงเพิ่มขึ้น แต่ขณะนี้การครองเตียงอยู่ที่ร้อยละ 18 จึงอยากให้กำลังของบุคลากรทางการแพทย์ไปใช้ในส่วนของการตรวจเชิงรุก การตรวจ RT-PCR และในด้านอื่นๆ ก่อน แต่ยืนยันว่าหากครองเตียงเพิ่มขึ้นจะสามารถขยายเตียงได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า จากสถานการณ์การติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้น จะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้หรือไม่ ร.ต.อ.พงศกร กล่าวว่า ตอนนี้ต้องเตรียมตัวสำหรับการแพร่ระบาดที่รุนแรงมากขึ้น ในส่วนของเตียงที่ใช้รองรับผู้ป่วย และอีกส่วนคือวัคซีนหรือการฉีดบูสเตอร์โดส เพื่อลดอัตราการป่วย และอัตราการเข้าโรงพยาบาล และส่วนสุดท้ายคือการออกมาตรการต่างๆ

เมื่อถามต่อว่า มีมาตรการพิเศษสำหรับคลัสเตอร์ต่างๆ หรือไม่ ร.ต.อ.พงศกร กล่าวว่า ขณะนี้ก็มีมาตรการบับเบิล แอนด์ ซีล และกักตัวสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูง และมีการตั้งจุดคัดกรองให้แก่คนงานเช่นกัน

เมื่อถามอีกว่า สำหรับร้านอาหารและสถานประกอบการ จะยกระดับมาตรการคุมเข้มขึ้นหรือไม่ ร.ต.อ.พงศกร กล่าวว่า จะเห็นได้ว่าหลังจากที่มีการฉีดวัคซีน การเกิดคลัสเตอร์ตามร้านอาหารลดน้อยลง

อีกส่วนหนึ่งคือสถานประกอบการกึ่งร้านอาหาร ส่วนนี้เราใช้มาตรการเดิม คือจะต้องดำเนินตามมาตรการตามร้านอาหาร 100% เว้นระยะห่าง ฉีดวัคซีนให้พนักงาน คัดกรอง ไม่จัดพื้นที่ให้เต้น ดังนั้น หลังจากวันที่ 16 ม.ค.นี้ ก็จะต้องดำเนินการเช่นนี้ต่อไป ส่วนร้านที่กำลังจะเปิดก็ต้องดำเนินการตามนี้เช่นกัน

ด้าน พญ.ป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. กล่าวเพิ่มเติมว่า กทม.ดำเนินการฉีดวัคซีนให้แก่แรงงาน และหลังจากนั้นก็สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ดีขึ้น ขณะนี้มีคลัสเตอร์ก่อสร้างที่ต้องเฝ้าระวังไปอีก 28 วัน มีอยู่ 5 แคมป์ และยังไม่มีคลัสเตอร์ใหม่เกิดขึ้น

พญ.ป่านฤดี กล่าวว่า ในเรื่องของสถานประกอบการที่จะเปลี่ยนมาเปิดเป็นร้านอาหาร ปลัด กทม.ก็สั่งการไปยังสำนักงานเขตไปตรวจให้คำแนะนำ ว่ามีความพร้อมในการเปิดหรือไม่ ดังนั้น ที่ดูจากการเกิดเป็นคลัสเตอร์ร้านอาหารนั้นน้อยมาก และสามารถควบคุมได้ เพราะเจ้าของสถานประกอบการก็ให้ความร่วมมือในการตรวจหาเชื้อเพิ่มเติม และส่วนมากเกิดจากการติดเชื้อของผู้ที่ไปร่วมรับประทานด้วยกัน ไม่ได้ติดไปถึงพนักงาน

“ดังนั้นประชาชนก็ควรจะดูด้วย ถ้าเข้าไปในสถานที่ที่แออัดก็ไม่ควรจะเข้าไป และหลังจากการแพร่ระบาดของโอมิครอน เรามีมาตรการที่เข้มข้นมากขึ้น ร้านอาหารที่จะเปิดได้ ต้องเป็นร้านที่ผ่าน SHA+ หรือ Thai Stop Covid 2 Plus เท่านั้น ก็ทำให้เห็นว่าเราพยายามเข้มข้นในมาตรการต่างๆ มากยิ่งขึ้น” พญ.ป่านฤดี กล่าว

ขณะที่ นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม. กล่าวถึงกรณีการติดเชื้อโควิด-19 ในเด็กเล็กที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนว่า สำนักการแพทย์ ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) วางแผน ด่านแรกคือการเตรียมความพร้อมในกรณีที่เด็กป่วยก็จะไปอยู่ในระบบ Community Isolation (CI) เราขยาย CI และมี CI ที่เป็นของเด็กโดยเฉพาะอย่างปัจจุบันมี CI ของเด็กอยู่ที่เกียกกาย และกรณีที่มีอาการรุนแรงจะใช้ระบบการปรึกษาโดยทีม สธ. และทีมแพทย์ตลอด 24 ชั่วโมง ดูแลกลุ่มผู้ป่วยนี้ และถ้ามีอาการหนักก็จะรักษาในโรงพยาบาล

ที่มา มติชนออนไลน์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง