ในแต่ละปีจะมีคำไทยที่ยอดนิยมเกิดขึ้นมากมาย หลายคนก็เคยชินกับการเขียนที่ไม่ถูกต้องโดยไม่ตั้งใจ หรือแม้แต่เข้าใจผิดไปว่าแบบนี้ถูกต้องแล้ว ปี 2025 มีคำที่เขียนผิดบ่อย ๆ เช่นกัน ทั้งคำภาษาไทยและคำทับศัพท์ โดยเฉพาะคำที่เกี่ยวกับโลกออนไลน์ เรารวบรวมมาฝาก 10 คำค่ะ รับรองต้องมีคำที่ทุกคนเคยเขียนผิดแน่นอน 1. แอปพลิเคชัน มักเขียนผิดเป็นแอพพลิเคชั่น ความหมาย โปรแกรมที่ใช้ในโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ เช่น แอปพลิเคชันธนาคาร แอปพลิเคชันดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกม มักใช้คำย่อหรือภาษาพูดว่าแอปฯ ตัวอย่างประโยค ฉันฟังเพลงวง BTS บนแอปพลิเคชัน Spotify ~คำนี้มักสะกดผิดจาก ป เป็น พ และบางครั้ง อาจด้วยความเคยชินจากภาษาพูดก็เข้าใจผิดว่าต้องเติมไม้เอกในพยางค์ท้ายสุดเป็น ‘..ชั่น’ แต่ที่ถูกต้อง คือ '..ชัน' ไม่ต้องเติมไม้เอกนะคะ 2. ผัดไทย มักเขียนผิดเป็น ผัดไท ความหมาย อาหารไทยประเภทเส้น มักใส่ถั่วงอก กุ้งแห้ง เต้าหู้ และเนื้อสัตว์หลากหลายประเภท เช่น หมู ไก่ กุ้ง เป็นอาหารขึ้นชื่อที่ต่างชาติชื่นชอบ ตัวอย่างประโยค พี่ชุนชอบกินผัดไทยร้านป้าสมร ~คำนี้หลายคนสับสนว่าต้องเติมย.ยักษ์หรือไม่ ที่ถูกต้องคือต้องเติมนะคะ ผัดไทย ใช้ ‘ไทย’ จำง่าย ๆ ว่าเขียนแบบเดียวกับประเทศไทยค่ะ 3. เว็บไซต์ มักเขียนผิดเป็น เวปไซต์ ความหมาย พื้นที่ออนไลน์ที่มีการรวบรวมข้อมูลหรือบริการต่าง ๆ ไว้ในที่เดียว เข้าใช้งานผ่านเบราว์เซอร์ ตัวอย่างเช่น เว็บไซต์ข่าว เว็บไซต์ร้านค้า เว็บไซต์ที่สร้างขึ้นใช้งานส่วนตัว ตัวอย่างประโยค พี่เจย์สร้างเว็บไซต์สำหรับตกแต่งรูปให้ใช้แบบฟรี ๆ ~เป็นอีกหนึ่งคำที่เขียนผิดไปหลายรูปแบบเหมือนกันค่ะ ทั้งการสับสนเรื่องของการเติมไม้ไต่คู้หรือไม่ หรือการสะกดพยางค์แรกต้องใช้ป.ปลาหรือบ.ใบไม้ ที่ถูกต้องตามราชบัณฑิตยสถานกำหนดไว้คือ “เว็บไซต์” ค่ะ 4. คอนเทนต์ มักเขียนผิดเป็น คอนเท้นต์, คอนเท้น ความหมาย เนื้อหาบนโซเชียลมีเดียหรือโลกออนไลน์ มีหลายประเภท เช่น คลิปวีดีโอ บทความ รูปภาพ ตัวอย่างประโยค น้องปุ๊กขยันโพสต์คอนเทนต์ตลก ๆ บน Tiktok มาก ~โลกออนไลน์อยู่รอบตัวเราจริง ๆ ค่ะ หลายคนติดปากคำว่าคอนเทนต์ แต่ยังงง ๆ ว่าการใช้งานและการเขียนตามหลักทับศัพท์ที่ถูกต้องคือยังไงกันนะ ส่วนตัวเราจะใช้วิธีจำง่าย ๆ ว่า “คอนเทนต์” ทำได้เลย ไม่ต้องเติมวรรณยุกต์ค่ะ 5. ซีรีส์ มักเขียนผิดเป็น ซีรี่ย์ ความหมาย ละครหรือเรื่องยาว ๆ ที่แบ่งเป็นตอน ๆ ปัจจุบันออกอากาศผ่านหลายช่องทางทั้งโทรทัศน์และแอปพลิเคชันดูหนัง ดูซีรีส์ เช่น Netflix, VIU, IQIYI ตัวอย่างประโยค กงยูจะมีผลงานซีรีส์คู่กับซง ฮเยคโย ปลายปีนี้ ~ ไหนใครเป็นสายดองซีรีส์เหมือนเราบ้างคะ >< ซีรีส์ไทยเทศน่าดูและแข่งขันกันอย่างดุเดือด เวลาเปิดแอปพลิเคชันดูหนังต่าง ๆ เพื่อน ๆ สังเกตคำว่า “ซีรีส์” กันบ้างไหมคะ อาจผ่านตาจากหลากหลายช่องทางเขียนผิดเป็น ซีรี่ย์, ซีรี่ส์ แต่ที่ถูกต้องคือ “ซีรีส์” ค่ะ 6. ลิขสิทธิ์ มักเขียนผิดเป็น ลิขสิทธ์ ความหมาย สิทธิของคนสร้างผลงาน ห้ามคัดลอก ดัดแปลง นำไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต ตัวอย่างประโยค สมาชิกวง BTS เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เพลงจำนวนมาก ~พวกคำที่ใช้แบบเป็นทางการหรือทางกฎหมายต้องจำให้แม่นเลยค่ะ อาจจะจำยากหน่อย แต่ใกล้ตัวกว่าที่คิดแน่นอน “ลิขสิทธิ์” อย่าลืมเติม ‘สระอิ’ บน ‘ธ.ธง’ ก่อนที่จะเติมไม้ทัณฑฆาต( ์ ) นะคะ 7. นะคะ มักเขียนผิดเป็น นะค่ะ ความหมาย คำลงท้ายประโยคแบบสุภาพ ทำให้น้ำเสียงสุภาพนุ่มนวลขึ้น ตัวอย่างประโยค สวัสดีค่ะ วันนี้คุณวีอย่าลืมทานยาตามที่คุณหมอสั่งนะคะ ~เชื่อไหมคะ ว่าคำนี้ยังมีคนเขียนผิดอยู่เรื่อย ๆ น่าตกใจที่บางคนก็ละเลยคำง่าย ๆ แบบนี้ไปเหมือนกันค่ะ เรามาเริ่มใหม่กัน จำไว้ว่า “นะค่ะ” ไม่มีในโลก และระวังทุกคนอย่าสับสนกับคำว่า ‘น่ะค่ะ’ น่ะค่ะใช้ในประโยคบอกเล่าได้ เช่น เมื่อวานนี้ฉันทำงานเสร็จแล้ว วันนี้เลยว่างน่ะค่ะ 8. มุกตลก มักเขียนผิดเป็น มุขตลก ความหมาย คำพูดหรือสถานการณ์ที่ทำให้ผู้คนหัวเราะ ตลกขบขัน ตัวอย่างประโยค จินปล่อยมุกตลกได้ไหลลื่นมาก ๆ ~หลายคนสับสนตัวสะกดในพยางค์แรกของ “มุกตลก” ว่าใช้ก.ไก่ หรือข.ไข่กันนะ และอาจไปสับสนกับคำว่า “อบายมุข” ได้ “มุก..” ในคำว่า “มุกตลก” ต้องสะกดด้วยก.ไก่น้า 9. โพสต์ มักเขียนผิดเป็น โพสท์ ความหมาย การลงข้อความ รูปภาพ บนสื่อโซเชียลมีเดีย ตัวอย่างประโยค ครูมินไม่โพสต์อะไรในไอจีเลย เขาหายไปไหนนะ ~ “โพสต์” ที่ทับศัพท์มาจากภาษาอังกฤษ “post” พยัญชนะตัวการันต์ต้องเป็นต.เต่าค่ะ ตัว ‘t’ อาจทำเรางง ๆ ว่าภาษาไทยแทนด้วยต.เต่าหรือท.ทหาร กันนะ ต.เต่าน้าทุกคน 10. แอลฟา มักเขียนผิดเป็น อัลฟ่า ความหมาย เป็นคำที่ใช้ในหลากหลายวงการ ทั้งวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี จิตวิทยา ในที่นี้เราขอกล่าวถึงความหมายของเจเนอเรชันแอลฟา ที่เป็นคำยอดนิยมในปี 2025 ซึ่งหมายถึงเด็กที่เกิดในปี 2010-2024 ค่ะ ตัวอย่างประโยค เด็ก ๆ เจนแอลฟาปีนี้หลายคนเป็นวัยรุ่นแล้วนะ ~อีกหนึ่งคำทับศัพท์มาแรง การออกเสียงที่คุ้นเคยและติดปากทำให้เราเขียนผิดได้ค่ะ “แอลฟา” ใช้สระแอในพยางค์แรก และพยางค์หลังไม่ต้องเติมไม้เอกค่ะ ภาษาไทยยิ่งใช้ถูก สะกดถูกยิ่งดูมีเสน่ห์อย่างไม่น่าเชื่อเลยค่ะ ใช้กันให้ถูกน้า ไม่ว่าจะคำไทยแท้หรือคำทับศัพท์ก็ผิดพลาดกันได้ ดังนั้น ตรวจสอบก่อนใช้งานนะคะ ภาพปกและภาพประกอบโดยผู้เขียน ตกแต่งด้วย Canva เปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !