รีเซต

หมอยง ยันบูสต์วัคซีนโควิด mRNA ภูมิขึ้น 200 เท่า ชี้โอมิครอนแพร่เร็ว ก๊ง 10 คน ติดยกวง

หมอยง ยันบูสต์วัคซีนโควิด mRNA ภูมิขึ้น 200 เท่า ชี้โอมิครอนแพร่เร็ว ก๊ง 10 คน ติดยกวง
มติชน
28 ธันวาคม 2564 ( 15:17 )
49
หมอยง ยันบูสต์วัคซีนโควิด mRNA ภูมิขึ้น 200 เท่า ชี้โอมิครอนแพร่เร็ว ก๊ง 10 คน ติดยกวง

ข่าววันนี้ 28 ธันวาคม ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในช่วงหนึ่งของการเผยแพร่ความรู้ผ่าน Webinar LIVE COVID-19 Vaccine Quarterly Outlook จัดโดยบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด ว่า ทั่วโลกพบสถานการณ์โควิด-19 ระบาดรวม 4 ระลอกแล้ว ปี 2564 พบทั้งสายพันธุ์จี, แอลฟา, เดล ต้า และสายพันธุ์ใหม่ล่าสุด โอมิครอน จากรายงานจีเสส (GISAID) พบว่า จำนวนรหัสพันธุกรรมโอมิครอนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เชื่อว่าไม่เกิน 1-2 เดือน จะเข้ามาแทนที่เดลต้าแน่นอน เพราะติดต่อได้ง่ายกว่า

 

“เดิมโอมิครอนมีจุดกำเนิดที่แอฟริกา แต่ตอนนี้กระจายไปครึ่งโลก เนื่องจากยุโรป และอเมริกา เป็นแหล่งกระจายโรคได้ดี โดยที่ศูนย์เชี่ยวชาญฯ ตรวจวินิจฉัยจากตัวอย่างที่ถูกส่งตรวจ 96 คน พบเป็นโอมิครอน 40-50 คน แสดงว่าเชื้อแพร่ได้รวดเร็ว ซึ่งการระบาดในระลอกที่ 3 และระลอกที่ 4 แทบแยกจากกันไม่ออก แต่เชื่อว่า หลังปีใหม่ 2565 จำนวนผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เกิดในระลอกที่ 5 ขึ้นแน่ หากเราไม่ช่วยกัน” ศ.นพ.ยงกล่าว

 

ศ.นพ.ยงกล่าวว่า ขณะนี้ศูนย์เชี่ยวชาญฯ เตรียมถ่ายวิธีการตรวจให้กับสถานพยาบาลอื่น เพื่อการตรวจหาเชื้อโอมิครอนใช้การถอดรหัสพันธุ์กรรม ด้วยเทคนิคการตรวจที่รวดเร็วภายใน 4 ชั่วโมง (ชม.) ทั้งนี้ สาเหตุที่โอมิ ครอนหลุดออกจากระบบไม่กักตัว (Test &Go) มากกว่าระบบอื่น เช่น กรณี สามีชาวฝรั่งเศส และภรรยาที่เป็นช่างเสริมสวยเดินทางเข้าประเทศไทย ตรวจต้นทาง RT-PCR ไม่พบ ตรวจเมื่อเข้าประเทศไทยซ้ำใน 24 ชม. ก็ไม่พบ หลังไม่พบไปจิบไวน์กับเพื่อนที่บาร์ 11 คน จากนั้น ไม่นานมี 1 คน ไม่สบายนอนโรงพยาบาล (รพ.) ตรวจพบเชื้อโอมิครอน สันนิษฐานติดจากสามีภรรยา และจากนั้นเพื่อนทั้งหมดก็ติดโอมิครอน

 

“เชื่อว่าสามีภรรยานี้ติดเชื้อมาจากฝรั่งเศส เช่นเดียวกับเคสครอบครัวที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ลูกสาวติดโอมิครอนแล้วกักตัว แต่พ่อแม่และน้องชายไม่ติด จึงไม่กักตัว แต่อีก 2-3 วัน ก็ติด ซึ่งในช่วงเวลานั้นทั้ง 3 คน ก็ไปทำกิจกรรมอื่น ก็เท่ากับมีการแพร่เชื้อในสังคม จะเห็นว่าขบวนการ T&G ไม่สามารถป้องกันโอมิครอนได้เลย ส่วนเคสข้าราชการระดับสูง มีไปประชุมร่วมหลายที่ ป่วยนอนแอดมิดที่ รพ.เอกชน ตรวจพบเชื้อ โอมิครอน ลองนึกภาพ ว่าการทำงานต้องเดินทางไปไหนเยอะแยะ ติดต่อผู้คนมากมาย แสดงให้เห็นว่า เชื้อติดง่ายมาก จากสายพันธุ์อู่ฮั่น 10 คน กินเหล้าร่วมกันติด 2-3 คน มาเป็นสายพันธุ์เดลต้า 10 คน ติดเชื้อ 6-7 คน และโอมิครอน 10 คน ติดทั้ง 10 คน และเชื้อไอมิครอน หลบภูมิคุ้มกันได้ คนที่ติดส่วนใหญ่ ฉีดวัคซีนมาแล้ว 2 เข็ม แต่ไม่ว่าจะยี่ห้อไหน ชนิดไหน อัตราการรักษาใน รพ.ต่ำกว่าเดลต้า แสดงว่ารุนแรงน้อยกว่า แต่ไม่สามารถระบุได้ชัดว่า ที่โรคมีความรุนแรงน้อยลง เพราะเชื้อ หรือเพราะคนรับวัคซีน แต่ที่แน่นอนเชื้อไวรัสโอมิครอน ชอบเยื่อบุคอมากกว่าปอด” ศ.นพ ยงกล่าว

 

ศ.นพ.ยงกล่าวว่า ดังนั้น จึงจำเป็นต้องให้วัคซีนเข็มกระตุ้น หรือเข็มที่ 3 โดยไม่ต้องรอให้ครบ 6 เดือน เนื่องจากภูมิคุ้มกันจะสูงใน 3 เดือนแรก และจากนั้นเดือนที่ 5 ภูมิคุ้มกันในเดือนที่ 4-5 ก็จะเริ่มลดลง อีกทั้งเป็นช่วงรอยต่อของเชื้อโอมิครอนที่แพร่เร็ว และหากรอนานไว้ แม้ภูมิคุ้นกันสูง และก็เสี่ยงติดเชื้อ จึงต้องร่นระยะเวลาการรับวัคซีนให้เร็วขึ้นเป็น 3 เดือนขึ้นไป โดยการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 ในกลุ่มวัคซีนเชื้อตายพบว่า ภูมิขึ้น 10 เท่า แต่ถ้าเป็นไวรัสเวกเตอร์ ภูมิขึ้น 100 เท่า และหากเป็น mRNA ภูมิคุ้มกันจะขึ้น 200 เท่า

 

“ทั้งไวรัสเวกเตอร์ และ mRNA ให้ภูมิสูงต่อสู้โอมิครอนได้ แต่ภูมิที่ขึ้นเร็ว ก็ลงเร็ว เป็นธรรมดา โดยการศึกษาพบว่า ใน mRNA ไม่ว่าจะรับครึ่งโดส หรือเต็มโดสภูมิขึ้นและต้องลงเป็นเรื่องปกติร่างกาย ไม่มีความแตกต่าง ขณะนี้ ทางศูนย์ฯ กำลังวิจัย เรื่องวัคซีนเข็มที่ 3 ทุกชนิดต่อเชื้อโอมิครอน” ศ.นพ.ยงกล่าว และว่า จากการศึกษาการฉีดเชื้อตาย เข็มที่ 1 แล้วตามด้วย mRNA สูตรไขว้ ซิโนแวค + ไฟเซอร์ ในผู้ใหญ่อายุ 18 ปี ขึ้นไป 60 คน พบว่า ภูมิคุ้มกันเท่ากับการรับไฟเซอร์ 2 เข็ม ส่วนการฉีดวัคซีนในเด็กที่จะต้องรับ mRNA 2 เข็ม หากรับสูตรไขว้ ด้วยเชื้อตาย ตามด้วย mRNA เชื่อว่าจะลดอาการข้างเคียง กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้

 

ทั้งนี้ ศ.นพ.ยงกล่าวว่า การตัดสินใจรับวัคซีน เป็นดุลพินิจของผู้ปกครอง ไม่สามารถบอกว่าได้อะไรดีกว่ากัน

 

“ส่วนการฉีดวัคซีนในเด็กเล็ก 5-11 ปี แม้มีความปลอดภัย แต่จำนวนโดสที่ให้เด็กต้องแตกต่างกับผู้ใหญ่ ในสัดส่วน 1 ใน 3 เพราะช่วงตัดอายุเด็กกับผู้ใหญ่มีความใกล้เคียงกันที่ 11 ปี กับ 12 ปี มีความใกล้เคียงกัน ส่วน วัคซีนเข็มที่ 4 ที่พบว่าบางคนไปรับการฉีดใกล้เคียงกับเข็มที่ 3 พบว่าให้ภูมิไม่แตกต่างกัน เพราะภูมิที่ขึ้นสูง ก็ลงเร็ว โดยเข็มที่ 4 ควรพิจารณาให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และกลุ่มเสี่ยงก่อน และจนถึงขณะนี้ทั่วโลกก็ยังไม่มีวัคซีนป้องกันเชื้อโอมิครอนโดยเฉพาะ” ศ.นพ ยงกล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง